svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ยันเจาะบ่อบาดาลราคาไม่แพง

17 มกราคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล โต้ งบ 3 พันล้าน ไม่ได้ขุดแค่ 500 บ่อ แต่ใช้ถึง 2,041 โครงการของ 6 หน่วยงาน โดยมีการสำรวจพื้นที่ที่มีศักยภาพและคุณภาพที่เหมาะสำหรับการอุปโภคบริโภคแก่พี่น้องประชาชน พร้อมรับฟังความคิดเห็น

วันที่ 17 มกราคม นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล(ทบ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)กล่าวว่า ตามที่มีปรากฏเป็นข่าวการขอใช้งบกลางปี 2563 บ่อบาดาลมีราคาแพงนั้นกรมทรัพยากรน้ำบาดาลขอชี้แจงว่า ในการอนุมัติงบประมาณจำนวน 3,079 ล้านบาทเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนด้านน้ำอุปโภคบริโภคเป็นการจัดสรรให้กับหน่วยงานรวมทั้งสิ้น 6 หน่วยงาน ได้แก่ 

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ยันเจาะบ่อบาดาลราคาไม่แพง


1. การประปานครหลวง 
2.การประปาส่วนภูมิภาค 
3. หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา 
4. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 
5.กองทัพบก 
6. กรมทรัพยากรน้ำบาดาล 
รวมงบประมาณในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนด้านน้ำอุปโภคบริโภคครั้งนี้ 3,079 ล้านบาท มีจำนวนโครงการที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน 2,041 โครงการสำหรับการดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาลที่ดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ประกอบด้วย 3 หน่วยงาน คือ 
1. หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา 
2. กองทัพบก 
3. กรมทรัพยากรน้ำบาดาล 
โดยมีจำนวนบ่อรวมกันทั้งสิ้น 1,103 บ่อ งบประมาณที่ได้รับ 1,301 ล้านบาทโดยเป็นการขุดบ่อบาดาลที่มีความลึกมากกว่า 100 เมตร และในบางบ่อมีความลึกมากกว่า350 เมตร แต่ละบ่อผลิตน้ำได้เดือนละ 53,760 ลูกบาศก์เมตร โดยมีขนาดบ่อบาดาลตั้งแต่ขนาด 6 นิ้ว 8 นิ้ว และ 10 นิ้ว
"สำหรับงบประมาณ 3,079 ล้านบาทนั้นครอบคลุมโครงการสำหรับการแก้ปัญหาภัยแล้ง จำนวน 2,041 โครงการซึ่งในส่วนนี้มีโครงการขุดบ่อบาดาลจำนวน 1,103 บ่อ โดย 3 บ่อ จะอยู่ในสถานพยาบาลและอีก 1,100 บ่อ จะอยู่เขตนอกพื้นที่การประปาส่วนภูมิภาคโดยจะแยกเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยสูงใน 1,270 หมู่บ้าน จะมีการขุดเจาะ 577 บ่อพื้นที่เสี่ยงปานกลาง 526 บ่อ รวมเป็น 1,103 บ่อทั้งนี้ยังมีการหาแหล่งน้ำผิวดินอีก 230 โครงการ โครงการซ่อมแซมประปา 650กว่าโครงการ รวมเป็น 2,041 โครงการดังนั้นงบประมาณที่ใช้ขุดเจาะบ่อบาดาลจึงไม่ใช่ราคาบ่อละ 6ล้านบาทตามที่มีข่าว"นายศักดิ์ดา กล่าว

นายศักดิ์ดา กล่าวว่า ในการดำเนินการเจาะบ่อบาดาลกรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีขั้นตอน ดำเนินงาน ดังนี้ คือ
1. สำรวจพื้นที่ที่มีศักยภาพและคุณภาพที่เหมาะสำหรับการอุปโภคบริโภคแก่พี่น้องประชาชนพร้อมรับฟังความคิดเห็น
2.สำรวจธรณีฟิสิกส์เพื่อกำหนดจุดเจาะบ่อน้ำบาดาลแต่ละแห่งไม่น้อยกว่า10 จุดเพื่อให้ได้ปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของพี่น้องประชาชน
3. เจาะและพัฒนาบ่อน้ำบาดาลด้วยท่อ ขนาด 6 นิ้วและความลึกตามข้อมูลที่มีการสำรวจ (ความลึก 100 เมตรขึ้นไป)
4. งานติดตั้งท่อกรุท่อกรอง
5. งานพัฒนาบ่อโดยการใส่กรวดกรุ ผนึกผนังบ่อด้วยดินเหนียวผนึกข้างบ่อด้วยซีเมนต์ พร้อมทั้งก่อสร้างฐานบ่อขนาด 2x2 เมตร
6. งานหยั่งธรณีฟิสิกส์ในหลุมเจาะ
7. งานสูบทดสอบปริมาณน้ำบาดาล
และ 8.ระบบสูบน้ำบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมอุปกรณ์ ประกอบด้วยเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าแบบจุ่มใต้น้ำชนิดสองระบบ (AC/DC) ระบบโซล่าเซลล์ขนาดกำลังไม่น้อยกว่า 3,200 วัตต์เครื่อง Generator ระบบกรองสนิมเหล็ก และจุดจ่ายน้ำถาวร

อธิบดี ทบ.กล่าวว่า สำหรับ การดำเนินการเจาะบ่อบาดาลตาม พ.ร.บ.น้ำบาดาลพ.ศ.2520 หน่วยงานกระทรวง ทบวง กรมหรือองค์กรของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหาน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคหรือเพื่อเกษตรกรรมในส่วนที่เกี่ยวกับการเจาะน้ำบาดาลและการใช้น้ำบาดาลได้รับการยกเว้นการขออนุญาตตามมาตรา 4 สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องดำเนินการขอใบอนุญาตเจาะบ่อบาดาล ตามมาตรา 16ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบกิจการน้ำบาดาลในเขตน้ำบาดาลใดๆไม่ว่าจะเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิ์ครอบครองที่ดินในเขตน้ำบาดาลนั้นหรือไม่เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ดังนั้นในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องใช้ช่างเจาะที่มีหนังสือรับรองช่างเจาะจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลการขอใบอนุญาต ส่วนกลาง สำนักควบคุมกิจการน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล 26/83ซอยงามวงศ์วาน 54 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานครจังหวัดขอนแก่น เชียงใหม่ นครราชสีมาติดต่อ อบต. หรือเทศบาลที่ต้องการขอเจาะขอใช้น้ำบาดาล พื้นที่อื่นๆ ติดต่อสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด

logoline