svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

การปรับเปลี่ยนเชิง​ "โครงสร้าง" ช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่น​ ได้มากกว่าการเรียกร้อง​ "จิตสำนึก"

23 มกราคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จริงอยู่การเรียกร้องจิตสำนึกเป็นสิ่งจำเป็น แต่ก็ดูเป็นนามธรรมเกินกว่า ที่ควบคุมได้ แต่หากมีสิ่งที่สามารถจัดการได้ หรือคิดเป็นวงรอบได้ การปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นในระยะยาวได้มากกว่าการเรียกร้องจิตสำนึก

PM 2.5 เป็นมลพิษ อันดับ 1 ของสาเหตุโรคมะเร็ง นั่นหมายความว่าทุกวันนี้เรามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็ง จากคุณภาพอากาศที่เราอาศัยอยู่ ในทุกวันนี้

ถ้าคุณอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร กิจวัตรประจำวันในทุกๆเช้า อาจคือการเปิดแอพพลิเคชัน วัดคุณภาพอากาศในโทรศัพท์ ว่าขึ้นเป็นสีอะไร 4 วันก่อนแทบจะเป็นสีแดง ทั้งเมือง แม้วันสองก่อน อากาศจะดีขึ้น แต่ก็ยังเกินค่ามาตรฐาน ที่กรมควบคุมมลพิษกำหนดไว้ ควรต่ำกว่า 50 ไมโครกรัมกรัม/ลูกบาศก์เมตร

ความจริงแล้วฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ รุนแรงมากกว่าปี 2562 ด้วยซ้ำไปแต่กระแสการตื่นตัวมาช้า อาจเป็นเพราะความคุ้นชินของประชาชน แต่เมื่อความเจ็บป่วยมาเยือน ไม่ว่าจะเป็นการไอระคายคอ เจ็บคอ ซึ่ง "วชิรวิทย์รายวัน" ก็เป็นหนึ่งในผู้ป่วย ที่มีอาการเหล่านี้ คนอื่นๆก็มีอาการไม่ต่างกัน ทำให้เชื่อได่ว่า มีที่มาจากมลพิษในอากาศ

ความเจ็บป่วยที่มาเยือนระยะสั้น ยังพอรักษาได้ตามอาการ แต่ในระยะยาวไม่มีใครรู้ว่าเราจะถึงจุดที่ต้องเป็น "โรคมะเร็ง" หรือไม่ และ จากที่อาจจะมีอายุยืนมากกว่านี้ ก็อาจจะมีชีวิตที่สั้นลงไปด้วยหรือไม่ เรื่องนี้นับเป็นเรื่องคอขาดบาดตายเลยทีเดียว!

หลังจากผู้คนเริ่มตื่นตัว การสวมใส่หน้ากากอนามัย ก็มีพบเห็นมากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนกรุง ค่อนข้างจะเอาใจใส่และตื่นตัวกับเรื่องนี้ สวนทางกับต่างจังหวัด ที่แม้ว่าแหล่งกำเนิดมลพิษต่างกัน แต่ค่าฝุ่นพิษก็มีปริมาณที่สูงพอๆกัน

นกรุงเทพฯ แหล่งกำเนิดมลพิษ PM 2.5 ส่วนใหญ่มาจาก "การขนส่ง" การใช้รถยนต์การจราจร ที่ติดขัดสั่งสมเป็นมลพิษพอกพูนเกิดเป็นฝุ่น คุมเมือง

แต่ในต่างจังหวัด เป็นฝุ่นควันที่เกิดจากการเผาในที่โล่งแจ้งในภาคการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายปีรอยต่อต้นปีเป็นช่วง "เปิดหีบอ้อย" มักมีการเผาอ้อยเพื่อตัดอ้อยไปขาย

ยังไม่นับรวมว่าถ้าเกิดไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือคุณภาพอากาศก็อาจจะยิ่งแย่ลงไปมากกว่านี้

ประเทศไทยกำหนดค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศ PM 2.5 ไว้ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ถ้าอ้างอิงเกณฑ์นี้ทุกวันนี้สภาพอากาศก็ยังคงเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่รัฐไทยกำหนด เพราะปัจจุบันโดยเฉลี่ยแล้วในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คุณภาพอากาศอยู่ที่ประมาณ 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร สูงเกินกว่าเกณฑ์ 1 เท่า นั่นหมายความว่าเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

แต่ถ้าเราไปดูเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกจะพบว่าคุณภาพอากาศ ควรจะมี PM 2.5 ไม่เกิน 35 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมันเป็นเรื่องยากมากสำหรับสภาพอากาศในกรุงเทพฯ ที่ขวักไขว่ไปด้วยรถรา และอุตสาหกรรมที่อยู่รอบเมือง

