svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

เปิดข้อตกลงกลาโหม-ตำรวจ ถ้าโจรชิงทองคือ "คนมีสี" ...ไม่ง่าย!

14 มกราคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดข้อตกลงระหว่าง "กลาโหม-มหาดไทย" กรณี โจรปล้นทองลพบุรี หากเป็น "ทหาร" จริง ..งานนี้ไม่ง่าย! อุปสรรคในการคลี่คลายคดี "ยิงคน-ปล้นทอง" นอกจากปัญหาในส่วนของตำรวจเอง ถึงขั้นมีการ "เปลี่ยนม้ากลางศึก" เปลี่ยนตัวผู้รับผิดชอบคดีจากรองผบ.ตร.คนหนึ่งมาเป็นอีกคนหนึ่งแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องการประสานงานเพื่อจับกุมตัวหรือเข้าตรวจค้นด้วย

..โดยเฉพาะหากผู้ต้องสงสัย หรือผู้ต้องหา เป็นทหารประจำการ!
ที่ผ่านมามีการคาดเดาและวิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า คนร้ายที่ก่อเหตุ "ยิงคน-ปล้นทอง" อาจเป็นคนมีสี หรืออาจเป็นทหาร โดยพิจารณาจากความเชี่ยวชาญในการใช้อาวุธ การบุกเข้าโจมตีเป้าหมาย และที่สำคัญคือเมืองลพบุรี ถือว่าเป็นเมืองทหาร มีหน่วยทหารอยู่เป็นจำนวนมาก
แม้จนถึงขณะนี้ฝ่ายตำรวจยังไม่ยืนยันอย่างเป็นทางการว่าคนร้ายเป็นทหารหรือไม่ แต่ถ้าตั้งสมมติฐานว่า ผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยเป็นทหาร จุดนี้ก็อาจเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้การดำเนินการมีความล่าช้า เนื่องจากการจะจับกุมทหาร หรือแม้แต่ตรวจค้นหน่วยทหาร ต้องปฏิบัติไปตาม "ข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงมหาดไทย เรื่องการปฏิบัติและประสานงานเกี่ยวกับกรณีที่ทหารเป็นผู้เสียหายหรือเป็นผู้ต้องหาในความผิดอาญา" ซึ่งข้อตกลงนี้มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2498 เลยทีเดียว
สาระสำคัญในข้อตกลงฯ เป็นการกำหนดขั้นตอนการดำเนินคดีอาญากับทหารประจำการ ตั้งแต่การจับกุม แจ้งข้อหา และตรวจค้น มีหลักปฏิบัติที่ต้องยึดถือ เช่น
..การจับทหารขณะแต่งเครื่องแบบ ไม่สามารถกระทำได้ ต้องแจ้งให้สารวัตรทหารเป็นผู้จับ
..การบังคับให้ถอดเครื่องแบบไม่สามารถกระทำได้ ยกเว้นเจ้าตัวยินยอมถอดเอง
..การคุมขังขณะสวมเครื่องแบบไม่สามารถกระทำได้


..การเข้าตรวจค้นหน่วยทหาร ต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาของหน่วยนั้น และต้องมีการส่งผู้แทนของฝ่ายทหารเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย เหล่านี้เป็นต้น
สาเหตุที่ต้องมีข้อตกลงฯ นี้ เพราะทั้งตำรวจและทหารต่างเป็นกำลังพลที่ถืออาวุธทั้งคู่ และเครื่องแบบตลอดจนเครื่องหมายต่างๆ ของทั้งตำรวจ ทหาร ก็ถือว่ามีเกียรติ และเป็นที่เคารพของกำลังพลแต่ละฝ่าย หากปล่อยให้มีการกระทำการอย่างไม่ให้เกียรติกัน อาจทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งและแตกสามัคคีตามมา จนอาจบานปลายเป็นความรุนแรงได้ 
นอกจากนั้น ในหน่วยทหารยังมีสถานที่และยุทโธปกรณ์ที่มีชั้นความลับในทางความมั่นคงด้วย การเข้าตรวจค้นจึงต้องมีขั้นตอนพิเศษ
แต่ข้อตกลงฯ นี้ ก็มีการแก้ไขปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย โดยฉบับล่าสุดแก้ไขเมื่อ พ.ศ.2544 เป็นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2544 หลังมีการโอนสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทยเหมือนสมัยก่อน โดยข้อตกลงใหม่ใช้ชื่อว่า "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิบัติและการประสานงานกรณีทหารถูกหาว่ากระทำความผิดอาญา พ.ศ.2544"
ข้อตกลงนี้มีการปรับเนื้อหาให้การดำเนินคดีกับทหารที่กระทำผิดอาญา ยึดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามากขึ้น ไม่ให้มีอภิสิทธิ์เหนือประชาชนทั่วไป แต่ก็ยังมีขั้นตอนพิเศษสำหรับการประสานงาน เพื่อป้องกันความขัดแย้งของหน่วยงานที่ถืออาวุธด้วยกัน โดยเฉพาะขั้นตอนการจับกุมและตรวจค้น ที่ยังต้องแจ้งผู้บังคับบัญชาของฝ่ายทหารให้รับทราบก่อน

นั่นหมายความว่า จะต้องมีการแสดงพยานหลักฐานที่ชัดเจนระดับหนึ่ง จึงจะสามารถจับกุมหรือเข้าตรวจค้นได้ และจุดนี้อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยของความล่าช้า หากผู้ต้องสงสัยก่อเหตุปล้นทองเป็นทหารจริงๆ

logoline