svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ถ้าไม่มีสัญญาซื้อขายไฟ.. ก็ไม่เกิดเขื่อนกั้นกลางโขง

14 ธันวาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชีวิตสองคนสองฝั่งแม่น้ำโขงเป็นชีวิตที่ไร้ทางเลือกเมื่อหาปลาไม่ได้ก็ไปขายยาดีกว่า ความวัวยังไม่ทันหายความควายก็เข้ามาแทรกกำลังจะมีการสร้างเขื่อนหลวงพระบางซึ่งก็จะเข้าทำนองเดิม ปรึกษาหารือล่วงหน้าเพื่อรับฟังผลกระทบเพื่อเป็นพิธีกรรมเท่านั้น

"หากมีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตามแผนที่วางไว้ครบทั้งหมด จะทำให้ตะกอนดินบริเวณปากแม่น้ำโขงเหลืออยู่ 0%" ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ประเมินผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ในงานเสวนา จากท่วมหน้าแล้ง แห้งหน้าฝน สู่โขงสีคราม : ปัญหา ผลกระทบ และความรับผิดชอบ

ถ้าไม่มีสัญญาซื้อขายไฟ.. ก็ไม่เกิดเขื่อนกั้นกลางโขง



ปัญหาระบบนิเวศแม่น้ำเปลี่ยนแปลงเสียหายหนักจากการสร้างเขื่อน เป็นประเด็นที่ "วชิรวิทย์รายวัน" ให้ความสนใจติดตามต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อไม่นานนี้ แม่น้ำโขงกลายเป็นสีคราม น้ำใสๆ นักวิชาการบอกว่าตะกอนแม่น้ำโขงเริ่มมีปัญหาแล้ว ส่งผลกระทบต่อปลา ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว 5 ชนิด จาก 900 ชนิด และการขึ้นลงของน้ำที่ไม่ปกติส่งผลต่อการวางไข่ของนก เช่น นกนางแอ่นทุ่งเล็ก ที่จังหวัดบึงกาฬ รังไข่ถูกน้ำท่วม คำถามคือเราจะทนดูดายต่อความหายนะทางระบบนิเวศเช่นนี้หรือ

"อำนาจ ไตรจักร์" ผู้แทนชุมชนจังหวัดนครพนม บอกว่า ความผันผวนของแม่น้ำโขงที่ทำให้หลายคนเข้าใจว่า ทำให้ปลาหลงฤดู แต่ความจริงแล้วปลาไม่ได้หลงฤดู เป็นการอพยพหนีตายจากน้ำตื้นไปสู่น้ำลึก เมื่อปลาหนีตายไปสู่ร่องน้ำลึกทำให้ชาวประมงไปจับขึ้นมาง่ายขึ้น นอกจากนี้น้ำที่ตื้นเขินส่งผล ประเพณีการแข่งเรือสูญหายไป ขณะเดียวกันเกษตรกรริมน้ำโขงเริ่มเห็นได้ชัดว่า หน้าดินขาดความอุดมสมบูรณ์ มีแต่ตะกอนทราย ไม่มีตะกอนดินทับถมทำให้ปลูกอะไรไม่ได้ ล่าสุดแม่น้ำโขงจะใส่จริงแต่เมื่อลงไปเล่นแล้วเกิดอาการคัน

ผลกระทบที่เริ่มปรากฎให้เห็นไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายของ ภาคประชาคม ที่ติดตามและคัดค้านโครงการมาตั้งแต่ต้น "อ้อมบุญ ทิพย์สุนา" เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน บอกว่าปัญหาการสร้างเขื่อน ภาคประชาชนได้เข้าร่วมเวทีปรึกษาหารือล่วงหน้าก็จริง แต่ข้อกังวบที่เคยเสนอไปไม่ได้รับการแก้ไข ยกตัวอย่างกรณีเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งพูดมาเป็น 10 ปีแล้วกระทั่งสร้างเสร็จ เราเคยถามไปแล้วในถึงผลกระทบในทุกๆด้าน และวันนี้ผลกระทบที่เคยแสดงความกังวลไว้ก็เกิดขึ้นจริง คำถามคือใครเป็นผู้รับผิดชอบ กฟผ. ช.การช่าง หรือรัฐบาล

"กระบวนการศึกษาผลกระทบ ที่ผ่านมาเพียงพอหรือไม่ เมื่อความจริงแล้วรู้อยู่ว่าเมื่อสร้างเขื่อนตะกอนจะหาย รู้อยู่แล้วว่าปลาจะมีผลกระทบ รู้อยู่แล้วแล้วไง?" อ้อมบุญกล่าว

และมากกว่านี้ยังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ในฐานะที่เป็นแกนนำในการเรียกร้องต่อต้านก็มีกรณีหน่วยงานความมั่นคงเข้ามาตรวจสอบพูดคุย

"ชีวิตสองคนสองฝั่งแม่น้ำโขงเป็นชีวิตที่ไร้ทางเลือกเมื่อหาปลาไม่ได้ก็ไปขายยาดีกว่า ความวัวยังไม่ทันหายความควายก็เข้ามาแทรกกำลังจะมีการสร้างเขื่อนหลวงพระบางซึ่งก็จะเข้าทำนองเดิม ปรึกษาหารือล่วงหน้าเพื่อรับฟังผลกระทบเพื่อเป็นพิธีกรรมเท่านั้น"

