svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

พยาบาลราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมเอไอเอส พัฒนาระบบสื่อสารส่งต่อ ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินทางเรือ

14 มกราคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คณะพยาบาลศาสตร์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมเอไอเอส พัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินทางเรือ ชุมชนหลังเขื่อนภูมิพล หลังไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ไม่มีสัญญาณสื่อสาร พบพยาบาลต้องติดต่อแพทย์ ประสานส่งผู้ป่วยทางวิทยุถึง 3 ต่อ ทำล่าช้าไม่ทันการณ์ เผยนำร่องติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณแล้ว ช่วยติดต่อได้ทันที ช่วยเหลือผู้ป่วยได้รวดเร็ว ส่งผู้ป่วยถึง รพ.ทันเวลา พร้อมเร่งพัฒนาเรือฉุกเฉินมาตรฐานรองรับส่งต่อทางน้ำ ตั้งเป้าสำเร็จใน 2 ปี

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 ที่ รพ.จุฬาภรณ์  คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แถลงข่าวโครงการวิจัย "การพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินทางเรือ" โดย ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า การวิจัยเป็นภารกิจหนึ่งที่สำคัญของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ 

พยาบาลราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมเอไอเอส พัฒนาระบบสื่อสารส่งต่อ ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินทางเรือ


ทั้งนี้เราพบว่า ประชาชนในหลายท้องถิ่น ยังมีปัญหาเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข แม้จะมีสิทธิสุขภาพจากทั้ง 3 กองทุนสุขภาพของไทยแล้วก็ตาม คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ประกันสังคม และข้าราชการ โดยโครงการวิจัยในครั้งนี้ จะเป็นการพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินทางเรือ  จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาชุมชนพื้นที่หลังเขื่อนภูมิพล ตำบลบ้านนา จ.ตาก ให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่รวดเร็วและปลอดภัยยิ่งขึ้น

พยาบาลราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมเอไอเอส พัฒนาระบบสื่อสารส่งต่อ ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินทางเรือ


รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลั วิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าว เกิดจากอาจารย์พยาบาลของเราไปพบว่า พื้นที่หลังเขื่อนภูมิพล จ.ตาก ยังมีปัญหาทั้งไฟฟ้าเข้าไม่ถึง รวมถึงเรื่องของสัญญาณการสื่อสาร ทำให้ประสบปัญหาเมื่อเจอผู้ป่วย ที่มีอาการรุนแรง จำเป็นที่พยาบาลในพื้นที่ จะต้องขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ ทำให้เกิดการตัดสินใจได้ช้า จึงให้ลงไปทำการศึกษาวิจัยหาแนวทางแก้ไข จนเป็นที่มาของโครงการดังกล่าว 
โดยมีความร่วมมือกับทางอุทยานแห่งชาติ ปลัดอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน มูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ วิศวกรชำนาญการ และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ซึ่งผลลัพธ์จากการวิจัยในครั้งนี้ จะเกิดประโยชน์กับประชากรหลังเขื่อนภูมิพลจำนวน 2,051 คน และพื้นที่โดยรอบ อ.สามเงา อีก 31,890 คน

พยาบาลราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมเอไอเอส พัฒนาระบบสื่อสารส่งต่อ ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินทางเรือ


รศ.ดร.วิไลวรรณ ทองเจริญ รองคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ และผู้อำนวยการโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า โครงการนี้จะใช้ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี มี 3 แผนงาน คือ การศึกษาพื้นที่ ประสานความร่วมมือ พัฒนาระบบโทรคมนาคม และผลิตเรือฉุกเฉิน จากนั้นจึงจะขยายผลในอีก 5 พื้นที่ให้ได้รับบริการที่ทั่วถึง

พยาบาลราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมเอไอเอส พัฒนาระบบสื่อสารส่งต่อ ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินทางเรือ


พยาบาลราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมเอไอเอส พัฒนาระบบสื่อสารส่งต่อ ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินทางเรือ


นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส กล่าวว่า ด้วยข้อจำกัดด้านกฎหมาย ทำให้เราไม่สามารถติดตั้งเครื่องขยายสัญญาณได้ทุกพื้นที่ อย่างพื้นที่หลังเขื่อน ก็เป็นป่าอนุรักษ์ ดังนั้นการจะติดตั้งตัวส่งสัญญาณการสื่อสาร จึงจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เช่นโครงการนี้ที่มีทั้งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ อุทยานก็ร่วมด้วย ฝ่ายปกครองในพื้นที่ มีวัตถุประสงค์ชัดเจนในการดำเนินการ และมีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ โดยเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ก็ได้รับการอนุโลม ให้นำร่องไปติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณบริเวณวัด โดยใช้ไฟจากระบบโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี ซึ่งเมื่อมีเครื่องส่งสัญญาณ ก็ทำให้พยาบาลสามารถใช้สื่อสารไปยังแพทย์ที่ รพ.สามเงา เพื่อขอรับคำปรึกษาได้ว่า จะดูแลผู้ป่วยอย่างไร ต้องส่งต่อหรือไม่

พยาบาลราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมเอไอเอส พัฒนาระบบสื่อสารส่งต่อ ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินทางเรือ


ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับการผลิตเรือฉุกเฉิน ตั้งเป้าไว้ว่า จะทำให้สำเร็จภายใน 2 ปี ซึ่งเรือฉุกเฉินนี้ จะสามารถทำการกู้ชีพบนเรือได้ และจะมีการติดตั้งจีพีเอส และการรับส่งสัญญาณ เพื่อให้สามารถสื่อสารกับทั้งต้นทางและปลายทางได้ เพื่อการประสานงานในการส่งต่อตัวผู้ป่วย จากจุดรับตัวผู้ป่วยไปยังอักด้านของเขื่อน เพื่อส่งต่อให้แก่รถพยาบาลฉุกเฉินต่อไป ซึ่งการจะสร้างและออกแบบนั้น อาจจะต้องรอข้อมูลเคสการเจ็บป่วยในพื้นที่เข้ามาบูรณาการเพื่อออกแบบผลิตเรือด้วย


น.ส.มัตติกา ใจจันทร์ อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า จากการที่ตนลงพื้นที่พบว่า พื้นที่หลังเขื่อนภูมิพลยังไม่มีไฟฟ้าใช้และสัญญาณโทรศัพท์ พยาบาลที่ประจำอยู่ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ก็มีความลำบากในการดูแลผู้ป่วย เพราะหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ก็ต้องรีบไปช่วยเหลือที่จุดเกิดเหตุ บางทีอยู่ในป่าก็ต้องตามผู้ใหญ่บ้านเข้าไป และยิ่งเป็นเคสที่หนักเกินขีดความสามารถ จำเป็นที่จะต้องปรึกษากับแพทย์ ก็มีความลำบากในการสื่อสาร เพราะไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ซึ่งการจะติดต่อได้มีอยู่ 2 ทาง คือ บริเวณโขดหินจุดหนึ่งที่พอมีสัญญาณทีโอทีดาวเทียม กับอีกทางคือต้องใช้ช่องวิทยุ ซึ่งก็ต้องใช้วิทยุติดต่อกันถึง 3 ต่อ กว่าจะถึงแพทย์ และเมื่อตอบกลับมาก็ต้องใช้เวลาอีก เพราะต้องส่งกลับมา 3 ต่อเช่นกัน ซึ่งก็จะไม่ทันการณ์กับการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วย
ซึ่งยอมรับว่าบางรายก็เสียชีวิต อย่างปีที่ผ่านๆ มามีเสียชีวิตประมาณ 3 ราย ทั้งจากกรณีมารดาเสียชีวิตหลังคลอด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และอุบัติเหตุท้องแตก
น.ส.มัตติกา กล่าวว่า จากการลงพื้นที่หารือกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็เห็นตรงกันว่า จะต้องมีการพัฒนาเรื่องของระบบการสื่อสาร ก็ได้ให้ทางเอไอเอส เข้ามาช่วย และการพัฒนาเรือฉุกเฉิน เพราะที่ผ่านมาก็ต้องใช้เรือหางยาวจากชาวบ้าน ซึ่งก็ไม่ปลอดภัยทั้งตัวผู้ป่วยเองและบุคลากรทางการแพทย์ และต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าน้ำมันค่าเรือด้วย
จึงควรมีการพัฒนาเรือฉุกเฉิน เพื่อส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งก็จะเก็บข้อมูลและนำมาวิจัยพัฒนาเป็นมาตรฐานที่สามารถนำเรือฉุกเฉินต้นแบบนี้ไปใช้ในพื้นที่อื่นได้
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการนำร่องติดเครื่องส่งสัญญาณแล้ว บังเอิญว่าเกิดเหตุ 2 รายที่จำเป็นต้องส่งต่อผู้ป่วย คือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ล้มศีรษะกระแทกจนสลบ ประกอบกับเป็นช่วงที่พวกเราไปลงพื้นที่ จึงได้ทดลองใช้สัญญาณสื่อสาร โทร.ประสานทีมสกายดอกเตอร์มารับตัวผู้ป่วยไป 2 ราย ไปยัง รพ.ตาก โดยใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง ทำให้ช่วยชีวิตผู้ป่วยทั้งสองรายไว้ได้ หากไม่เช่นนั้นก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ สำหรับการเจ็บป่วยของคนในชุมชนไม่ต่างจากพื้นที่อื่น แต่ที่กังวลคือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินแล้วเกินขีดความสามารถจำเป็นต้องปรึกษาหรือส่งต่อ ต้องมีสัญญาณการสื่อสาร ซึ่งโครงการนี้จะเข้ามาช่วยให้คนในพื้นที่เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ดีขึ้น
เมื่อถามถึงค่าใช้จ่ายในการส่งต่อ หากโครงการสำเร็จ รศ.ดร.ทัศนา กล่าวว่า ผู้ป่วยมีสิทธิการรักษาอยู่แล้วทั้งบัตรทอง หรือหากเป็นฉุกเฉินวิกฤตก็มีสิทธิยูเซป รักษาทุกที่ดีทุกสิทธิที่รองรับเรื่องค่ารักษาพยาบาล แต่ในเรื่องของค่าพาหนะในการส่งต่ออย่างเรือฉุกเฉิน ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู่ระหว่างการพัฒนาในประเด็นนี้

logoline