svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

จี้รัฐกำหนดค่ามาตรฐาน​PM2.5​ ไม่เกิน​ 35​ มคก/ลบ.ม

23 มกราคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แม้วันนี้คุณภาพอากาศในกรุงเทพฯจะดีขึ้นแต่ก็ยังสูงเกินค่ามาตรฐานที่รัฐบาลตั้งไว้ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยปัญหาฝุ่น PM2.5 กำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้างที่ ขณะที่ภาคประชาชน ออกมาเดินประท้วงรัฐบาล ที่ไม่มีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาฝุ่นที่ดีพอ

เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล มีกลุ่มภาคประชาชนที่นำโดยกรีนพีซเดินประท้วงรัฐบาล ตะโกน "พอกันทีขออากาศดีขึ้นมา" เรียกร้องให้แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ยังคงเกินค่ามาตรฐาน แม้วันนี้จะลดลง แต่ก็ยังเกินกว่าค่าที่กรมควบคุมมลพิษกำหนดที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

จี้รัฐกำหนดค่ามาตรฐาน​PM2.5​ ไม่เกิน​ 35​ มคก/ลบ.ม



นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า แม้ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา ยอมรับว่าสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐานและอยู่ในปริมาณที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ จึงมีมติให้ยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ

แต่มาตรการดังกล่าวขาดเป้าหมายที่ชัดเจนไม่มีฐานข้อมูลที่มาจากการศึกษาวิจัยต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่นการตรวจสอบและสั่งปิดโรงงานที่ปล่อยมลพิษทางอากาศจนกว่าจะมีการแก้ไขนั้น ไม่มีฐานข้อมูลรองรับว่าจะตรวจสอบโรงงานประเภทใดจะลดฝุ่น PM 2.5 เป็นปริมาณเท่าใด

นอกจากนี้ปัญหา PM 2.5 ยังสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม ได้ชัดเจนเพราะแต่ละคนมีต้นทุนในการรับมือกับ PM 2.5 ที่ต่างกัน การที่ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันสุขภาพ เช่น หน้ากากหรือเครื่องฟอกอากาศได้เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐต้องสร้างคลีนรูม กระจายอยู่ในพื้นที่สาธารณะเพื่อบริการประชาชนในช่วงภาวะวิกฤต

ิอีกประเด็นสำคัญ คือมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลปรับมาตรฐาน PM 2.5 ในบรรยากาศของประเทศไทยให้ใกล้เคียง WHO ที่มีค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงคือ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรจากเดิมที่ตั้งไว้ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รัฐบาลต้องมีมาตรการลดปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิด ซึ่งปัจจุบันยังไม่เคยมีกฎหมายกำหนดมาตรฐานการปล่อยฝุ่น PM 2.5 จากแหล่งกำเนิดกำเนิดมลพิษหลัก ทั้งโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม หรือกระทั่งรถยนต์

จี้รัฐกำหนดค่ามาตรฐาน​PM2.5​ ไม่เกิน​ 35​ มคก/ลบ.ม



ส่วนอีกแหล่งกำเนิดมลพิษที่มาจากการเผาในภาคการเกษตร แม้รัฐบาลประกาศให้มีการลดการเผา แต่เห็นมีการลักลอบเผาอยู่จำเป็น จะต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดกับผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทาน ที่จะยุติการรับซื้อผลผลิตที่มาจากการเผา ในระยะยาวมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลดพื้นที่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวทั้งข้าวโพดและอ้อย เนื่องจากผลตอบแทนต่ำกว่าการผลิตรูปแบบอื่นหลายเท่าตัว ทั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบวงกว้าง โดยผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากระบบการผลิตแบบนี้ ไม่ใช่เกษตรกรรายย่อยจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่

โดยมีข้อเสนอในระยะยาวคือการกำหนดเครื่องมือกฎหมายเช่น 1) กฎหมายกำหนดค่ามาตรฐานการปลดปล่อย PM 2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษหลักทั้งโรงไฟฟ้าโรงงานอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งรถยนต์ 2) การจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ 3) กฎหมายว่าด้วยการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือว่า eia ที่คำนึงถึงความสามารถในการรองรับมลพิษในพื้นที่และผลกระทบข้ามพรมแดน 4) กฎหมายกำหนดระยะแนวกันชนระหว่างแหล่งกำเนิดมลพิษกับแหล่งชุมชนและ 5) การดึงหลักเศรษฐศาสตร์เข้ามาใช้เพื่อจัดการปัญหามลพิษเช่นมาตรการภาษีสิ่งแวดล้อมค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษ การประกันความเสี่ยงหรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเสริมกับมาตรการเชิงบังคับควบคุมที่ต้องใช้งบประมาณมากแต่ไม่เพียงพอ ในการจูงใจให้ผู้ก่อมลพิษเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้

"ความสำเร็จของประเทศสหรัฐอเมริกาในการควบคุมปริมาณ PM 2.5 จนมีค่าเฉลี่ยทั้งประเทศต่อปีต่ำกว่า 10 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตรและการปล่อยมลพิษทางอากาศ 6 ชนิดรวมกันลดลงร้อยละ 74 ระหว่างปีพ.ศ. 2513 ถึง 2561 ในขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี เพิ่มขึ้นนั้นมาจากการออกแบบระบบกฎหมายสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน และพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆต่อยอดจากฐานทางกฎหมายที่เข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากประเทศไทยเริ่มต้นถอดรื้ออุปสรรคเชิงโครงสร้าง การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในทิศทางที่ถูกต้องก็จะสามารถฝ่าวิกฤติมลพิษทางอากาศนี้ได้ เพื่อสุขภาวะที่ดีและการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรมในสังคมไทย" นายธารา กล่าว

จี้รัฐกำหนดค่ามาตรฐาน​PM2.5​ ไม่เกิน​ 35​ มคก/ลบ.ม



ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหนังสือร้องเรียนและ ข้อเสนอของกลุ่มภาคประชาชนกลุ่มนี้ ถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาที่ มีผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นตัวแทนจากทางรัฐบาล มารับหนังสือ และข้อเสนอต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดกฎหมายในการควบคุมการปล่อยมลพิษ

ขณะที่ช่วงบ่ายวันนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมขึ้นพลเอกประวิตรวงษ์สุวรรณรองนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานการประชุมมีการเรียกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเข้าไปร่วมประชุมด้วยวาระสำคัญคือการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กจึงต้องจับตาดูว่ารัฐบาลจะมีท่าทีอย่างไรหลังจากที่ภาคประชาสังคมออกมากดดันหนักมากขึ้น

จี้รัฐกำหนดค่ามาตรฐาน​PM2.5​ ไม่เกิน​ 35​ มคก/ลบ.ม

logoline