svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

รร.กวดวิชา​ ควรได้รับการยกเว้นภาษีหรือไม่? ธุรกิจ​ หรือ​ การกุศล​

15 ธันวาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โรงเรียนกวดวิชา ในความรู้สึกของคนทั่วไปคือการทำธุรกิจ ไม่ใช่การกุศล แต่โลกทุกวันนี้การศึกษาก็ไม่ต่างอะไรจากธุรกิจ ก่อนหน้านั้นเคยมีข่าวการเข้าถือหุ้นของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ที่เกิดข้อถกเถียง คัดค้านบ้างว่าผิดจริยธรรม เพราะการศึกษาไม่ควรมีเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ความจริงก็คือความจริง.. เป็นความจริงในโลกของ ทุนนิยม

เป็นข่าวเล็กๆ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาท่ามกลาง การจัดเก็บภาษีที่ดินรูปแบบใหม่ ที่กำลังสร้างความปั่นป่วนตามสำนักงานเขตต่างๆ นั่นคือโรงเรียนกวดวิชา โรงเรียนเอกชนนอกระบบ ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีที่ดิน เช่นเดียวกับโรงเรียนเอกชนทั่วไป

สะท้อนความเหลื่อมล้ำชัดเจน จนผู้ประกอบการโรงเรียนเอกชนนอกระบบ "รู้สึกน้อยใจ" กับเกณฑ์การจัดเก็บภาษีที่ดินที่ แต่ก็มีคำถามเกิดขึ้นทันทีว่า โรงเรียนกวดวิชา" ควรได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินหรือไม่?

โรงเรียนกวดวิชา เป็นส่วนหนึ่งของความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาทุกวันนี้ ใช่หรือไม่? เป็นคำถามที่ตามมาพร้อมกับ ข้อเรียกร้องของ ผู้ประกอบการโรงเรียนกวดวิชา เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเขาหารายได้ จากความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นและฐานะของครอบครัวที่มีบุตรหลานที่อยู่ในวัยเรียน

จริงอยู่ว่าความเท่าเทียมไม่เคยมีอยู่จริง การส่งลูกเรียนกวดวิชาเป็นทางเลือกขึ้นอยู่ตามกำลังทรัพย์ของแต่ละครอบครัว แต่ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว มีสาเหตุผลอื่นใด มาสนับสนุนว่า โรงเรียนกวดวิชา ควรได้ยกเว้นภาษีที่ดิน หรือไม่

ร่าง พ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... ได้ระบุให้โรงเรียนเอกชนได้รับการลดหย่อนภาษี 90 % ซึ่งต่อมาได้กำหนดให้มีเพียงโรงเรียนเอกชนในระบบ และ โรงเรียนเอกชนนอกระบบประเภทปอเนาะ ตาฎีกา และสอนศาสนาเท่านั้น แต่ไม่รวมไปถึงโรงเรียนเอกชนนอกระบบ อีก 4 ประเภทที่เหลือ ได้แก่ วิชาการ, วิชาชีพ, ศิลปะและกีฬา และสร้างเสริมทักษะชีวิต

มาฟังเหตุผลทางด้านของ "อนุสรณ์ ศิวะกุล" นายกสมาคมครู และผู้บริหารโรงเรียนกวดวิชา บอกว่า แท้จริงโรงเรียนกวดวิชาได้กำไรเพียง 20%

"อย่าตัดสินไปว่าโรงเรียนกวดวิชามีรายได้ดีโรงเรียนกวดวิชาบางแห่งอยู่ในทำเลทอง เช่นย่านสยาม สีลม สาทร ก็จะถูกเก็บภาษีสิ่งปลูกสร้างตามมูลค่าที่ดิน 0.3%บางแห่งต้องเสียในหลักแสนบาท ต่อปี ซึ่งรายจ่ายจากต้นทุนด้านภาษีที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการก็ต้องผ่องถ่ายมายังผู้บริโภค ทำให้ค่าเทอมในการกวดวิชาก็สูงขึ้น ทั้งนี้โรงเรียนกวดวิชา เป็นโรงเรียนเอกชนนอกระบบในสัดส่วน 5 ถึง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น"

ตัวแทนผู้ประกอบการโรงเรียนกวดวิชา บอกอีกว่า เมื่อเทียบกับโรงเรียนเอกชนที่เป็นโรงเรียนนานาชาติซึ่งได้รับการลดหย่อนภาษีถึง 90% ซึ่งมีกำไรมากกว่าโรงเรียนกวดวิชาเล็กๆ ตรงนี้จึงแสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจน ที่โรงเรียนกวดวิชา ไม่ได้รับการลดหย่อนภาษี ต่างจากโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งได้กำไรมากกว่า และได้ลดหย่อนภาษี

และนี่ก็เป็นเหตุผลให้ผู้ประกอบการโรงเรียนกวดวิชาต้อง เข้าพบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อร้องขอความเป็นธรรม

ในเนื้อในจดหมายถึงรัฐมนตรีช่วยฯ ระบุว่า "เป็นที่ประจักษ์ว่าโรงเรียนเอกชนนอกระบบที่ดำเนินการขออนุญาต อย่างถูกต้องกับกระทรวงศึกษาธิการใน 4 ประเภทนี้ มีส่วนสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีศักยภาพมากขึ้น เกิดทักษะทั้งด้าน วิชาการและวิชาชีพ เป็นการเสริมอาชีพให้ประชาชนได้มีงานทำตรงกับความต้องการของตลาดอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการสร้างงานสร้างอาชีพตลอดมา และได้ดำเนินการจัดการศึกษาอย่างเต็มรูปแบบต่อเนื่อง โดยไม่ได้รับการอุดหนุนใดๆ จากภาครัฐ

ปัจจุบัน ยังต้องต่อสู้กับปัญหา ที่เกิดจากสภาวะเศรษฐกิจและจำนวนผู้เรียนทั้งระบบที่ลดลง ทำให้มีโรงเรียนเอกชนนอกระบบจำนวนมากอยู่ในภาวะที่ใกล้จะปิดตัวลง เพราะรายได้ไม่พียงพอกับรายจ่าย ดังนั้นการที่ไม่ได้รับการพิจารณาให้ลดหย่อนภาษีในครั้งนี้ จึงเป็นการช้ำเติมให้โรงเรียนเหล่านี้ ประสบปัญหามากยิ่งขึ้น"

สำหรับโรงเรียนกวดวิชา ในความรู้สึกของคนทั่วไปคือการทำธุรกิจ ไม่ใช่การกุศล แต่โลกทุกวันนี้การศึกษาก็ไม่ต่างอะไรจากธุรกิจ ก่อนหน้านั้นเคยมีข่าวการเข้าถือหุ้นของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ที่เกิดข้อถกเถียง คัดค้านบ้างว่าผิดจริยธรรม เพราะการศึกษาไม่ควรมีเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ความจริงก็คือความจริง.. เป็นความจริงในโลกของ "ทุนนิยม"

#วชิรวิทย์ #วชิรรายวัน #Vajiravit #VajiravitDaily #Nation #NationTV22

logoline