svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

แพทย์แนะวิธีดูแล "โรคผิวหนัง" ในฤดูหนาว

07 ธันวาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมการแพทย์โดยสถาบันโรคผิวหนัง แนะวิธีดูแลโรคผิวหนังในฤดูหนาว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคผิวหนังที่อาการมักกำเริบในช่วงที่สภาพอาการเปลี่ยน ควรสังเกตอาการทางผิวหนัง และดูแลอย่างถูกวิธี เช่น ไม่อาบน้ำอุ่นเกินไป ทาครีมบำรุงผิวบ่อย ๆ

นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว อุณหภูมิของอากาศเริ่มต่ำลง อากาศเย็นและแห้ง ทำให้ผิวหนังแห้ง ลอก หยาบกร้าน มากกว่าปกติซึ่งมักจะทำให้เกิดปัญหามากในผู้สูงอายุที่มีภาวะผิวแห้งอยู่แล้ว และในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนังจะทำให้อาการกำเริบ เช่น คัน แห้งแสบแดง โรคผิวหนังที่พบบ่อยในช่วงฤดูหนาวได้แก่ โรคผื่นผิวหนังอักเสบจากการที่ผิวหนังแห้ง ภาวะผิวแห้ง อาจทำให้เกิดผื่นคัน พบมากในเด็ก ผู้สูงอายุ เนื่องจากผิวที่แห้งทำให้ไวต่อการระคายเคืองต่อน้ำ สบู่ หรือสารเคมีต่าง ๆ มักถูกกระตุ้นจากการอาบน้ำอุ่น ทำให้ผิวยิ่งแห้งมากขึ้น วิธีการดูแลที่อยากแนะนำ คือ อย่าอาบน้ำร้อนเกินไป ให้อุ่นพอประมาณ ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเฉพาะ ที่ไม่ทำให้ผิวแห้งตึง ที่สำคัญหลังอาบน้ำ ควรทาครีมบำรุงผิวให้ความชุ่มชื้นทันที

แพทย์แนะวิธีดูแล "โรคผิวหนัง" ในฤดูหนาว

แพทย์แนะวิธีดูแล "โรคผิวหนัง" ในฤดูหนาว

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ป่วยโรคผิวหนังควรสังเกตการเปลี่ยนแปลงทางผิวหนัง หากมีอาการแสบ คัน หรือผื่นลอกขึ้น อาจจะต้องมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เช่น 1. โรคผื่นผิวหนังอักเสบจากการระคายเคือง มักจะมีอาการมากที่มือ โดยเฉพาะในผู้ที่ทำงานบ้าน จะมีอาการผื่นแดงคัน แห้งแดงแตกที่มือ ดูแลเบื้องต้นโดยการใส่ถุงมือป้องกัน หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งน้ำโดยตรง และทาครีมบำรุงผิวบ่อย ๆ 2. โรคภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก มักจะมีอาการผิวแห้ง ผื่นแดง คัน กำเริบในช่วงอากาศหนาวจากภาวะผิวแห้ง ซึ่งเด็กบางคนไม่ได้อาบน้ำในช่วงอากาศที่เย็น ทำให้แบคทีเรียที่ผิวหนังเพิ่มจำนวนมากขึ้น เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โรคกำเริบ การดูแลผิวในเด็กเน้นการใช้ครีมบำรุง ไม่จำเป็นต้องใช้สบู่ที่มีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรีย เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคือง 3. โรคเซบเดิม ผื่นแพ้ต่อมน้ำมัน จะมีอาการผื่นแดงลอกเป็นขุยที่บริเวณไรผม ร่องแก้ม ข้างจมูก รูหู มักมีอาการกำเริบในช่วงที่อากาศเปลี่ยน ร่วมกับสาเหตุอื่น ๆ เช่น พักผ่อนน้อย ดื่มแอลกอฮอล์ การดูแลควรปรับพฤติกรรมและใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิว ทาครีมบำรุงบ่อย ๆ และมาพบแพทย์ตามนัด 4. กลุ่มโรคไวรัสหลายชนิด ที่มีการแพร่กระจายได้มากในช่วงฤดูหนาว เช่น โรคสุกใส จะมีอาการไข้ร่วมกับตุ่มใสตามตัว หรือโรคหัดซึ่งจะพบในเด็กมีอาการไข้สูง ไอมาก ตาแดง และผื่นตามมา ไวรัสเหล่านี้ติดต่อทางทางเดินหายใจ การดูแลผิวในฤดูหนาว คือ ไม่อาบน้ำอุ่นเกินไป ใช้สบู่ที่อ่อนโยน ทาครีมบำรุงบ่อย ๆ ถ้าผิวแห้งมากควรทาน้ำมัน และทาครีมกันแดดสม่ำเสมอ

แพทย์แนะวิธีดูแล "โรคผิวหนัง" ในฤดูหนาว

logoline