svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

(ราย​งานพิเศษ)​ ปริศนาโรคปากเท้าเปื้อยโคนมระบาดรุนแรงรอบ 20 ปี 

19 มกราคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สถานการณ์โรคปากเท้าเปื่อยในวัวนม ที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรีค่อนข้างน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง จำนวนวัวนมที่นั่นยังคงมีอัตราการตายอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันนี้เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ ชาวบ้านตั้งคำถามว่าวัคซีนของกรมปศุสัตว์มีคุณภาพมาตรฐานเพียงพอหรือไม่ ไปติดตามจากรายงานคุณวชิรวิทย์ เลิศบำรุงชัย



น้ำลายยืด เจ็บปาก กินอะไรไม่ได้ บางตัวกีบเท้าเน่าเปื่อยจนเกือบหลุด ลุกขึ้นยืนไม่ได้ต้องนอนอยู่อย่างนั้น นี่เป็นอาการของวัวนมนับพันตัว ในพื้นที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ที่ต้องเผชิญกับโรคระบาดครั้งรุนแรงที่สุด ในรอบ 20 ปี

กุศล ศรีน้อยขาว เป็นเจ้าของฟาร์มแห่งนี้ ที่เลี้ยงวัวจำนวน 130 ตัว ทยอยตายตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม แล้ว 20 ตัว ส่วนที่เหลืออยู่ ก็ไม่ใช่ว่าอาการดีนัก

วันนี้เจ้าหน้าที่จากกรมปศุสัตว์เข้ามา พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ส่วนวัวที่ป่วยไปแล้วก็คงจะต้องรักษาตามอาการในสัตวแพทยบอกว่ามีโอกาสรอด 50 ต่อ 50

การสูญเสียวัวจำนวนหลายสิบตัว หมายความว่ากำลังการผลิตน้ำนมดิบของเกษตรกรก็จะลดลงตามไปด้วย เท่ากับว่ามีรายจ่ายมากขึ้น แต่รายรับลดลง

เมื่อเกิดโรคเกษตรกรก็ต้องทำตามมาตรฐานความปลอดภัยไม่สามารถส่งน้ำนมดิบไปขายให้กับสหกรณ์โคนมไทยมิลค์ ในพื้นที่ได้

โรคระบาดที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง ยังคงเป็นปริศนาว่าเกิดจากสาเหตุใด

ผู้หญิงคนนี้ คือ รักษ์ ด้วงสำรวย เกษตรกรอีกคนที่เลี้ยงวัวนมจำนวน 100 ตัว ทยอยตายไปแล้ว 4 ตัวตั้งแต่ปลายสัปดาห์ผ่านมา

แม่วัวตัวนี้ชื่อ สายลม กำลังท้องแก่ ทั้งๆที่ยังเป็นโรคปากเท้าเปื่อย มันน่าสงสารมากกว่าทุกตัว ป้ารักบอกว่า บางคืนเธอนอนร้องไห้ เพราะสงสาร และต้องแบกรับภาระเพื่อรักษา

เกษตรกรโคนมฟาร์มนี้ บอกว่า ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อยเป็นประจำทุกปี ปีละ 4 ครั้งไม่เคยขาด ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนก็เพิ่งฉีดไป แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงโรคระบาดได้ เธอจึงตั้งคำถามว่า วัวดื้อวัคซีนหรือไม่ หรือวัคซีนไม่ได้คุณภาพ

รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ที่ลงพื้นที่มาในวันนี้เพื่อประกาศเป็นเขตพื้นที่โรคระบาด บอกว่าสาเหตุน่าจะมาจากวัวบางกลุ่มตกหล่นไม่ได้ฉีดวัคซีน ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีการเลี้ยงโคนมอย่างหนาแน่น มีการขนส่งสัตว์ซากสัตว์ มูลสัตว์ และน้ำนม ไปมาทำให้โรคแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ยากต่อการควบคุม อีกทั้งมาตรฐานฟาร์มของชาวบ้าน อาจไม่ดีนัก

อาชีพโคนม เป็นอาชีพพระราชทาน ที่หากไม่สามารถคุมโรคระบาดได้ ก็อาจมาถึงจุดจบ หน่วยงานภาครัฐต้องเอาใจใส่อย่างจริงจัง ควบคุมการระบาด และเยี่ยวยาเกษตรกร ไม่เช่นนั้นแล้ว การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ ก็จะนับได้ว่าบกพร่อง อย่างมาก ที่ไม่สามารถรักษาอาชีพพระราชทาน อันทรงคุณค่านี้เอาไว้ได้

logoline