แต่ถึงกระนั้นเราก็มีความรู้ที่มากเพียงพอแล้ว ในการที่จะจัดการกับปัญหามลพิษเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับว่า เราจะดำเนินมาตรการจริงจังมากน้อยแค่ไหน

วันนี้ (23 ม.ค) มีการรวมตัวประท้วงของกลุ่มภาคประชาสังคมนำโดยกรีนพีช "พอกันทีขออากาศดีขึ้นมา" เป็นคำตะโกนของผู้ประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ยังคงเกินค่ามาตรฐาน

มีประเด็นในวงพูดคุยของกลุ่มผู้ประท้วง ที่ "วชิรวิทย์รายวัน" สนใจนั่นคือ ปัญหา PM 2.5 สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม ได้ชัดเจนเพราะแต่ละคนมีต้นทุนในการรับมือกับ PM 2.5 ที่ต่างกัน

การที่ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันสุขภาพ เช่น หน้ากากอนามัย หรือเครื่องฟอกอากาศได้เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด

มีการเรียกร้อง ให้รัฐบาลมีมาตรการลดปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิด ซึ่งปัจจุบันยังไม่เคยมีกฎหมายกำหนดมาตรฐานการปล่อยฝุ่น PM 2.5 จากแหล่งกำเนิดกำเนิดมลพิษหลัก ทั้งโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม หรือกระทั่งรถยนต์

ส่วนอีกแหล่งกำเนิดมลพิษที่มาจากการเผาในภาคการเกษตร แม้รัฐบาลประกาศให้มีการลดการเผา แต่เห็นมีการลักลอบเผาอยู่จำเป็น จะต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดกับผู้ประกอบการใน "ห่วงโซ่อุปทาน" ที่จะยุติการรับซื้อผลผลิตที่มาจากการเผา

ในระยะยาวมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง "ลดพื้นที่การปลูกพืชเชิงเดี่ยว" ทั้งข้าวโพดและอ้อย เนื่องจากผลตอบแทนต่ำกว่าการผลิตรูปแบบอื่นหลายเท่าตัว ทั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบวงกว้าง โดยผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากระบบการผลิตแบบนี้ ไม่ใช่เกษตรกรรายย่อยจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่!

ที่สุดแล้ววิกฤตฝุ่น PM 2.5 เกิดจากรากเหง้าของปัญหามาจากการพัฒนาที่ผิดที่ผิดทาง

ช่วงบ่ายวันเดียวกัน (23 ม.ค.) มีการประชุม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน ไม่บ่อยครั้งที่จะเห็นการแถลงข่าวด้วยตัวเอง เพื่อให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสนใจ

โดยระบุว่าจากข้อเรียกร้อง ให้แก้ปัญหาฝุ่น จำเป็นต้องใช้ยาแรง ในการออกมาตรการต่างๆ ซึ่งที่จริงแล้วเรื่องการแก้ปัญหาฝุ่นควรจะอยู่ที่ "จิตสำนึก" ของคนมากกว่าที่จะบังคับใช้กฎหมาย

เพราะเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายก็จะเกิดผลกระทบกับอีกกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม "วชิรวิทย์รายวัน" เห็นว่า มากกว่าเรื่องฝุ่นเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ

จริงอยู่การเรียกร้องจิตสำนึกเป็นสิ่งจำเป็น แต่ก็ดูเป็นนามธรรมเกินกว่า ที่ควบคุมได้

หากมีสิ่งที่สามารถจัดการได้ หรือคิดเป็นวงรอบได้ "การปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง" น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นในระยะยาวได้มากกว่าการเรียกร้องจิตสำนึก

ตัวอย่างเช่น การขนส่งสาธารณะ ที่ต้องการให้คนลดใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ปัจจุบันก็ยังไม่มีประสิทธิภาพ และคุณภาพที่ดีพอที่จะรองรับ การเดินทางยังคงมีค่าใช้จ่ายที่สูง และไม่เชื่อมต่อสะดวกทั่วถึง

หรือแม้กระทั่งการขอให้งดเผาในที่โล่ง ขณะที่รัฐบาลยังส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชเหล่านั้น มันดูเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันกับการแก้ไขปัญหาระยะยาว

ดังนั้นแล้วการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ไม่ได้อยู่ที่ "จิตสำนึก" แต่อยู่ที่การบริหารจัดการแบบครบวงจร ครอบคลุมในทุกมิติมากกว่า.

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #Vajiravit #VajiravitDaily #Nation #NationTV22

logoline