svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

ค่าเหนื่อยพลทหาร รับจริงเท่าไหร่ เงินหายจริงหรือ!!

15 กุมภาพันธ์ 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เนชั่นทีวี" ตรวจสอบรายได้ของพลทหาร ทั้งที่ประจำการอยู่ในหน่วยปกติ และหน่วยปฏิบัติราชการสนาม ท่ามกลางกระแสข่าวโจมตีเรื่องผู้บังคับบัญชาอมเบี้ยเลี้ยงลูกน้อง ซึ่งหลายๆ ข่าวเป็นเฟคนิวส์ บางข่าวก็เป็นเรื่องเก่านำมาเล่าใหม่

"พลทหาร" ซึ่งเป็นกำลังระดับรากหญ้าของกองทัพ จะได้รับค่าตอบแทนรวมๆ แล้ว 9,904 บาทต่อเดือน แยกเป็นเงินเดือน 1,630 บาท / เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว หรือ เงิน พชค. อีกคนละ 5,394 / และเบี้ยเลี้ยงวันละ 96 บาท หรือเดือนละ 2,880 บาท


รายได้พลทหาร 9,904 บาทต่อเดือนนี้ เท่ากันหมดตลอดอายุการเป็นพลทหาร 2 ปี คือแม้จะผ่านการฝึกเบื้องต้น 10 สัปดาห์ ได้ขยับเป็น "พลทหารปี 1 ชั้น 16" และเมื่ออยู่ครบปีก็ขยับเป็น "พลทหารปี 2 ชั้น 18" ซึ่งจะมีการปรับเงินเดือนขึ้นอีกก็ตาม

 

แต่เมื่อเงินเดือนถูกปรับขึ้น ก็จะไปลดเงิน พชค.ลง ทำให้ค่าตอบแทนของพลทหารทุกชั้นทุกนายเท่ากันที่ 9,904 บาท แต่ตัวเลขนี้เป็นเงินเดือนพลทหารเฉพาะที่ปฏิบัติงานในหน่วยปกติเท่านั้น เพราะถ้าเป็นหน่วยออกสนาม หรือปฏิบัติราชการสนาม เช่น ประจำการตามแนวชายแดน หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีเบี้ยเลี้ยงสนามวันละ 104 บาทต่อคน หรือเดือนละ 3,120 บาท / ค่าเลี้ยงดูวันละ 6 บาทต่อคน หรือเดือนละ 180 บาท (เป็นส่วนเพิ่มของเบี้ยเลี้ยง) / และยังได้เบี้ยเสี่ยงภัยอีกเดือนละ 2,500 บาทด้วย


ทีนี้มาดูรายการที่ถูกหักบ้าง /ถ้าเป็นหน่วยปกติ จะมี "หักฝาก ทบ.ตามขั้นเงินดือน" ตั้งแต่ 20-105 บาทต่อเดือน / และหักประกอบเลี้ยงวันละ 64 บาท รวมหักต่อเดือนราวๆ 1,920 บาท คงเหลือรายรับต่อเดือน 7,984 บาท

ขณะที่หน่วยปฏิบัติราชการสนาม จะมีการหักฝาก ทบ.เช่นกัน 20-105 บาทต่อเดือน และยังมีหักประกอบเลี้ยง ซึ่งแต่ละหน่วยไม่เท่ากัน มีระหว่าง 50 บาทถึง 64 บาทต่อคนต่อวัน


พลทหารจากหน่วยปฏิบัติราชการสนาม รวมเงินเดือน เงินพชค. เบี้ยเลี้ยง และเบี้ยเสี่ยงภัย รวมถึง "เงินเพิ่ม" อีกจำนวนหนึ่ง เมื่อหักค่าประกอบเลี้ยงและอื่นๆ แล้ว จะมีรายรับอยู่ที่ 13,775-13,860 บาทต่อเดือน
สำหรับเงินหักฝาก ทบ. เมื่อปลดประจำการก็จะได้คืนทุกบาททุกสตางค์ บางคนก็ส่งให้พ่อแม่


โฆษกกองทัพภาคที่ 4 พันเอก ปราโมทย์ พรหมอินทร์ บอกว่า เงินหักฝาก ทบ. ทางกองทัพจ่ายคืนทั้งหมดเมื่อปลดประจำการ พลทหารหลายคนรู้จักเก็บเงิน วันที่ปลดมีเงินเป็นแสนๆ ก็มี แต่ไม่ค่อยเป็นข่าว บางคนส่งให้พ่อแม่ ส่งน้องเรียน


