svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

(รายงานพิเศษ)​ จัดระเบียบเขาแผงม้า​ คุมนักท่องเที่ยว​ ฟันรีสอร์ท​รุกป่า​

19 มกราคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ที่มีพระผู้ใหญ่ให้ลูกศิษย์ขับรถฝ่าเข้าไปในฝูงกระทิงเขาแผงม้า ซึ่งมีสิทธิ์เหนือนักท่องเที่ยวคนอื่น กรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเร่งจัดระเบียบเขาแผงม้าในทุกมิติ ทั้งเรื่องของนักท่องเที่ยว และการจัดการที่ดิน ไปติดตามจากรายงานคุณวชิรวิทย์ เลิศบำรุงชัย



เย็นของทุกวัน ฝูงกระทิงจำนวนเกือบร้อยตัวจะออกมาหากินบริเวณทุ่งหญ้าในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา

เมื่อ 2 ปีก่อนเขาแผงม้ายังไม่ได้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวโด่งดังเช่นทุกวันนี้ หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เจ้าอาวาสวัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม ถือกุญแจรั้วของเขตห้ามล่าพันธุ์สัตว์ป่าในฐานะผู้อุปถัมภ์ รั้วไฟฟ้า อาคาร ห้องน้ำต่างๆ มีขึ้นจากการอนุเคราะห์ของหลวงพ่อ

นักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น รถของหลวงพ่อกับลูกศิษย์วิ่งเข้าไปใน เขตห้ามล่าพันธุ์สัตว์ป่าเขาแผงม้าท่ามกลางฝูงกระทิง จึงถูกจับตาและเกิดการวิพากษ์วิจารณ์

กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เร่งจัดระเบียบเรื่องนี้ด้วยการจัดโซนนักท่องเที่ยวและทำข้อตกลงกับหลวงพ่อกัณหา ซึ่งหากฝ่าฝืนขับรถเข้าไปชมกระทิง ไม่เป็นไปตามระเบียบ จะถูกดำเนินคดีทันที

แม้จะมีพื้นที่เพียง 5,000 ไร่แต่ก็เป็นผืนป่าที่สามารถพบเห็นกระทิงได้มากที่สุดรองจากกุยบุรี และเขาใหญ่ แต่ป่าแห่งนี้กำลังประสบกับปัญหาประชากรกระทิงล้นเกิน และมีพื้นที่ป่าไม่เพียงพอ

ปัญหากระทิงล้นป่า ทำให้ออกมาหากินนอกเขตห้ามล่าฯ เมื่อประมาณ 2 ปีแล้วมีกรณีชาวบ้าน ยิงกระทิงป่าที่ออกมาหากินในไร่สวนจน เสียชีวิต

การแก้ไขปัญหาระยะสั้น การสร้างรั้วไฟฟ้า นับเป็นแนวทางที่ได้ผล แต่หากประชากรของกระทิงยังคงเพิ่มขึ้น เพราะไม่มีสัตว์ผู้ล่า ก็อาจจำเป็นต้องต้อนกระทิง ไปยังป่าเขาภูหลวง และเขาใหญ่ ซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 8 กิโลเมตร

ในขณะที่เขตห้ามล่าฯ เขาแผงม้ากำลังจัดระเบียบนักท่องเที่ยว ในพื้นที่รอยต่อติดกันคือป่าวสงวน กรมป่าไม้กำลังจัดการกับปัญหารีสอร์ทรุกป่าเช่นกัน

บ้านพักสุดหรู และรีสอร์ทหลายหลังที่ตั้งอยู่บนเนินเขาที่เห็นอยู่นี้ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวน แต่จนถึงปัจจุบัน มันก็ยังคงตั้งตระหง่านอยู่อย่างนั้น ทั้งๆที่มีคดีความเกิดขึ้น

กรมป่าไม้ในฐานะเจ้าของพื้นที่ยอมรับว่า กระบวนการในการจัดการกับปัญหารีสอร์ทรุกป่าสงวน เป็นไปด้วยความล่าช้า แม้ดำเนินคดีมาตั้งแต่ปี 2554 ทั้งหมด 44 คดี แต่มีเพียง 2 คดีที่ตัดสินและรื้อถอนแล้วเสร็จ เนื่องจาก คู่ความ ไม่ใช้ชาวบ้านธรรมดา ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายในการดึงเรื่องในชั้นศาล ต่อเวลาเรื่อยมาจนถึงวันนี้ ยังไม่สามารถตัดสินคดีได้

ส่วนพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ซึ่งไม่ใช่พื้นที่ป่าต้นน้ำชั้น 1 และ 2 ที่มีอยู่จำนวน 4,000 ไร่ กรมป่าไม้กำลังเร่ง จัดสรรที่ดินตามระเบียบของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือคทช. จำนวน 400 แปลง ครอบคลุมชาวบ้าน เกษตรกร ผู้ยากไร้ เกือบ 400 ครอบครัวที่ทำกินอยู่เดิม ให้อาศัยทำกิน อย่างถูกกฎหมาย ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ และไม่มีการบุกรุกเพิ่ม

logoline