"มนตรี อุดมพงษ์" ผู้สื่อข่าว 3 มิติ ที่ลงพื้นที่ทำข่าวความเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขง บอกว่า เมื่อแม่น้ำโขงลดระดับลง ก็กระชากเอาน้ำในแม่น้ำสาขาลงมาด้วย เกิดภาวะน้ำแล้งในลำน้ำสาขา

นอกจากนี้ยังอาจมีอาชญากรรมเกิดขึ้นหลังจากน้ำโขงตื้น รถยนต์สามารถลงมาจอดเทียบกับเรือกลางแม่น้ำโขงได้ มีการขนถ่ายสินค้าที่ไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าสินค้าดังกล่าวนั้นคือสินค้าอะไร

ข้อมูลที่ มนตรีได้ระหว่างการทำข่าวทำให้รู้ว่าการตัดสินใจสร้างเขื่อน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสมอไป

ถ้าไม่มีสัญญาซื้อขายไฟ.. ก็ไม่เกิดเขื่อนกั้นกลางโขง



รายงานข่าวจากวิทยุเสรีประเทศลาว ระบุว่า สร้างเขื่อนปากแบงและเขื่อนปากลาย ยังไม่สามารถสร้างได้เพราะว่ามีผลกระทบ ประชาชนฝั่งไทย เขต จ.เชียงรายและบางส่วนใน สปป.ลาว แต่อีกเหตุผลหนึ่งก็คือผู้พัฒนาโครงการกำลังเจรจาเรื่องสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งยังตกลงกันไม่ได้ นั่นหมายความว่าการสร้างเขื่อนจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ส่วนหนึ่งอยู่ที่สัญญาซื้อขายไฟฟ้า

จี้ 6 แบงค์รับผิดชอบแม่น้ำโขง

"มนตรี จันทวงศ์" กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง บอกว่า สัญญาซื้อขายไฟฟ้า เป็นเหมือนแบงก์การันตี ที่ธนาคารจะใช้ตัวนี้ในการปล่อยเงินกู้ กรณีตัวอย่างเขื่อนไซยะบุรีที่มี 6 ธนาคารไทย ปล่อยเงินกู้เพื่อก่อสร้างโครงการนั้นเมื่อมีผลกระทบคงต้องถามหาความรับผิดชอบจาก 6 ธนาคารดังกล่าว โดยนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกกรรมการ และกรรมการอิสระ ธนาคารไทยพาณิชย์ เคยตั้งทีมไปศึกษาผลกระทบการปล่อยเงินกู้เพื่อสร้างเขื่อน แล้วผลออกมาว่าเป็นผลกระทบที่ยอมรับได้ ดังนั้นธนาคารจึงต้องเข้ามารับผิดชอบกับผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วย

ส่วนเอกชนที่ก่อสร้างโครงการ อย่าง บมจ.ช.การช่าง มักพูดเสมอว่า เขื่อนก่อสร้างตามกฎของ MRC ไม่มีใครทำอะไรได้เขาได้เลย แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเห็นเลยคือหน่วยงานของรัฐอย่าง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ซึ่งไม่ได้มีท่าทีว่าจะหาทางแก้ไขปัญหาได้ทำได้แต่เพียงออกมาแจ้งเตือนเท่านั้น

ความขัดแย้งจัดสรรทรัพยากร

นักข่าวที่ทำข่าวผลกระทบโครงการเขื่อนใหญ่กั้นแม่น้ำโขง "มนตรี อุดมพงษ์" ยังตั้งข้อสังเกตว่า มักมีการให้ข้อมูล 2 ชุด ก่อให้เกิดความเห็นไม่ตรงกัน เกิดความแตกแยก เมื่อเกิดความแตกแยก ก็ทำให้เกิดความอ่อนแอ โครงการอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้

ขณะที่ดร.สุริชัย หวันแก้ว ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า วิธีการแก้ปัญหาแม่น้ำโขงยังคงใช้ลักษณะภูมิรัฐศาสตร์ แบบโบราณ คือเขตอธิปไตยของใคร ก็ไม่เข้าไปยุ่งก้าวก่ายกัน แต่ละประเทศที่มุ่งเน้นไปที่พลังงาน และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่าที่จะมองเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ขาดการนำเอาข้อมูลจากท้องถิ่นไปตัดสินใจ

"และที่สำคัญคือเรื่องของการทูต ประเทศท้ายน้ำค่อนข้างมีความเกรงใจประเทศจีน เพราะหากมีการปิดประตูน้ำขึ้นมา ด้านล่างก็จะเดือดร้อนทั้งหมด" ดร.สุริชัย กล่าว

และบอกว่า รัฐบาลไทยเองก็ไม่ได้ให้น้ำหนัก เกี่ยวกับผลกระทบในแม่น้ำโขงมากนัก จะมุ่งเน้นไปที่ด้านพลังงานมากกว่า เกิดเป็นช่องช่องว่างทางนโยบาย ที่ปล่อยให้เกิดการสร้างเขื่อน เพื่อตอบสนองนโยบายทางเศรษฐกิจ

เปิดชื่อ 6 แบงก์ไทยปล่อยกู้เขื่อนไซยะบุรี

1) ธนาคารกรุงเทพ2) ธนาคารไทยพาณิชย์3) ธนาคารกรุงไทย4) ธนาคารกสิกรไทย5) ธนาคารทิสโก้6) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #Vajiravit #VajiravitDaily #Nation #NationTV22

logoline