svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กษ.ทุ่มเงินประกันรายได้เกษตรกรสวนยาง กว่า1.2หมื่นล้าน

25 มกราคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อัดเม็ดเงินประกันรายได้เกษตรกรสวนยาง กว่า1.2หมื่นล้าน ถึงมือเจ้าของสวนยาง -คนกรีดยางแล้ว กว่า1.7ล้านราย เกษตรกรพอใจได้ราคาเป็นธรรม

เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 63 นายขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่าได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ให้กับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ รับทราบในผลการดำเนินงานของแผนงานโครงการโดย ระยะที่ 1 กยท.ได้จ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรชาวสวนยางรอบแรกและรอบที่2 จากทั้งหมดที่จะแบ่งจ่ายเป็น 3 รอบ ได้ตรวจรับรองสิทธิ์พร้อมให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายให้เกษตรกรประมาณ 98% ที่เหลืออยู่ประมาณ 2% อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูล เพื่อเร่งรับรองให้เร็วที่สุด

"เกษตรกรสบายใจเพราะว่าจะได้ราคาที่เป็นธรรม ตรวจสอบได้"นายขจรจักษณ์ กล่าว

รักษาการผู้ว่าฯกยท.กล่าวว่าโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 เพื่อช่วยเหลือและสร้างความเข้มเข็งให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้แน่นอน ด้วยการประกันราคายางแทนการแทรกแซงราคา เพื่อลดการบิดเบือนกลไกตลาดและลดความผันผวนด้านราคาจากพ่อค้าคนกลาง ทั้งนี้ กำหนดราคาประกันรายได้จากการขายยางพารา3 ชนิดได้แก่ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) ราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 100%) ราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม โดยหลักเกณฑ์รับประกันคือ ต้องเป็นเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลปลูกยางกับ กยท. มีต้นยางอายุ 7 ปีขึ้นไปเปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ พร้อมกำหนดปริมาณผลผลิตยางประกันรายได้ที่ 20 กิโลกรัมต่อไร่ต่อเดือน

สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมาจะสิ้นสุดโครงการเดือนมีนาคม 2563 ค่าประกันรายได้จะเข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยางแบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวนยาง 60%และคนกรีดยาง 40%โดยผลการดำเนินงานรอบที่ 1 (เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2562)จ่ายแล้วประมาณ 6,352 ล้านบาท รอบที่ 2 (เดือนธันวาคม 2562 - มกราคม 2563) จ่ายแล้วประมาณ 6,000 ล้านบาท รวม 2 รอบจ่ายไปแล้วกว่า 12,000 ล้านบาท

สรุปล่าสุดเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียน และแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับ กยท. ที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี1,711,252 ราย ซึ่งได้ปรับปรุงข้อมูลการขึ้นทะเบียน และคัดกรองแปลงที่ปลูกแทน โค่น ขายไปแล้ว และสำหรับผู้กรีดยางได้ไปประกอบอาชีพอื่นแทน 1,563,460 ราย แบ่งเป็นบัตรเขียวคือ เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียน และแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับ กยท. ก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2562 (บัตรเขียว) 1,291,113 ราย โดยเป็นเจ้าของสวนยาง 1,107,586 ราย คนกรีด 183,527 ราย และบัตรชมพู คือเกษตรกรแจ้งพื้นที่ปลูกยาง ก่อนวันที่ 12สิงหาคม 2562 จำนวน 272,347 รายส่วนการกำหนดราคากลางอ้างอิงจะกำหนดโดยคณะกรรมการกำหนดราคากลางอ้างอิงซึ่งจะเป็นราคาที่เฉลี่ยที่ซื้อขายกันจริงๆในตลาดกลางยางพาราของ กยท. ทั้ง 6 แห่ง มาเฉลี่ยย้อนหลัง 2 เดือน

logoline