svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

6 ประเด็นย้อนแย้ง "เลิกเกณฑ์ทหาร"

09 ธันวาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"พรรคอนาคตใหม่" โดยเฉพาะ "นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" กำลังเดินเกมนอกสภาเต็มรูปแบบ ด้วยการลุยรณรงค์ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เอาใจเด็กและเยาวชนในยุคดิจิทัล....

ถ้าความจำไม่สั้น เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ พรรคอนาคตใหม่พร้อมกับอีก 6 พรรคฝ่ายค้านที่เหลือ ยังเดินสายรณรงค์ให้แก้รัฐธรรมนูญอย่างเอาเป็นเอาตายกันอยู่เลย ถึงขั้นเตรียมจะเข้าพบ ส.ว. และพบนายกรัฐมนตรีเพื่อหาการสนับสนุน ถือธงนำในการแก้ไขกฎหมายสูงสุดของประเทศ แถมยังอ้างว่ากติกาพิกลพิการแบบนี้ ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นเพื่อฟื้นเศรษฐกิจได้
แต่ผ่านมาถึงวันนี้ สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป นายธนาธรเสี่ยงโดนโทษจำคุกในคดีถือครองหุ้นสื่อ รู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติ แต่ยังลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. (ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151) ขณะที่พรรคอนาคตใหม่เองก็เสี่ยงถูกยุบ หรือกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ์ยกพวง จากการตีความกฎหมายแบบพิสดารว่าพรรคการเมืองสามารถกู้เงินมาใช้จ่ายทำกิจกรรมทางการเมืองได้
งานนี้จึงไม่มีอะไรซับซ้อน เมื่ออนาคตของพรรคและของนายธนาธรเร่งด่วนกว่าอนาคตของชาติ ก็เลยต้องบ่ายหน้าออกจากสภา ปลุกกระแสยกเลิกการเกณฑ์ทหาร โดยใช้ระบบสมัครใจทั้งหมดแทน
เรื่องแบบนี้ต้องบอกว่าได้ใจคนรุ่นใหม่ เพราะแน่นอนว่าไม่มีใครอยากไปเกณฑ์ทหาร ต้องไปจับใบดำ-ใบแดง ต้องฝึกหนักเป็นเวลายาวนานถึง 2 ปี การรณรงค์เรื่องนี้จึงน่าจะสร้างกระแสสนับสนุนได้ระดับหนึ่ง แต่ในทางการเมืองก็อาจมองได้ว่า กำลังจับคนรุ่นใหม่เป็นตัวประกัน เพื่อหวังผลอะไรหรือไม่
ย้อนดูเหตุผลที่พรรคอนาคตใหม่หยิบยกมาเพื่อยกเลิกการเกณฑ์ทหาร บวกกับโมเดล "สมัครใจ 100%" ที่เสนอแก้ไข พ.ร.บ.รับราชการทหารฯ ถือว่าย้อนแย้งกับข้อเท็จจริงมากพอสมควร โดยมีประเด็นที่น่าพิจารณาดังนี้
1. ข้อเสนอให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แล้วให้ใช้ระบบสมัครใจทั้งหมดแทน
- จริงๆ แล้วประเทศไทยไม่ได้ใช้ระบบเกณฑ์ทหาร 100% มานานหลายปี แต่มีทางเลือกให้กับชายไทยที่อายุถึงเกณฑ์หลายช่องทาง เช่น เรียน ร.ด. หรือเป็นนักศึกษาวิชาทหาร (นศท.) ซึ่งเปิดให้เรียนได้ทั้งนักเรียนในสายสามัญและสายวิชาชีพ โดยหากเรียนครบระยะเวลา 3 ปีการศึกษา ก็ไม่ต้องเกณฑ์ทหารเมื่ออายุครบ 21 ปี
