svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ย้อนรอย "เบญจา หลุยเจริญ" ช่วย "โอ๊ต-เอม" เลี่ยงภาษีหุ้นชินฯ

26 ธันวาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หากเรามาย้อนคดี นางเบญจา หลุยเจริญ และพวก หลังต่อสู้กันมากว่า 10ปี จนนำไปสู่การจำคุก จำเลยทั้ง 5คน โดยไม่รอลงอาญา ในข้อหาในข้อหาร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

หากย้อนรอยเรื่องราวความผิดของ นางเบญจา หลุยเจริญ กรณีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อช่วยเหลือ นายพานทองแท้ และนางสาวพินทองทา หลีกเลี่ยงภาษีการซื้อขายหุ้นชิน ก็เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พบหลักฐาน เกี่ยวกับรายงานการเคลื่อนไหวการซื้อขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น ของนายพานทองแท้ และนางสาวพินทองทา ที่รายงานที่ไม่ถูกต้องถึง 2 ครั้ง ทำให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ตรวจสอบการซื้อขายย้อนหลังตั้งแต่ปี 2543 พบความผิดว่า นายพานทองแท้ ไม่รายงานข้อมูลการถือหุ้นชินคอร์ป 24.99% ทั้งที่ นายพานทองแท้ เป็นกรรมการ ในบริษัทชิน ด้วย

นอกจากนี้จากการตรวจสอบ ยังพบว่า บริษัท แอมเพิลริช อินเวสเมนท์ จำกัด ได้ขายหุ้นชินคอร์ป จำนวน 329.2 ล้านหุ้นให้กับนายพานทองแท้ และ นางสาวพินทองทา ในราคาต่ำกว่าตลาด ตั้งแต่ก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 แต่ไม่แจ้งการถือครองหุ้นนานถึง 7เดือน ซึ่งในเอกสารมีหลักฐานจากรมสรรพากร ในวันที่ 21 กันยายน 2549 ซึ่งลงนามโดยนางเบญจา หลุยเจริญ ในขณะนั้นเป็นที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร

โดยในแง่ของกฎหมายการซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทย จากบริษัทผู้ขายในต่างประเทศ จะต้องเสียภาษีตามกฎหมาย ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวของนางเบญจา ชี้ให้เห็นว่ามีการช่วยเหลือโดยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และทำให้ให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

โดย โอ๊ค-เอม ได้ซื้อหุ้นชิน มาในจำนวน คนละ 164.6 ล้านหุ้น ในราคา 1บาท ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 164 ล้านบาท แต่หากเมื่อดูราคาหุ้นชินในขณะนั้น ราคาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ อยู่ที่ 49.25 บาทต่อหุ้น ซึ่งหากว่าเอาจำนวนหุ้น 164.4 ล้านหุ้น คูณกับราคา 49.25 บาท คิดเป็นมูลค่ากว่า 8 พันล้านบาท นั่นหมายความว่า โอ๊ค-เอม มีกำไรจากส่วนต่างราคาหุ้นที่ได้ประมาณ 7.9 พันล้านบาท ดังนั้นทั้ง 2คนต้องมีหน้าที่ต้องเสียภาษี แต่กลับได้รับการช่วยเหลือทำให้

จากข้อมูลเอกสารดังกล่าวนั้นมีมูลความผิด วันที่ 3 ธันวาคม 2558 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงได้ยื่นฟ้องจำเลย ในข้อหาร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยได้ช่วยเหลือ โอ๊ค พานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร หรือ เอม ซึ่งเป็นลูกของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลบเลี่ยงการจ่ายภาษีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น เมื่อปี 2549

ต่อมาวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลอาญานัดไต่สวนพยานครั้งแรก เห็นว่ามีมูลความผิดทางอาญา จึงมีคำสั่งให้ประทับคำฟ้อง // วันที่ 28 กรกฎาคม 2559 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษา โดยตัดสินจำเลยที่ 1-4 มีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 83 ให้จำคุกคนละ 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ มีโทษ 2 ใน 3 จึงสั่งให้จำคุก 2 ปี โดยไม่รอการลงอาญาเช่นกัน โดยจำเลยทั้งหมด ขอยื่นประกันตัวเพื่อไปต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์

หลังจากนั้นวันที่ 19 ตุลาคม 2560 ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เนื่องจากคำอุทธรณ์ของจำเลยทั้ง 5 ราย ทุกประเด็นฟังไม่ขึ้น ศาลจึงสั่งจำคุกนางเบญจาและพวกคนละ 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่วนนางสาวปราณี ศาลสั่งจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และในวันที่ 20 ตุลาคม 2560 ศาลอุทธรณ์ได้อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 5 คน ตามคำสั่งของศาลฎีกา โดยตีราคาประกันคนละ 5 แสนบาท โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยทั้ง 5 คน เดินทางออกนอกราชอาณาจักร

สำหรับจำเลยทั้ง 5คน ที่ร่วมละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ คนประกอบด้วย

1.นางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

2.น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง อดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย

3.น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย

4.นายกริช วิปุลานุสาสน์ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมสรรพากร

5.น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

logoline