svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

นักกฎหมายชี้ "ยุบพรรค-ตัดสิทธิ์" ปาร์ตี้ลิสต์จบ

14 ธันวาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การยุบพรรคการเมือง แล้วตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคที่เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อยู่ด้วย กำลังกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันในหมู่นักกฎหมาย การคำนวณ "ส.ส.พึงมี" ตามกลไกของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ต้องบอกว่าคนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ ก็ปวดหัวกันหนักอยู่แล้ว แต่นี่มีกรณีเฉพาะขึ้นมาอีก ซึ่งกฎหมายไม่ได้เขียนเอาไว้ชัดเจน ก็ต้องอาศัยการตีความ

ปัญหานี้กำลังจะเกิดกับพรรคอนาคตใหม่ กรณีศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคตามที่ กกต.ชงคำร้องขึ้นไป ซึ่งโทษตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 72 คือ ยุบพรรค และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค แถมด้วยโทษจำคุก
คำถามคือ กรรมการบริหารพรรคที่เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หรือ "ปาร์ตี้ลิสต์" ถ้าถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.  พรรคอนาคตใหม่จะยังสามารถเลื่อนรายชื่อในลำดับถัดไปของบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ขึ้นมาเป็น ส.ส.แทนได้หรือไม่  ซึ่งในส่วนของพรรคอนาคตใหม่ มีกรรมการบริหารพรรค 10 คนจาก 15 คนที่เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อยู่
อาจารย์คมสัน โพธิ์คง นักกฎหมายชื่อดัง ซึ่งเคยทำงานในสำนักงาน กกต.ด้วย บอกกับ "เนชั่นทีวี" ว่า โดยส่วนตัวคิดว่า ตำแหน่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิ์  ต้องสิ้นสภาพไปพร้อมกับตัวกรรมการเหล่านั้นด้วยเลย แต่ปัญหาที่จะตามมาก็คือ จำนวน ส.ส.เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรจะขาดไปจากจำนวนเต็ม เพราะกรณีนี้ไม่มีการเลือกตั้งซ่อม หรือเลือกตั้งใหม่ 
สมมติกรณีพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ จำนวน ส.ส.ก็จะหายไป 10 ที่นั่ง และหายไปตลอดอายุของสภา กลายเป็นปัญหาขึ้นมาอีก เพราะอาจขัดรัฐธรรมนูญได้

แนวทางที่เป็นไปได้ ซึ่ง อาจารย์คมสัน มองว่าอาจจะสามารถผ่าทางตัน ก็คือ
1. กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ที่เป็น ส.ส.อาจจะชิงลาออกทั้งหมด เพื่อเลื่อนลำดับปาร์ตี้ลิสต์ขึ้นมาก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย (กรณีโดนยุบพรรค) ก็จะสามารถรักษาจำนวนเก้าอี้ ส.ส.เอาไว้ได้ แต่ผลที่จะตามมาก็คือ พรรคอนาคตใหม่อาจถูกวิจารณ์อย่างหนัก และมองว่าหวั่นไหวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คล้ายๆ กับยอมรับกลายๆ ว่ากระทำผิดจริง
2. กกต.คำนวณจำนวน "ส.ส.พึงมี" ใหม่  เพื่อหา ส.ส.มาแทน 10 ที่นั่งที่หายไปของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งวิธีการนี้จะรักษาจำนวน ส.ส.เท่าที่มีอยู่ของสภาเอาไว้ได้ แต่อาจจะส่งผลกระทบกับพรรคการเมืองหลายพรรคที่จำนวน ส.ส.ต้องเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน
3. รอลุ้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่อาจจะเขียนทางออกเอาไว้  แต่ประเด็นนี้เกิดขึ้นยาก เพราะศาลจะไม่วินิจฉัยเกินคำร้อง
สรุปก็คือ ขนาดนักกฎหมายยังมึน ไม่สามารถฟันธงได้ สุดท้ายคงต้องรอ กกต.เคาะว่าจะเลือกแนวทางไหน อย่างไร

logoline