- ระบบสมัครใจมีอยู่แล้วในปัจจุบัน โดยผู้ที่สนใจเข้าเป็นทหาร แต่ไมได้ผ่านหลักสูตรรักษาดินแดน (ร.ด.) ก็สามารถสมัครเป็นทหารได้เมื่ออายุครบเกณฑ์ แต่ปัญหาคือยอดการสมัครยังต่ำกว่ายอดกำลังพลที่กองทัพต้องการ คือ ต้องการแสนกว่านาย แต่ยอดสมัครอยู่ที่ราวๆ 4 หมื่นนายเท่านั้น
ฉะนั้นการให้ข่าวหรือสร้างกระแสด้านเดียวว่า ประเทศไทยใช้ระบบเกณฑ์ทหาร 100% จึงไม่เป็นความจริง เพราะมีตัวอย่างในหลายประเทศที่ประชากรชาย (บางประเทศผู้หญิงด้วย) ที่มีอายุถึงเกณฑ์ ต้องเป็นทหารทุกคน ไม่มีระบบเรียน ร.ด. หรือจับใบดำ-ใบแดง เช่น เกาหลีใต้ หรืออิสราเอล (ทุกคนต้องเป็นทหาร)
ขณะที่การใช้ระบบการจับ "ใบดำ-ใบแดง" ก็สะท้อนชัดอยู่ในตัวเองว่า ไม่ใช่การเกณฑ์ 100% แต่ยังมีช่องทางรอด หากจับได้ใบดำ ฉะนั้นจึงไม่ได้หมายความว่า ชายไทยทุกคนที่มีอายุครบ 21 ปี ต้องเป็นทหาร (คือเข้าระบบเกณฑ์ แต่อาจไม่ต้องเป็นทหารก็ได้)

2. การเกณฑ์ทหาร ทำให้ชายไทยที่ถูกเกณฑ์ต้องเสียเวลาทำมาหากินไปถึง 2 ปี กระทบกับครอบครัวที่ต้องสูญเสียสมาชิกในวัยทำงาน
- จริงๆ แล้วการเกณฑ์ทหาร ไม่ได้เกณฑ์ชายไทยให้ไปเป็นทหาร 2 ปีเท่ากันหมด แต่ยังมีเงื่อนไขอื่นๆ อีก เช่น หากจบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า จะมีระยะเวลาการเป็นทหารเพียง 1 ปี หรือ 6 เดือน / สะท้อนว่ากองทัพได้คำนึงถึงศักยภาพของบุคคลโดยอิงกับวุฒิการศึกษา ว่าบุคคลที่จบปริญญา อาจทำงานอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ สังคม และตัวเองได้มากกว่าการเป็นทหาร แต่ความจำเป็นที่ต้องผ่านการฝึกทหารก็ยังต้องมี เพื่อเตรียมพร้อมกำลังรบ (เหมือนกรณีการให้นักเรียนทั้งสายสามัญและสายอาชีพ เรียน ร.ด.)
- การเป็นทหารหลังถูกเกณฑ์ มีเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยง รวมๆ แล้วเกือบ 1 หมื่นบาทต่อเดือน แม้จะเป็นรายได้ที่ไม่มาก หากเทียบกับการทำงานอย่างอื่น แต่สำหรับคนที่ไม่มีงานทำอยู่แล้ว ย่อมหมายถึงการมีรายได้ส่งจุนเจือครอบครัว
3. เสนอให้มีการเกณฑ์ทหารได้เฉพาะในยามสงคราม
- จริงๆ แล้วการเกณฑ์ทหารเมื่อเกิดสงครามแล้ว ย่อมไม่ทันการณ์ เพราะหัวใจหลักของการทำสงครามตามแบบ คือความพร้อมของกำลังพล ทั้งการใช้อาวุธ การยอมรับระบบบังคับบัญชา และความเข้าใจในยุทธวิธี การฝึกจึงใช้เวลานาน ฉะนั้นการมีกำลังพลผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาฝึกทุกปี จึงทำให้มีความพร้อมมากกว่า เมื่อเกิดสงครามก็สามารถเรียกกำลังที่ผ่านการฝึกไปแล้วให้กลับมาฝึกทบทวนในระยะเวลาสั้นๆ ก็จะมีความพร้อมออกรบได้ทันที
4. ประเทศไทยไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดสงครามขนาดใหญ่ และการทำ "สงครามตามแบบ" มีน้อยลง
