svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

คมนาคมลุยขยายสัมปทาน BEM

13 มกราคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คณะกรรมการกำกับฯตามมาตรา 43 เรียกประชุมวันนี้ เคาะร่างสัญญาต่อสัมปทานทางด่วน 15 ปี 8 เดือนให้ BEM ก่อนส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาและกลับมากระทรวงคมนาคมเสนอครม.ให้ทันสิ้นเดือนม.ค.นี้ ให้ทันทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A B และC หมดสัมปทาน 29 ก.พ. 63 จับตาตั้งรองผู้ว่ากทพ.ทำหน้าที่ลงนามสัญญา เหตุมีผลผูกมัดทางกฎหมายท่ามกลางกระแสคัดค้านและเตรียมฟ้องศาลหากต่อสัมปทานและยุติ 17 ข้อพิพาท

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม แจ้งว่า บ่ายวันนี้ (13 ม.ค.) นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือสนข. ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ตามมาตรา 43 จะประชุมตามกระบวนการแก้ไขสัญญามาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เพื่อพิจารณาร่างสัญญาในการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือกทพ. และบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM ที่ผ่านมติของบอร์ดกทพ.เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2563 โดยให้กทพ.ขยายสัญญาทางด่วนให้กับ BEM เป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน เพื่อยุติ 17 ข้อพิพาทที่มีระหว่างกัน
ทั้งนี้ หลังจากผ่านการพิจารณาคณะกรรมการกำกับฯตามมาตรา 43 แล้ว จะนำร่างสัญญาที่จะมีการลงนามระหว่างกทพ.และBEM ในการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วน เสนอต่อสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา และนำร่างสัญญากลับมาให้กระทรวงคมนาคม เพื่อให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เสนอต่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติก่อนสิ้นเดือนม.ค.นี้ และลงนามสัญญาร่วมกันระหว่างกทพ.และBEM ให้ทันกำหนดระยะเวลาที่สัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A B และ C จะหมดอายุสัมปทานลงในวันที่ 29 ก.พ. 2563
สำหรับรายละเอียดของการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนสูงสุดอยู่ที่ 15 ปี 8 เดือน แบ่งออกเป็น 3 สัญญา ประกอบไปด้วย ต่อสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช) ส่วน A B และ C เป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน จากเดิมจะหมดอายุสัญญาในวันที่ 29 ก.พ.2563 ขยายออกไปหมดอายุสัญญาในวันที่ 31 ต.ค. 2578 สัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช) ส่วน D เป็นระยะเวลา 8 ปี 6 เดือน จากเดิมหมดอายุสัญญา 22 เม.ย.2570 ขยายออกไปเป็น 31 ต.ค.2578 และสัญญาทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด หรือส่วน C+ เป็นระยะเวลา 9 ปี 1 เดือน จากเดิมหมดอายุสัญญา 27 ก.ย. 2569 ขยายเป็น 31 ต.ค.2578
แหล่งข่าวกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าร่างสัญญาที่ขยายสัมปทาน 15 ปี 8 เดือน มีความเร่งรีบในการยกร่างสัญญาขึ้นมา เพราะหลังจากมติบอร์ดกทพ.เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2563 อนุมัติ ก็ได้มีการยกร่างสัญญาขึ้นมาทันที โดยยังไม่ผ่านการตรวจสอบอย่างรอบคอบ เและสนอคณะกรรมการกำกับฯโดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้ยังเกิดความวุ่นวายภายในกทพ. หลังจากที่นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่ากทพ.ลาออกจากตำแหน่ง หลังจากประชุมบอร์ดกทพ.วันที่ 6 ม.ค. 2563 ทำให้บอร์ดกทพ.ได้ทำหนังสือเร่งด่วนไปยังรมว.คมนาคม ขอให้เปลี่ยนตัวกรรมการและเลขานุการทำหน้าที่ในคณะกรรมการกำกับฯตามมาตรา 43 แทนผู้ว่ากทพ. โดยมีคำสั่งให้นางทศานุช ธรรมโชติ รองผู้ว่าการฝ่ายบริหารกทพ. มาทำหน้าที่เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการกำกับฯตามมาตรา 43 แทน เพื่อให้การประชุมคณะกรรมการกำกับฯตามมาตรา 43 สามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอน
อย่างไรก็ตาม การลาออกของนายสุชาติ ทำให้บอร์ดกทพ.ต้องสรรหารองผู้ว่ากทพ.มารักษาการแทนโดยเร็ว เพื่อให้มาดำเนินการตามขั้นตอนพิจารณาในการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วน ซึ่งรองผู้ว่ากทพ.ที่รักษาการแทนผู้ว่ากทพ.จะต้องเป็นผู้ลงนามในสัญญาขยายสัมปทานระหว่างกทพ.และBEM ที่จะมีผลผูกมัดต่อการลงนามสัญญาในอนาคต ท่ามกลางกระแสคัดกค้านของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) และองค์กรภาคประชาชน ที่รวมตัวจะฟ้องร้องต่อศาลหากมีการลงนามสัญญาขยายสัญญาสัมปทานนั้นจริง
ด้าน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือสร.กทพ. ได้ออกแถลงการณ์วันนี้ว่า สร.กทพ.ในฐานะตัวแทนพนักงานและลูกจ้างกทพ. ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 3,089 คน โดยในการประชุมใหญ่วิสามัญสร.กทพ.เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2562 ที่ประชุมมีมติให้คัดค้านการขยายระยะเวลาสัญญาสัมปทานทางด่วนเพื่อแลกกับการยุติข้อพิพาทและคดีที่ยังมิได้มีกฎหมายรองรับอย่างถึงที่สุด
ในการนี้ สร.กทพ.ของแจ้งให้ทราบว่ายังคงคัดค้านการต่อระยะเวลาสัมปทานทางด่วนเพื่อแลกกับข้อยุติอย่างถึงที่สุด ซึ่งสร.กทพ.มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น หากมีการกล่าวอ้างการดำเนินการใดๆ โดยสร.กทพ.ที่การดำเนินการนั้น ขัดซึ่งเจตนารมณ์ดังกล่าวหรือการดำเนินการนั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อมติที่ประชุมใหญ่สร.กทพ. ขอสงวนสิทธิ์ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นๆอย่างถึงที่สุด

logoline