svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

เทรนด์โปรตีนจากพืชมาแรง

13 ธันวาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ชี้เทรนด์การบริโภคโปรตีนจากพืชแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์กำลังมาแรง ถือเป็นสินค้าดาวรุ่งตัวใหม่ แนะผู้ผลิต ผู้ส่งออก ศึกษา และวางแผนผลักดันส่งออก "ทูตพาณิชย์เยอรมนี" ยันมีการผลิตสินค้าที่ใช้โปรตีนจากพืชเพิ่มขึ้น รวมถึงโปรตีนจากแมลง ส่วนในแคนาดาพบมาแรงไม่แพ้กัน เหตุคนนิยมจากการห่วงใยเรื่องสุขภาพ ปกป้องสิ่งแวดล้อม

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่าได้รับรายงานจากผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศหรือทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆเกี่ยวกับสถานการณ์และทิศทางสินค้าอาหารที่กำลังมาแรงโดยพบว่าสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคมังสวิรัติหรือกลุ่มที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์(กลุ่มวีแกน) และสินค้าที่ใช้โปรตีนจากพืชมาทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์กำลังมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการที่ผู้บริโภคให้ความนิยมบริโภคเพิ่มมากขึ้น จึงกลายเป็นสินค้าดาวรุ่งและเป็นสินค้าตัวใหม่ที่มีโอกาสสำหรับการส่งออกของไทย ซึ่งกรมฯจะมีการติดตามแนวโน้มที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด และนำมารายงานให้ผู้ผลิตผู้ส่งออกของไทย ได้ศึกษาและหาโอกาสในการขยายตลาดต่อไป

นายวิรจิต สุวรรณประดิษฐ์ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน เยอรมนีกล่าวเสริมว่า จากการเข้าไปสำรวจตลาดนวัตกรรมอาหารภายในงานแสดงสินค้าอาหาร Anugaในเมืองโคโลญจ์เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า สินค้าอาหารที่ใช้โปรตีนจากพืชมาทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีการนำมาผลิตเป็น นม เนื้อสัตว์ ไส้กรอก เนื้อเบอเกอร์ไข่เหลวที่ทำจากถั่วเขียว และเบคอนทำจากเห็ด เป็นต้นโดยกลุ่มวีแกนเป็นกลุ่มบริโภคหลัก

นอกจากนี้ ไม่ใช่เพียงโปรตีนจากพืชเท่านั้นที่จะนำมาใช้ทดแทนเนื้อสัตว์อย่างไก่ หมู หรือเนื้อวัว แต่โปรตีนจากแมลง เช่นจิ้งหรีด หนอนนก ที่นำมาใช้ทดแทนเนื้อสัตว์ ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กันเพราะเป็นสินค้าที่มีนวัตกรรม ช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อม และมีความอร่อย มีโปรตีนสูงโดยมองกันว่าจะเป็นโปรตีนแห่งอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีหลายบริษัทที่เริ่มผลิตออกจำหน่ายแล้ว เช่นเนื้อเบอเกอร์ที่มีส่วนผสมของโปรตีนจากหนอนนก ผักขม ขมิ้น และบีทรูทมีวางจำหน่ายในห้าง Coop ในสวิตเซอร์แลนด์ และกำลังจะถูกนำไปจำหน่ายในเยอรมนีและยังมีการผลิตโปรตีน Bar จากแป้งจิ้งหรีด หนอนนก และจิ้งหรีดกรอบผสมถั่วต่างๆวางจำหน่ายเพิ่มมากขึ้นด้วย

สำหรับโอกาสของไทย พบว่า ผู้ผลิต ผู้ส่งออกที่ปลูกพืชโปรตีน หรือเพาะเลี้ยงแมลง ควรที่จะศึกษาแนวโน้มของตลาดและหาทางผลักดันการส่งออก โดยสามารถส่งออกทั้งสินค้าที่ผลิตเป็นอาหารสำเร็จรูปแล้วหรือส่งออกเป็นวัตถุดิบ เพื่อให้ผู้ซื้อ ผู้นำเข้า นำไปผลิตเป็นสินค้าต่อ