- จริงๆ แล้วการทำสงครามตามแบบและภัยคุกคามทางทหารยังมีอยู่ตลอด เมื่อไม่กี่ปีมานี้ไทยก็ยังมีปัญหาตามแนวชายแดนกับกัมพูชา จากการรื้อฟื้นคดีปราสาทพระวิหารในศาลโลก และปัจจุบันไทยก็ยังเผชิญปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ ซึ่งใช้ยุทธวิธีก่อการร้ายในเมือง จึงยังมีความจำเป็นต้องใช้กำลังพลในภารกิจรักษาความปลอดภัย
- แต่ก็แน่นอนว่าภัยคุกคามทางความมั่นคงเปลี่ยนรูปแบบไปมากจริง ฉะนั้นหลักสูตรการฝึกสำหรับทหารเกณฑ์จึงต้องเปลี่ยนไปตามรูปแบบของภัยคุกคามด้วย เช่น การเพิ่มทักษะความรู้ด้านสงครามไซเบอร์ เป็นต้น
5. การใช้ระบบสมัครใจ ทำให้ประหยัดงบประมาณมากกว่า
- จริงๆ แล้วการใช้ระบบสมัครใจ แล้วเพิ่มสวัสดิการต่างๆ ให้ รวมถึงเปิดช่องทางให้บรรจุเข้าเป็นทหารประจำการ มียศเลื่อนไหลได้ถึงพันโท (ตามข้อเสนอของพรรคอนาคตใหม่) อาจทำให้งบประมาณในส่วนนี้เพิ่มสูงกว่าระบบเกณฑ์ทหาร เพราะต้องดูแลกำลังพลไปตลอดหลายสิบปี และยังต้องปรับค่าตอบแทนไปตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมด้วย
- การใช้ระบบสมัครใจ แล้วเพิ่มสวัสดิการต่างๆ ให้ รวมถึงมีเส้นทางก้าวหน้าในชีวิตราชการ จะทำให้ขาดแคลนกำลังพลในการทำภารกิจพื้นฐานบางอย่าง เช่น การเข้าเวรยาม หรือการเดินลาดตระเวน เนื่องจากไม่มีกำลังพลใหม่ให้ผลัดเปลี่ยน เพราะเมื่อการเป็นทหารเริ่มจากการสมัครใจ คนที่เข้าระบบสมัครใจ ก็จะพร้อมเป็นทหารต่อไปเรื่อยๆ ไม่ยอมปลด กำลังพลประจำการก็จะมากขึ้น ทำให้ไม่มีอัตราในการรับสมัครใหม่ และเมื่อกำลังพลเติบโตขึ้น ก็จะไม่สามารถทำภารกิจอย่างเดิมได้ตลอด (ต้องปรับภารกิจไปตามยศและอายุ)
6. การเกณฑ์ทหารละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งการฝึก การลงโทษที่ร้ายแรง และการนำกำลังพลไปใช้ในภารกิจอื่นที่ไม่ใช่ของกองทัพ เช่น ไปเป็น "ทหารรับใช้" ตามบ้านผู้บังคับบัญชา
- ข้อนี้เป็นปัญหาที่มีน้ำหนักมากที่สุดจากข้อเสนอของพรรคอนาคตใหม่ แม้กองทัพจะยืนยันว่าไม่มีนโยบายนำกำลังพลไปใช้ในภารกิจอื่น แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า "ทหารเกณฑ์" หรือ "พลทหาร" เป็นกำลังส่วนหนึ่งที่ถูกนำไปใช้ในระบบอุปถัมภ์ และตอบแทนดูแลผู้บังคับบัญชา จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งบางส่วนมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่ด้วย
- ปัญหานี้เป็นปัญหาเร่งด่วนที่กองทัพต้องเร่งจัดการ และล้างวัฒนธรรมองค์กรแบบนี้ให้ได้ แม้จะมีข้อมูลยืนยันว่าเป็นกำลังพลส่วนน้อย ราวๆ 1% ของ "พลทหาร" ทั้งหมดก็ตาม
