svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"หมอดื้อ" เตือนภัยสุขภาพใน2563!

18 มกราคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ "หมอดื้อ" ได้โพสต์ข้อมูลเตือนภัยสุขภาพ ในปี2563 ถึง 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 "โรคติดต่ออันตราย" กลุ่มที่ 2 "โรคติดต่อที่เชื้อมีอยู่แล้วในพื้นที่"และกลุ่มที่ 3 "เชื้อไวรัส 600 ชนิด" ที่ไม่ทราบชื่อ

โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ "หมอดื้อ" ได้โพสต์ระบุข้อมูลไว้ดังต่อไปนี้...

"หมอดื้อ" เตือนภัยสุขภาพใน2563!


ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ "หมอดื้อ" โพสต์ข้อมูลเตือนภัยสุขภาพในประเด็นน่าสนใจอีกว่า ปี 2563 ประเทศไทยกับความจำเป็นในการเฝ้าระวังโรคใน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 "โรคติดต่ออันตราย"
หากเจอต้องมีการควบคุม ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2559 ประกอบด้วย 1.กาฬโรค 2.ไข้ทรพิษ 3.ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก 4.ไข้เวสต์ไนล์ (West Nile Fever) 5.ไข้เหลือง 6.โรคไข้ลาสซา 7.โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ คล้ายเป็นหวัด มีไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ สมองอักเสบ 8.โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก 9.โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา 10.โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา 11.โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส และ 12.โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์สกลุ่มที่ 2 "โรคติดต่อที่เชื้อมีอยู่แล้วในพื้นที่" ประจำถิ่นอยู่แล้ว ณ ขณะนี้ ซึ่งยังต้องจับตามองอยู่ เช่น เชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ ถ้าพบได้มากขึ้น รุนแรงขึ้น ผิดฤดูกาล ลักษณะอาการผิดแผกจากเดิม และรวมไปถึงเชื้อโรคทางเดินอาหาร เชื้อโรคระบบทางเดินหายใจ อื่นๆนอกจากไข้หวัดใหญ่
นอกจากนี้ เชื้อโรคสมองอักเสบ เช่น ถ้าพบมีการผันแปรมากขึ้น แทนที่จะพบบริเวณสมองใหญ่กลับไปเจอที่แกนสมอง หรือมีอาการอื่นๆ
ร่วมด้วยเพิ่มจากเดิม เช่น ท้องร่วง ปอดบวม เหล่านี้แสดงว่าตัวเชื้ออาจมีวิวัฒนาการในทางดุร้ายขึ้น หรือผ่านเข้าไปในตัวเพาะโรค รังโรคชนิดใหม่ ทำให้เชื้อมีการพัฒนา
และกลุ่มที่ 3 ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ สภากาชาดไทย ได้เก็บข้อมูลไวรัสในค้างคาวพบว่า มี "เชื้อไวรัส 600 ชนิด" ที่ไม่ทราบชื่อ
ซึ่งอาจมีความเสี่ยงจะไปติดต่อสู่ "สัตว์" อื่น และอาจนำไปสู่การติดต่อจาก "สัตว์สู่คน" ได้ และในที่สุด..."คนสู่คน" เนื่องจากค้างคาว เป็นสัตว์นำโรคชนิดแรกๆ เหมือนอย่างไข้สมองอักเสบ นิปาห์ เฮนดรา
ดังนั้น เชื้อไวรัสทั้ง 600 ชนิด จึงเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ฝากทิ้งท้ายว่า หากเราพบผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสแปลกๆ หรือตรวจไม่พบว่า มีเชื้อที่ก่อโรคในกลุ่มที่ 1 และ 2 เราต้องสงสัยแล้วว่า...อาจเป็นกลุ่มที่ 3
ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นต้องรีบ "ควบคุม" ก่อนจะ "ระบาด"
เช่น โรคปอดบวมในประเทศจีนอู่ฮั่น ซึ่งเกิดจากไวรัสที่คล้ายซาร์ส ในตระกูลโคโรน่าไวรัส และสืบสาวราวเรื่องต้นตอจากค้างคาว แต่ไม่ได้หมายความว่า...การระบาดครั้งนี้มาจากค้างคาวโดยตรง แต่ผ่านมาทางกระบวนการผันแปรทางตัวนำอื่นๆ และมายังคน
ทั้งนี้..."ความรุนแรงของโรค" จะมีการพัฒนาขึ้นอีกหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด เนื่องจากไวรัสตัวนี้แท้ที่จริงแล้วกำเนิดมานานเป็น 10 ปีแล้วแต่ไม่ได้มีความรุนแรงให้เห็นโรคในคน
โรคติดเชื้อ "อุบัติใหม่"..."อุบัติซ้ำ" เป็นผลจากการที่เกิดมีการคุกคามด้วยเชื้อโรคใหม่ที่ไม่เคยเห็นหน้าเห็นตามาก่อน หรือแม้แต่เชื้อเก่าที่หายสาบสูญไปแล้วก็กลับโผล่หน้าออกมาใหม่ โดยที่มีการทะลักล้นของสัตว์ ซึ่งสามารถอมโรคอยู่ในตัวโดยตัวเองไม่เจ็บป่วยเกิดเพิ่มปริมาณมากขึ้น
และ...ขยายขอบเขตรุกล้ำเข้าไปในเขตอาณาบริเวณใหม่ และ...ด้วยความที่มีตัวช่วย เช่น ยุง แมลง เห็บ ไร ริ้น จะนำพาเชื้อโรคจากตัวอมโรคเข้าไปในสัตว์อีกกลุ่ม เพื่อเป็นที่เพาะพันธุ์เชื้อโรคเหล่านี้ให้งอกงามในตัว จากนั้น..."ตัวช่วย" ก็จะมากัดเก็บเชื้อที่เต็มปรี่ในตัวเพาะพันธุ์ กลับมาปล่อยสู่ "สัตว์" หรือ "คน" อีกต่อ
"โรคที่เกิดในคนนี้แท้จริงมีต้นกำเนิดมาจากสัตว์เกือบทั้งนั้น ย้ำว่า...ต้องมีการเฝ้าระวังติดตามเชื้อที่อยู่ในสัตว์จนมาถึงคนอย่างเป็นระบบอย่างต่อเนื่อง ดีกว่าวัวหายแล้วมาเร่งล้อมคอก...ตื่นตัวดีกว่าตื่นตูม....อย่าตื่นตัวแค่ชั่วขณะเหมือนไฟไหม้ฟาง"
โพสต์ต้นฉบับ

logoline