ส่วนปัญหาร้องเรียนเรื่องถูกอมเบี้ยเลี้ยง หรือถูกหักหัวคิวจากผู้บังคับบัญชานั้น พันเอกปราโมทย์ บอกว่า ตนปฏิบัติราชการสนามที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเวลา 10 ปี มีเรื่องร้องเรียน 3 ครั้ง แต่เมื่อตรวจสอบ ปรากฏว่าเป็นเรื่องไม่จริงทั้งสิ้น ส่วนมากเป็นการโพสต์ในโซเชียลมีเดียแล้วแชร์กันต่อๆ บางคนก็ทำเพราะอารมณ์ บางคนก็โพสต์เพราะเข้าใจผิด ขณะที่การจ่ายเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงกำลังพล ทางกรมบัญชีกลางร่วมกับกองทัพ ได้จ่ายเงินตรงเข้าบัญชีเงินเดือนของทหารทุกนายแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 61 โดยพลทหารสามารถกดเงินไปใช้จ่ายได้โดยใช้เอทีเอ็ม จึงไม่น่าจะมีการหักหัวคิวได้อีก


จากการตรวจสอบเพิ่มเติมของ "เนชั่นทีวี" พบว่า แม้จะมีการโอนเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงพลทหารเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของกำลังพลโดยตรงแล้ว แต่ก็ยังมีข้อมูลยืนยันจากบางหน่วยว่า "จ่ากองร้อย" ยังเป็นคนเก็บบัตรเอทีเอ็มของพลทหารทุกคนเอาไว้ จึงยังมีการหักเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงอยู่เหมือนเดิม

แต่ประเด็นนี้เมื่อสอบถามไปยังทหารที่ทำหน้าที่ "จ่ากองร้อย" กลับได้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่า สาเหตุที่ต้องเก็บบัตรเอทีเอ็มเอาไว้ ก็เพื่อป้องกันทหารหลบหนี เพราะถ้ากำลังพลมีเงิน มีบัตรเอทีเอ็มติดตัว บางส่วนก็จะหนีเที่ยว บางส่วนก็จะหนีหายไปเลย ทำให้เกิดปัญหาไร้ระเบียบ และมีกำลังพลหนีทหาร
เช่นเดียวกับข่าวหักเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงพลทหาร

 

มีการแฉข้อมูลว่า การหักเงินมีทั้งจำใจ และถูกบังคับ โดยใช้ช่องทางที่ทหารเกณฑ์ได้ผลัดพัก กลับบ้าน (ทำงาน 20 วัน หรือ 30 วัน สลับหยุด 10 วัน) หรือขอลานอกเหนือจากวันหยุด / บางหน่วยจะยึดเบี้ยเลี้ยงพลทหารที่ลาหยุดเอาไว้ / และยังมีช่องทางการ "จำหน่าย" คือไม่ต้องฝึกหนักเหมือนคนอื่น หรือมีแต่ชื่อเป็นทหาร แต่ตัวไม่ได้มาเป็นทหารจริง / กลุ่มนี้ทั้งเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงต้องยกให้ทหารในหน่วยที่รู้เห็นเป็นใจ


เงินพวกนี้มีทั้งหายเข้ากระเป๋าผู้บังคับบัญชาทั้งระดับเล็กและระดับใหญ่ แต่บางหน่วยก็นำไปใช้ตั้งเป็นกองทุนดูแลทหารในยามเจ็บป่วย หรือพักฟื้นจากอาการบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งกองทัพไม่มีงบอุดหนุนในส่วนนี้ ยกเว้นกรณีเข้าโรงพยาบาล

 

นอกจากนั้นยังมีการนำเงินกองทุนมาใช้เป็นทุนรอนในการเดินทางกลับบ้าน สำหรับกำลังพลที่มีภูมิลำเนาอยู่ไกลๆ เข่น ต้องเดินทางจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับเชียงใหม่ อย่างนี้ก็มีเหมือนกัน ฉะนั้นเรื่องร้องเรียนประเภทนี้จึงมี 2 ด้านเสมอ ต้องตรวจสอบอย่างรอบคอบจึงจะสรุปได้ว่าเป็นการอมเงินเพื่อเข้ากระเป๋าใครบางคนจริงหรือไม่

logoline