svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนอีกรอบ 24-25 ม.ค. นี้

13 มกราคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน กรมชลประทาน เดินหน้าแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำระดับชุมชน ภูมิภาค ด้านอธิบดีกรมชลฯระบุ ปฏิบัติการระดมน้ำผลักดันลิ่มความเค็มแม่น้ำเจ้าพระยาสำเร็จ น้ำทะเลขึ้นสูงสุดคืนที่ผ่านมา แต่ค่าความเค็มของน้ำดิบที่หน้าสถานีสูบน้ำสำแลต่ำกว่าเกณฑ์เฝ้าระวัง เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนอีกรอบ 24-25 ม.ค. นี้"

เมื่อวันที่ 13 ม.ค.นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) กรมชลประทาน เป็นผู้แทนกรมชลประทานเข้าร่วมประชุมคณะทำงานการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคในระดับชุมชนและภูมิภาค และสถานการณ์ภัยแล้ง ประจำปี 2563 โดยมี พลเอก ศิวะ ภระมรทัต นายทหารปฏิบัติการพิเศษ/ราชองครักษ์ในพระองค์ ปฏิบัติหน้าที่ ผู้ช่วยอำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน และผู้บัญชาการกองกำลังจิตอาสาพระราทาน เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม 1 ศูนย์อำนวยการใหญ่ จิตอาสาพระราชทาน กรุงเทพมหานคร

นายสัญญา กล่าวว่าสถานการณ์น้ำทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน (12 ม.ค. 63) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกันประมาณ 43,430 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 61 ของความจุอ่างฯทั้งหมด มีน้ำใช้การได้ประมาณ 19,991 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 412 แห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกันประมาณ 2,723 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 53 ของความจุอ่างฯทั้งหมด มีน้ำใช้การได้ประมาณ 2,342 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำ- ขนาดเล็ก อีก 942 แห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกันประมาณ 276 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯทั้งหมด มีน้ำใช้การน้ำประมาณ 166 ล้าน ลบ.ม. และแหล่งน้ำธรรมชาติอื่นๆ มีปริมาณน้ำที่สามารถนำมาใช้ได้การได้ประมาณ 1,773 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งประเทศมีปริมาณน้ำเก็บกักรวมประมาณ 46,429 ล้าน ลบ.ม. หรือ ร้อยละ 61 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 24,272 ล้าน ลบ.ม. ในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 นี้ กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำไว้ประมาณ 17,699 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำไปแล้วประมาณ 6,379 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 36 ของแผนการใช้น้ำ ในส่วนของการเพาะปลูกข้าวช่วงฤดูแล้งปี 2562 ปัจจุบัน(8 ม.ค. 63) มีการเพาะปลูกข้าวไปแล้วประมาณ 2.64 ล้านไร่ จากแผน 2.31 ล้านไร่ ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย จำเป็นต้องสงวนน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด สำรองไว้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันประหยัดน้ำอย่างจริงจริงและใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งนี้ ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า สำหรับพื้นที่ใดที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้านได้ตลอดเวลา

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงมาตรการแก้ไขสถานการณ์ค่าความเค็มสูงเกินมาตรฐานในแม่น้ำเจ้าพระยา ว่าผลการวัดค่าความเค็มของน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าสถานีสูบน้ำสำแล จ. ปทุมธานีเวลา 9.00 น. วันนี้ (13 ม.ค.) อยู่ที่ 0.16 กรัม/ลิตร ต่ำกว่าค่าเฝ้าระวังซึ่งอยู่ที่ 0.25 กรัม/ลิตร โดยเมื่อคืนที่ผ่านมาเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงสุดของระลอกนี้ จึงถือว่า ปฏิบัติการผลักดันน้ำเค็มเป็นผลสำเร็จ ทั้งนี้กรมชลประทานได้ระบายน้ำจากหลายทางมาสู่ด้านท้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาได้แก่ จากเขื่อนเจ้าพระยาอัตรา 100 ลบ.ม./วินาที เขื่อนพระราม 6 อัตรา 11 ลบ.ม./วินาที ผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองผ่านคลองพระยาบันลือ 24 ลบ.ม./วินาที และนำน้ำแม่น้ำท่าจีนมาเสริมคลองปลายบางอัตรา 6 ลบ.ม./วินาที รวมทั้งสิ้น 141 ลบ.ม./วินาทีซึ่งทำมาตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. รองรับสถานการณ์น้ำหนุนจนถึงหนุนสูงที่สุดเมื่อคืนนี้

นายทองเปลว กล่าวว่า ได้ขอความร่วมมือจากการประปานครหลวงให้หยุดสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำสำแลเข้าสู่ระบบการผลิตประปาในช่วงน้ำทะเลลงเป็นเวลา 2 ชั่วโมงต่อวันเพราะช่วงน้ำทะเลลงมีลิ่มความเค็มค้างอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา หากการประปานครหลวงยังคงสูบตามปกติ 60 ลบ.ม./วินาที น้ำที่เหลือไม่เพียงพอจะผลักดันลิ่มความเค็มได้ แต่เมื่อหยุดสูบตามเวลาที่กำหนดทำให้ค่าความเค็มเจือจาง โดยเวลา 15.00 น. วานนี้ (12 ม.ค.) ค่าความเค็มสูงสุดหน้าสถานีสูบน้ำสำแลอยู่ที่ 0.55 กรัม/ลิตร สูงกว่าเกณฑ์ควบคุมสำหรับผลิตน้ำประปาที่ 0.50 กรัม/ลิตรไปเล็กน้อย ซึ่งไม่มีการสูบเข้าระบบ จากการตรวจวัดเช้านี้ ลิ่มความเค็มถอยห่างจากสถานีสูบน้ำสำแลไปอยู่บริเวณสะพานปทุมธานี 2 ซึ่งอยู่ห่างไป 9 กิโลเมตรจึงไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ

จากนี้จนถึงวันที่ 17 ม.ค. จะเป็นช่วงที่น้ำทะเลลดลงตามลำดับซึ่งกรมชลประทานจะลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ที่ 95 ลบ.ม./วินาทีจนถึงวันที่ 15 ม.ค. แล้วจะคงการระบายอยู่ที่ 90 ม.ค. ต่อไป แต่การบริหารจัดการน้ำจะเป็นไปตามสถานการณ์ โดยพร้อมรับภาวะน้ำทะเลหนุนอีกระลอกในวันที่ 24-25 ม.ค. นี้ แต่ไม่น่ากังวลเนื่องจากระดับน้ำทะเลไม่ขึ้นสูงเท่ากับครั้งนี้

"กำลังเร่งทำแผนที่สำรวจภูมิประเทศด้านวิศวกรรมแบบ 3 มิติของคลองพระยาบันลือเนื่องจากเป็นคลองสำคัญที่รับน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริมลุ่มเจ้าพระยาเพื่อผลักดันค่าความเค็ม ซึ่งจะทำให้ทราบลักษณะท้องน้ำและคำนวณความจุของคลองได้อย่างแม่นยำ โดยเป็นนวัตกรรมที่นำมาใช้บริหารจัดการน้ำเค็มลุ่มเจ้าพระยาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด" นายทองเปลว กล่าว

กรมชลประทาน เร่งระบายน้ำไล่ความเค็ม รับมือน้ำทะเลหนุนสูง 13- 15 ม.ค.นี้ วางมาตรการระบายน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองช่วยเจือจางความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ป้องกันน้ำเค็มรุกโรงสูบน้ำสำแลด้านนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำโดยเฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปัจจุบัน(13 ม.ค. 63) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,875 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 4,179 ล้าน ลบ.ม. เน้นส่งน้ำเฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น

สำหรับการติดตามสถานการณ์ค่าความเค็มลุ่มน้ำเจ้าพระยาของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) พบว่า ในช่วงวันที่ 13 15 ม.ค. 63 จะเกิดน้ำทะเลหนุนจนทำให้ค่าความเค็มรุกตัวในแม่น้ำเจ้าพระยา และส่งผลให้ปริมาณค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น กรมชลประทาน ได้วางมาตรการในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาความเค็มตามแผนที่วางไว้มาอย่างต่อเนื่อง โดยแม่น้ำเจ้าพระยาให้ระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 90 100 ลบ.ม./วินาที แม่น้ำป่าสักระบายน้ำที่ท้ายเขื่อนพระรามหก 5 10 ลบ.ม./วินาที พร้อมกับผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองผ่านแม่น้ำท่าจีนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาผ่านคลองพระยาบันลือ เพื่อส่งน้ำมาช่วยผลักดันค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำบริเวณคลองพระยาบันลือ เพื่อเร่งการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาให้เร็วที่สุด อีกทั้งยังได้มีการระบายน้ำผ่านกาลักน้ำที่คลองปลายบาง อีกประมาณ 6 ลบ.ม./วินาที และยังใช้ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์- อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สมุทรปราการ ในการบริหารจัดการน้ำในช่วงที่น้ำทะเลลง เพื่อดึงค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาให้ต่ำลง พร้อมกับตรวจวัดค่าความเค็มและให้การประปานครหลวงสามารถสูบน้ำได้อย่างเหมาะสม

ทั้งนี้สถานการณ์ค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยา วันนี้ (13 ม.ค. 62) แม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานีประปาสำแล เวลา 07.00 น. วัดได้ 0.18 กรัมต่อลิตร (ค่าความเค็มสูงสุด 0.74 กรัมต่อลิตร ณ วันที่ 12 ม.ค. 63 เวลา 21.00น. เกณฑ์เฝ้าระวัง 0.25 กรัมต่อลิตร มาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร) ส่วนที่แม่น้ำท่าจีน ที่สถานีปากคลองจินดา เวลา 07.00 น. วัดได้ 0.26 กรัมต่อลิตร (ค่าความเค็มสูงสุด 0.31 กรัมต่อลิตร ณ วันที่ 12 ม.ค. 63 เวลา 21.30น. เกณฑ์เฝ้าระวังสำหรับกล้วยไม้ 0.75 กรัมต่อลิตร เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร)ส่วนแม่น้ำปราจีน-บางปะกง ที่สถานีปราจีนบุรี เวลา 07.00 น. วัดได้ 0.08 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร) และ แม่น้ำแม่กลอง ที่สถานีปากคลองดำเนินสะดวก เวลา 07.00 น. วัดได้ 0.26 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังสำหรับกล้วยไม้ 0.75 กรัมต่อลิตร เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร)ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ปีนี้มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย การสนับสนุนน้ำด้านต่างๆ จึงเป็นไปอย่างจำกัด รวมทั้งการระบายน้ำเพื่อผลักดันค่าความเค็มที่มีน้อยกว่าปีก่อนๆ แต่อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ได้วางมาตรการต่างๆ ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวเป็นระยะ เพื่อผลักดันค่าความเค็ม ให้กระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด จึงขอให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและจริงจังด้วย

เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนอีกรอบ 24-25 ม.ค. นี้

logoline