svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

หมอแล็บฯ เผย ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้

23 ธันวาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หมอแล็บแพนด้า ระบุ ผู้หญิงทุกคนควรตรวจเต้านมด้วยตนเอง ตั้งแต่อายุ 20 ปี เพื่อลดความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งเต้านม ชี้ ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้

ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์และแอดมินเพจชื่อดังอย่างหมอแล็บแพนด้าได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงประโยชน์ของการตรวจเต้านมโดยเฉพาะผู้หญิง เพื่อลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านม เผยควรตรวจตั้งแต่อายุ 20 ปี โดยระบุว่า

หมอแล็บฯ เผย ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้



"การตรวจมะเร็งเต้านม"


รู้หรือไม่ว่า !?!


มะเร็งเต้านม เป็นโรคมะเร็งอันดับ 1 ในผู้หญิงไทยและมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ไม่มีวัคซีนป้องกัน


3 ใน 4 ของผู้ป่วยไม่มีปัจจัยเสี่ยง แปลง่ายๆก็คือ


"ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้"

การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง ควรจะตรวจเป็นประจำตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป หาเจอมั้ยครับ นมของตัวเอง บางคนกล่าวไว้ว่า "นมยังไม่มี จนกว่าแมนยูได้แชมป์" 555555 ในเลขห้ามีน้ำตาซ่อนอยู่ ฮือๆๆๆๆ ทีมรักเก๊าเองงง

ก่อนการตรวจด้วยตัวเองต้องหมั่นสังเกตขนาดนมซะก่อน จะเท่าบักแตงโมหรือบักพร้าน้ำหอมก็ต้องสังเกตขนาดเอาไว้ จะได้รู้ว่านมเรามันมีการเปลี่ยนแปลงยังไงบ้างยังไงล่ะครับ นมแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนนมจะใหญ่และแข็งมากขึ้นก่อนมีประจำเดือน พอกินยาคุมเต้านมก็จะเต่งขึ้น แต่บางคนเต้านมอาจจะแข็งตลอดเวลาที่มีประจำเดือน

เพราะฉะนั้นเวลาที่เหมาะในการตรวจเต้านมคือ 5-7 วันหลังจากมีประจำเดือนวันสุดท้าย เพราะช่วงนี้เต้านมจะอ่อนนุ่ม วิธีการตรวจด้วยตัวเองมีดังนี้ครับ

1. แบบแนวนอนขึ้นลงขนานกับลำตัว ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง คลำสลับขึ้นลงและไปมาให้อย่างทั่วทั้งเต้านม

2. แบบก้นหอยหรือแบบตามเข็มนาฬิกา คลำจากบริเวณหัวนมวนออกตามเข็มนาฬิกา จนถึงบริเวณรักแร้ ใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้บีบหัวนมดูว่ามีน้ำเหลืองหรือเลือดไหลออกมาหรือไม่

3. แบบรัศมีรอบเต้า เริ่มจากส่วนบนเต้านมเข้าหาฐานและขยับนิ้วหัวแม่มือจากฐานถึงหัวนมทำซ้ำเป็นรัศมีรอบเต้านม



ถ้าจะให้พูดแบบง่ายๆก็คือ ไม่ว่าจะยังไงก็แล้วแต่ คลำให้มันทั่วๆนมเรานั่นแหละ และสัญญาณอันตรายที่เราต้องไปหาหมอ ก็คือ

เจอก้อนหรือเนื้อที่เป็นไตแข็งผิดปกติตรงบริเวณเต้านม


มีน้ำเหลืองและเลือดไหลจากหัวนม


ผิวหนังบริเวณเต้านมเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นรอยปนัดดา (บุ๋ม) หรือผิวหนังบวมหนาตึง เหมือนผิวของเปลือกส้ม


หัวนมถูกดึงรั้งจนผิดปกติ


ผิวหนังบริเวณลานหัวนมมีลักษณะเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น มีผื่นคันที่เป็นๆ หายๆ


ขนาดและรูปร่างต่างกันอย่างผิดปกติ

ที่เล่ามาทั้งหมด คือความผิดปกติที่เราพบได้ด้วยตนเอง แต่ถ้าไปหาหมอ หมอก็จะการตรวจวินิจฉัยโรคที่ละเอียดยิ่งขึ้น ได้แก่

การตรวจ แมมโมแกรม (Mammogram) จะมีประโยชน์มากในการตรวจหามะเร็งเต้านมขนาดเล็กเพราะสามารถตรวจได้ตั้งแต่ยังคลำก้อนไม่เจอ แต่ประโยชน์นี้จะใช้ได้ดีในคนที่อายุมากกว่า 40 ปี ซึ่งเนื้อเต้านม จะไม่หนาแน่นมาก การตรวจแมมโมแกรมจะเห็นรายละเอียดได้มาก แต่ในส่วนคนอายุน้อยจะแปลผลแมมโมแกรมยากและในกรณีที่พบก้อน ก็บอกไม่ได้ว่าก้อนนั้นเป็นน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ

การตรวจ อัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) มีข้อเด่นที่สามารถใช้ในคนอายุน้อย และสามารถช่วยวินิจฉัยว่าก้อนต่างๆ ในเต้านมเป็นน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ ทำให้การวางแผนการรักษาเป็นไปได้ง่ายขึ้น
จากนั้นหมอจะทำการรักษาที่เหมาะสมต่อไป เช่น การผ่าตัด การฉายแสง การใช้ยาเคมีบำบัดและยาต้านฮอร์โมน"

ชมโพสต์ต้นฉบับ

หมอแล็บฯ เผย ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้

logoline