svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

เกษตรพร้อมรับมือแมลงดำหนามมะพร้าว

13 ธันวาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เตือนเกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงปลูกมะพร้าวสม่ำเสมอ จะป้องกันศัตรูพืชเข้าทำลายทันเวลา ช่วยลดความเสียหายผลผลิตได้ในช่วงฤดูแล้ง สภาพอากาศแห้งจะเหมาะสมกับการระบาดของแมลงดำหนามในมะพร้าว กรมส่งเสริมการเกษตรแนะเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวในทุกภาคของประเทศไทยโดยเฉพาะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตมะพร้าวที่สำคัญ ต้องหมั่นสำรวจแปลงปลูกมะพร้าวอย่างต่อเนื่อง เมื่อพบการเข้าทำลายของศัตรูพืชจะแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เพื่อรับมือกับการระบาดของแมลงดำหนามในช่วงฤดูแล้ง และลดความเสียหายต่อผลผลิตมะพร้าวของเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดที่มีแหล่งปลูกมะพร้าว ส่งเจ้าหน้าที่กลุ่มอารักขาพืชลงพื้นที่สำรวจการเข้าทำลาย และชี้แจงทำความเข้าใจ พร้อมให้คำแนะนำในการดูแลสวนมะพร้าวให้กับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนมะพร้าว ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุพรรณบุรี และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดชลบุรี ดำเนินการผลิตขยายพ่อแม่พันธุ์แตนเบียนแมลงดำหนามมะพร้าวสนับสนุนให้กับศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ที่มีศักยภาพในพื้นที่ เพื่อนำไปผลิตขยายและมอบให้กับเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวที่มีพื้นที่ระบาดของแมลงดำหนามนำไปปล่อยควบคุมการระบาดเป็นระยะๆ แล้ว ซึ่งแตนเบียนแมลงดำหนามชนิดนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรเคยดำเนินการผลิตและปล่อยเพื่อควบคุมการระบาดของแมลงดำหนามอย่างได้ผลมาแล้วในพื้นที่อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สามารถช่วยลดความเสียหายของผลผลิตมะพร้าวได้ดี แต่เนื่องจากวิธีการผลิตค่อนข้างยุ่งยากจึงทำให้เกษตรกรผลิตได้น้อย ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.) จึงต้องดำเนินการผลิตขยายเพื่อสนับสนุนให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอให้เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวหมั่นสำรวจแปลงปลูกมะพร้าว หากพบการเข้าทำลายของแมลงดำหนามระยะแรก จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันสถานการณ์ และลดความเสียหายต่อผลผลิตมะพร้าวได้

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับ "แมลงดำหนาม" ปัจจุบันถือว่าเป็นแมลงศัตรูมะพร้าวประจำถิ่น    พบการเข้าทำลายมะพร้าวได้ตลอดทั้งปี โดยจะระบาดรุนแรงในช่วงฤดูแล้ง (เดือนพฤศจิกายน เดือนเมษายน) โดยทั้งตัวหนอนและตัวเต็มวัยของแมลงดำหนามมะพร้าวจะซ่อนตัวในใบอ่อนและกัดกินยอดอ่อน โดยเฉพาะยอดที่ยังไม่คลี่ ทำให้ยอดอ่อนของมะพร้าวชะงักการเจริญเติบโต หากต้นมะพร้าวถูกทำลายรุนแรงติดต่อกัน ทำให้ทางใบที่ถูกทำลายแห้งกลายเป็นสีน้ำตาล มองเห็นเป็นสีขาวโพลนชัดเจน หรือที่ชาวสวนมะพร้าวมักเรียกว่า "โรคหัวหงอก" หากเกษตรกรพบการระบาดไม่รุนแรง สามารถใช้วิธีตัดยอดที่ถูกแมลงดำหนามทำลายออกแล้วนำไปทำลายนอกแปลงปลูก หรือปล่อยแมลงหางหนีบ หรือแตนเบียนแมลงดำหนามมะพร้าว หรือใช้เชื้อราเขียวเมตตาไรเซียม ช่วยควบคุมการระบาดได้ ส่วนกรณีพบการระบาดของแมลงดำหนามในระดับรุนแรง ให้เกษตรใช้สารเคมีตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ มะพร้าวต้นเตี้ยใช้สารเคมี cartap hydrochloride 4% GR อัตรา 30 กรัม/ต้น ห่อใส่ถุงผ้าเหน็บไว้ที่ยอดมะพร้าว จะมีประสิทธิภาพช่วยป้องกันกำจัดแมลงดำหนามได้นาน 1 เดือน สำหรับมะพร้าวต้นสูงให้ใช้สารเคมี emamectin benzoate 1.92% EC ฉีดเข้าลำต้น อัตรา 50 ซีซี/ต้น จะมีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดแมลงดำหนามได้นานไม่น้อยกว่า 2 เดือน

logoline