svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

"ปูติน" จ่อแก้กฎหมาย ปูทางเป็นผู้นำรัสเซียตลอดชีพ

17 มกราคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ไปติดตามสถานการณ์ทางการเมืองของรัสเซีย หลังประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ที่ครองอำนาจทั้งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประธานาธิบดี 4 สมัย รวมแล้วนานถึง 20ปี แต่ล่าสุดออกมาประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อาจทำให้เขาเป็นผู้นำรัสเซียไปตลอดชีวิต

เกิดแผ่นดินไหวทางการเมืองครั้งรุนแรงในรัสเซียเมื่อวานนี้ หลังจากประธานาธิบดี
วลาดิมีร์ ปูติน ประกาศแผนแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปโครงสร้างอำนาจบริหาร
ครั้งใหญ่ ซึ่งถูกมองว่าเป็นการปูทางเพื่อรักษาอำนาจของตัวเองด้วยบทบาทใหม่
หลังพ้นวาระในปี 2567 และจะทำให้เขาเป็นผู้นำรัสเซียตลอดกาล

ประธานาธิบดีปูตินสร้างความประหลาดใจนี้ระหว่างแถลงนโยบายประจำปีต่อ
เจ้าหน้าที่ระดับสูงและสมาชิกรัฐสภาเมื่อวาน โดยเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจประธานาธิบดีและแบ่งสรรอำนาจบางอย่างให้กับรัฐสภาและนายกรัฐมนตรี โดยสภาผู้แทนราษฎรจะมีอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันเป็นอำนาจของประธานาธิบดี แต่ประธานาธิบดีจะยังมีอำนาจปลดนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี และมีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการทหารและความมั่นคง นอกจากนี้จะจัดให้มีการลงประชามติเพื่อรับรองการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ปูตินยังเสนอให้กำหนดอำนาจชัดเจนมากขึ้นของสภาที่ปรึกษาไว้ใน
รัฐธรรมนูญ ซึ่งปัจจุบันสภาชุดนี้ประกอบด้วยผู้นำภูมิภาคต่างๆและประธานาธิบดีเป็นประธาน และเสนอแก้กฎหมายเพื่อสกัดกั้นชาวต่างชาติสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยกำหนดว่าผู้สมัครที่ถือสัญชาติอื่นต้องใช้ชีวิตอยู่ในรัสเซียอย่างน้อย 25 ปีจากเดิมจำกัดไว้เพียง 10 ปี
เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังการแถลงของปูติน นายกรัฐมนตรี ดมิทรี เมดเวเดฟ และคณะรัฐมนตรีได้ลาออกทั้งคณะเพื่อเปิดทางสำหรับการปฏิรูปครั้งนี้ และปูตินแต่งตั้ง
นายมิคาอิล มิชูสติน ผู้อำนวยการสำนักงานสรรพากร วัย 53 ปี เป็นนายกรัฐมนตรี
คนใหม่ ส่วนเมดเวเดฟ ได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
ที่มีปูตินเป็นประธาน
การเปลี่ยนแปลงแบบฟ้าผ่าครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นแผนของปูติน ในวัย 67 ปีเพื่อปูทาง
สู่การรักษาอำนาจบริหารประเทศต่อไปเมื่อพ้นตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2567
หลังจากกุมบังเหียนปกครองประเทศมานาน 20 ปีทั้งในตำแหน่งประธานาธิบดีและ
นายกรัฐมนตรี ในขณะที่เขายังคงมีคะแนนนิยมในระดับสูง แม้ว่าลดลงในช่วงสองปีนี้
เราไปย้อนดูเส้นทางอำนาจของเขากัน โดยเมื่อวันที่ 9 ส.ค.2542 เขาได้รับแต่งตั้งจากประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซินให้เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี และในสิ้นเดือนธ.ค.
ปีเดียวกัน เยลต์ซินที่ล้มป่วย ก็แต่งตั้งเขาเป็นรักษาการประธานาธิบดี หลังจากนั้น
ปูตินชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2543 และปี 2547 และเนื่องจากรัฐธรรมนูญห้ามดำรงตำแหน่ง 2 สมัยติดต่อกันเขาจึงสนับสนุนให้นายกรัฐมนตรีดมิทรี เมดเวเดฟ เป็นประธานาธิบดี และตัวเองก็ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาแก้ไข
รัฐธรรมนูญขยายวาระดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจาก 4 ปีเป็น 6 ปี ปูตินกลับคืนสู่ทำเนียบเครมลินอีกครั้งด้วยการชนะเลือกตั้งในปี 2555 และได้รับเลือกตั้งอีกในปี 2561 ซึ่งเป็นสมัยที่ 4 แบบไม่ติดต่อกัน
หลายฝ่ายจับตามานานแล้วว่า ปูตินจะทำอะไรต่อไปเมื่อเขาต้องพ้นวาระในปี 2567
บางคนคาดว่า เขาอาจจะหวนกลับไปนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่เนื่องจาก
ปูตินเสนอพิ่มบทบาทของสภาที่ปรึกษา ทำให้นักวิเคราะห์บางคน มองว่า มีความเป็น
ไปได้มากกว่าที่ปูตินอาจเลือกเป็นประธานสภาที่ปรึกษาที่มีอำนาจมากขึ้น เพราะนั่้นหมายความว่า เขาจะเป็นผู้สั่งการตัวจริง และทุกอย่างจะอยู่ภายใต้การควบคุมของเขา หรือ เขาอาจจะเลือกดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่จะมีอำนาจเพิ่มขึ้่นเช่นกัน
ขณะที่ฝ่ายค้าน มองว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ปูตินมีเป้าหมายเป็นผู้นำ
หนึ่งเดียวตลอดชีพของรัสเซีย และเปรียบเทียบการกระทำของเขาว่าเป็น
"การรัฐประหารทางรัฐธรรมนูญที่ชอบด้วยกฎหมาย"
และด้วยแผนการยกเครื่องอำนาจบริหารครั้งนี้ ปูตินกำลังส่งสัญญาณถึงประชาคมโลกด้วยว่าเขาจะยังกุมอำนาจในรัสเซียต่อไป และย่อมหมายถึงว่า รัสเซียจะมีบทบาท
ในเวทีระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วย อย่างที่โลกได้ประจักษ์ในช่วงหลายปีนี้ และจะเป็นการท้าทายโดยตรงต่ออิทธิพลของสหรัฐในฐานะมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลกด้วย

logoline