ด้านนายธนกฤต เหลืองอาสนะทิพย์ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต แคนาดา กล่าวว่าในตลาดแคนาดา สินค้าที่ใช้ธัญพืชมาผลิตทดแทนเนื้อสัตว์ หรือโปรตีนจากพืชได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทผู้ผลิตในแคนาดาหลายรายรวมถึงบริษัทอาหารชั้นนำของโลก ได้หันมาลงทุนวิจัย ทำการผลิตและจำหน่ายสินค้าในกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่สูงขึ้น แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่บูมอย่างที่คิดแต่มีการขยายตัวอย่างช้าๆ และจะเพิ่มขึ้นในอนาคตเพราะคนเริ่มมองหาสินค้าที่จะมาทดแทนการบริโภคเนื้อสัตว์ ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพและการปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ผลิต ผู้ส่งออกไทยควรจะศึกษาอย่างจริงจังในเรื่องของโอกาสเนื้อทางเลือก ที่ผลิตจากธัญพืช เพราะมีความต้องการบริโภคจากกลุ่มมังสวิรัติเพิ่มขึ้นโดยในแคนาดามีถึง 10%ของประชากรทั้งหมด และในโลกตะวันตก ก็มีผู้บริโภคกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น

"จากกระแสดังกล่าวที่คนหันมาบริโภคโปรตีนจากธัญพืชกันมากขึ้น น่าจะสร้างโอกาสทางการค้าให้กับไทยเพราะแคนาดาไม่มีข้อจำกัดการนำเข้าสินค้าอาหารที่ผลิตจากธัญพืชจึงน่าที่จะเป็นสินค้าศักยภาพตัวใหม่ของไทยในอนาคตหากมีการพัฒนามุ่งเน้นในเรื่องคุณสมบัติทางโภชนาการที่ดีต่อร่างกายควบคู่ไปกับการพัฒนารสชาติที่ให้มีรสชาติใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ให้มากที่สุดก็จะยิ่งช่วยส่งเสริมให้ผู้บริโภคยอมรับและหันมาบริโภคเพิ่มขึ้นและส่งผลดีต่อการส่งออกเพิ่มขึ้น"นายธนกฤตกล่าว

สำหรับสินค้าที่ใช้โปรตีนจากพืชมาผลิตในตลาดแคนาดาพบว่า มี 4 กลุ่ม ได้แก่1.คาโนล่าเป็นธัญพืชที่ส่วนใหญ่นำมาผลิตน้ำมันพืชและอาหารสัตว์เนื่องจากมีคุณสมบัติปริมาณสารโปรตีนที่สูง มีกรดอะมิโนและสาร Methionine ซึ่งมีสรรพคุณช่วยบรรเทาการอักเสบของเซลล์ในร่างกายและสาร Cysteine ที่รักษาความสมดุลของแร่ธาตุสารอาหารในร่างกายซึ่งเป็นสารอาหารที่พืชตระกูลถั่วอื่นๆ ไม่มีโดยนักวิทยาศาสตร์อ้างว่าหากมีการผสมกันระหว่างถั่ว Pea และ Canola ก็จะมีสารอาหารโปรตีนที่ใกล้เคียงกับนมวัว

2.กัญชง (HEMP) มีสารอาหารกรดอะมิโนที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่า10 ชนิด อาทิ Omega3-6ที่เมื่อมาผลิตเป็นเนื้อสัตว์ทางเลือกแล้ว จะมีรสชาติหรือ Texture คล้ายถั่วอีกทั้งยังไม่เคยมีการรายงานว่ามีผู้บริโภครายใดแพ้กัญชง และทุกวันนี้ชาวแคนาดาหันมาบริโภคเมล็ดกัญชงมากขึ้นโดยใช้เป็นส่วนหนึ่งของอาหาร เครื่องดื่ม หรือผู้ผลิตอาหารทำมาเป็นส่วนผสมในสินค้าอาทิ Chocolate Bar , Nutrition Bar ที่วางจำหน่ายทั่วไปในร้าน Health Food จนถึงห้างทั่วไปอย่าง Wal-Mart , Costco

3.Lentil เป็นถั่วที่ปลูกอย่างแพร่หลายในแคนาดาที่เป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกหลักจากแคนาดาไปยังประเทศเอเชียใต้ เช่น อินเดียศรีลังกา โดยมีคุณสมบัติทางโภชนาการที่อุดมไปด้วยไวตามินบี แมกนิเซียม สังกะสีและโปแตสเซียม อีกทั้งยังมีรสชาติที่จืด ง่ายต่อการปรุงแต่งกลิ่นสี รสเพื่อผลิตเป็นสินค้าอาหารชนิดอื่นได้

4.ถั่วเขียว ได้เริ่มเป็นที่นิยมในอเมริกาเหนือถูกนำมาใช้แทนไข่ไก่ และถูกใช้เป็นวัตถุดิบทำแฮมเบอเกอร์เนื้อเทียมหรือนำมาผลิตผสมในเส้นพาสต้าโดยถั่วเขียวมีประโยชน์ในเรื่องของมีระดับโปรตีนที่สูงช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ควบคุมโรคเบาหวาน มีสาร Antioxidant ควบคุมระดับโคเลสเตอรอลในเลือด

logoline