svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

5​ เรื่องเด่น​เตรียมรับมือ ปี​ 63: แล้ง, ม็อบ, เงินบาทหนี้ครัวเรือน, เลิกใช้ถุง, ฝุ่น​ PM​ 2.5

02 มกราคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ว่ากันว่าใช้ชีวิตต้องอยู่บนความไม่ประมาท คำกล่าวนี้ยังเป็นจริงเสมอ เราคงจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่มีความเป็นไปได้ หากเรารู้ล่วงหน้า ก็อาจจะผ่อนหนักให้กลายเป็นเบา และมีแผนรับมือที่ชัดเจน ซึ่งในปี 2563 นี้มีหลายเหตุการณ์ที่น่าจับตา....

1. วิกฤตภัยแล้ง

จากปัญหาฝนทิ้งช่วงในปี 2562 ทำให้ปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อน มีน้อยกว่าปกติ ผลกระทบเริ่มเห็นได้ชัดในช่วงปลายปีที่ผ่านมา แหล่งน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา ของบางชุมชนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มแห้งขอด การประปาส่วนภูมิภาคต้องแจ้งเตือนให้ประชาชนสำรองน้ำไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ขณะเดียวกันก็ได้ลดแรงดันน้ำลงเพื่อปรับพฤติกรรมการใช้น้ำของผู้คนให้ลดลงตามไปด้วย

ในส่วนของการปลูกข้าว มีชาวนาบางส่วนที่เดินหน้าทำตามปกติ จะต้องประสบปัญหาข้าวยืนต้นตายเพราะขาด น้ำ ขณะเดียวกันเมื่อสำรวจไปยังต้นต้นน้ำอย่างแม่น้ำปิง เริ่มแห้งขอดแล้วจนสันดอนทรายโผล่

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด คาดการณ์ได้เลยว่าภัยแล้งปีนี้จะหนักหนารุนแรง อาจถึงขั้นกระทบกับน้ำประปาในเมืองกรุง จะถึงน้ำไม่ไหลเลยหรือไม่ คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้

2. จับตาชุมชนไล่ รัฐบาล พลเอกประยุทธ์

พรรคอนาคตใหม่เริ่มเดินเกมรุกกับฝ่ายรัฐ เนื่องจากมีความชอบธรรมในการเรียกคนออกมาชุมนุมทางการเมือง อันเนื่องมาจากมาตรฐานในการตัดสินคดีความต่างๆ และปัญหาเศรษฐกิจปากท้องที่รัฐบาลแก้ไม่ตก

ในเดือนมกราคมนี้ ยังมีการตัดสินคดี กู้เงินของพรรคอนาคตใหม่ที่อาจถึงขั้นยุบพรรค ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำที่นำไปสู่การชุมนุมทางการเมืองแบบลงถนน ในขณะเดียวกันตลอดปลายเดือนที่ผ่านมาก็ได้เห็นความเคลื่อนไหวเชิงประเด็น ที่จุดให้ผู้คนไม่พอใจต่อรัฐมากขึ้น

ในช่วงปี 2563 จึงต้องจับตาดูว่าจะมีการออกมาชุมนุมของม็อบทางการเมือง ที่มีเป้าหมายเพื่อขับไล่รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาหรือไม่

3. วิกฤตค่าเงินบาท และหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง

เมื่อวันปีใหม่ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าที่สุดในรอบหลายปี ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาชี้แจงว่า เป็นเพราะกิจกรรมทางธุรกรรมการเงินที่เกิดขึ้นถี่ ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วจะพบว่าปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่านั้นยืดเยื้อมานานตั้งแต่กลางปี 2562 ที่ผ่านมาและหากไม่สามารถแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทได้ก็จะส่งผลกระทบต่อทั้งการส่งออก ซึ่งปัจจุบันติดลบอยู่แล้วแล้วทำให้กำลังการผลิตหลายโรงงานต้องปรับตัวลดลงกระทบต่อรายได้ของแรงงานไปตามไปด้วย และการเติบโตการท่องเที่ยว เพราะเมื่อค่าเงินของไทยแพงขึ้น นักท่องเที่ยวอาจไม่ตัดสินใจมาเที่ยว ซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่แล้ว

ขณะเดียวกันเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมามีสถานการณ์โรงงานปิดตัว และลดกำลังการผลิตหลายแห่ง รายได้ต่อครัวเรือนลดลง กำลังซื้อหดหาย ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้นเพราะประชาชนไม่มีรายรับพอที่จะนำเงินมาจ่ายหนี้

หนี้ครัวเรือนที่มากขึ้นจะฉุดรั้งขีดความสามารถในการแข่งขัน และคุณภาพชีวิตของระดับครัวเรือน ให้ตกต่ำลง จึงต้องจับตาดูมาตรการของรัฐอย่างใกล้ชิดว่าจะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างจริงจังอย่างไร และจะมีแนวทางใดบ้างที่ทำให้รายได้ของประชาชนมีเพิ่มมากขึ้น

4 ดีเดย์งดใช้ถุงพลาสติก และปัญหาการจัดการขยะ 1 มกราคม ที่ผ่านมาเป็นวันแรกที่ร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าต่างๆ งดแจกถุงพลาสติก ซึ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคในวันแรก ยังคงสับสนอยู่บ้าง แม้จะเป็นมาตรการหักดิบแต่ก็นับว่าเป็นเรื่องดีและน่าจะทำให้แก้ไขปัญหาขยะพลาสติกล้นได้ผล

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมา มีปัญหาขยะทะเลเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น พะยูนมาเรียมกินพลาสติกจนเสียชีวิตหรือพบถุงพลาสติกภายในท้องสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทำให้สังคมตื่นตัวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมหาแนวทางที่จะลดใช้ถุงพลาสติก และเกิดการแบนถุงพลาสติกที่เริ่มขึ้นแล้วในร้านสะดวกซื้อต่างๆ ก็น่าจะทำให้ปริมาณขยะพลาสติกลดลง

ปัญหาขยะยังคงเป็นปัญหาใหญ่นอกจากปัญหาถุงพลาสติกแล้วประเทศไทยยังนำเข้าขยะพลาสติกมารีไซเคิลในประเทศ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจขายของเก่าเดิมให้รับผลกระทบ และก็จะมีปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา ไทยกลายเป็นบ่อขยะของอาเซียน ปัญหาขยะจึงเป็นปัญหาที่จะต้องจับตาดูว่า ในปีนี้ จะยิ่งพอกพูนปัญหาที่หมักหมมอยู่แล้วให้เพิ่มขึ้น หรือจะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้เบาลง

5 ฝุ่น PM 2.5 กระทบสุขภาพประชาชน

ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตฝุ่นจิ๋วขนาดเล็ก PM 2.5 สถิติของผู้ป่วยที่เข้ามารักษารับการรักษาที่โรงพยาบาล ด้วยโรคทางเดินหายใจ พุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ นั่นหมายความว่าปัญหาฝุ่นสอดคล้องกับปัญหาสุขภาพของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และฝุ่นยังเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งอีกด้วย

ฝุ่นกลายเป็นปัญหาใกล้ตัวที่ดูเหมือนยังแก้ไม่ตก สืบเนื่องจากปีที่แล้วคนกรุงต้องเผชิญปัญหาฝุ่น PM 2.5 อยู่บ่อยครั้ง รัฐก็พยายามมีมาตรการต่างๆในการแก้ปัญหาไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนน้ำมันเชื้อเพลิง งดการก่อสร้างในวันที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐาน

แต่ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถจะควบคุมได้ ด้วยปริมาณรถที่มีจำนวนมาก การจราจรที่หนาแน่น นี่ยังเป็นเพียงปัญหาฝุ่นในเมืองกรุงเท่านั้น ส่วนปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในต่างจังหวัดอย่างเช่นการเผาป่า การเผาไร่พืชเชิงเดี่ยวต่างๆ ก็นำมาซึ่งฝุ่นควันเช่นเดียวกัน

ปัญหาเช่นนี้ก็จะวนเวียนเป็นประจำทุกปีและจะมีผู้คนที่เจ็บป่วย ด้วยโรคระบบทางเดินหายใจจากการสูดเอาควันเข้าไปในปอด เป็นจำนวนหลายล้านคนโดยเฉพาะเด็กๆ

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #Vajiravit #VajiravitDaily #Nation #NationTV22

logoline