- ส่วนเรื่องการฝึก การเข้าเวรยาม หรือการตัดหญ้า ขุดลอกคูคลองในหน่วย ที่เรียกว่า "งานสุขาภิบาล" เป็นภารกิจที่มีระเบียบกฎหมายรองรับ เรียกพลทหารที่ทำหน้าที่เหล่านี้ว่า "พลบริการ" จะรับหน้าที่ดูแลสุขาภิบาล และการประกอบเลี้ยง ถือเป็นภารกิจหนึ่งของทหาร แต่หากมองว่างานแบบนี้ไม่ควรให้พลทหารทำ ก็อาจต้องจ้าง "เอาท์ซอร์ส" ซึ่งก็จะกระทบกับระบบงบประมาณ แต่ก็สามารถทำได้ เพียงแต่ไม่ใช่ทำทันที ต้องวางแผนปรับเปลี่ยนกันระยะหนึ่ง

ความจริง 2 ด้านของชีวิตทหารเกณฑ์
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ข้อเท็จจริงของชีวิตทหารเกณฑ์ มี 2 ด้านเสมอ พรรคการเมืองจึงไม่ควรหยิบเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งมาพูดเพื่อสร้างกระแส เช่น
- การกล่าวหาว่า ภารกิจเข้าเวรยาม การตัดหญ้า ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่จริงๆ แล้วการทำหน้าที่เหล่านี้เป็นการฝึกอย่างหนึ่ง แม้แต่นักเรียนเตรียมทหาร หรือนักเรียนนายร้อย ก็ต้องทำด้วยเช่นกัน เพราะถือว่าเป็นการลงแรงเพื่อให้เกิดความผูกพันกับหน่วย การทำให้ภูมิทัศน์ของหน่วยสวยงาม เป็นระเบียบ นำมาซึ่งความภาคภูมิใจ และฝึกความมีระเบียบวินัย
- การกล่าวหาว่าครอบครัวคนไทยไม่มีใครอยากให้ลูกเป็นพลทหาร จริงๆ แล้วมีตัวอย่างมากมายที่ตอนแรกครอบครัวไม่อยากให้เป็นทหาร แต่เมื่อผ่านการฝึก ทำให้มีวินัยมากขึ้น กลับไปเยี่ยมบ้าน พ่อแม่รู้สึกสบายใจและสนับสนุนให้ลูกเป็นทหารต่อไป เพราะลูกไม่นอนตื่นสาย มีภาวะผู้นำ บางคนเลิกยาเสพติดได้สำเร็จ ทำให้หลายครอบครัวอนุญาตให้ลูกสมัครสอบเป็นนายสิบ และเป็นทหารอาชีพต่อไปเลยก็มี
- การเป็นทหารรับใช้ตามบ้านผู้บังคับบัญชา จริงๆ แล้วบางส่วนเป็นความต้องการของพลทหารเองด้วย เพราะการไปเป็นทหารรับใช้ หลายคนมองว่าสบายกว่าต้องฝึกหนักกลางแดด กลางฝน หลายคนได้ไปอยู่กับผู้บังคับบัญชาที่ดี มีคุณธรรม ได้รับการส่งเสริมให้ศึกษาต่อจนจบปริญญา หรือช่วยบรรจุเข้ารับราชการ เป็นทหารประจำการ ทหารอาชีพไปเลยก็มี
ทั้งหมดนี้คือความละเอียดอ่อนของการสร้างกระแสรณรงค์ให้เลิกการเกณฑ์ทหาร เพราะถึงที่สุดแล้ว การจะใช้ระบบสมัครใจทั้งหมดได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับ "ภารกิจของกองทัพ" ที่คำนวณออกมาเป็น "กำลังพลที่ต้องใช้" ว่าในแต่ละปีต้องใช้เท่าไหร่ ฉะนั้นหากยอดสมัครใจไม่เท่ากับจำนวนกำลังพลที่ต้องการ ก็มีเพียง 2 แนวทางให้เลือก คือ 1. ใช้ระบบเกณฑ์ต่อไป หรือ 2. ปรับลดภารกิจของกองทัพลง
แต่การปรับลดภารกิจของกองทัพ ต้องไปแก้ไขกฎหมาย เช่น รัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซึ่งต้องทำกันในสภา ไม่ใช่การเดินรณรงค์หรือปลุกระดมแบบหักด้ามพร้าด้วยเข่า เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

logoline