svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

กสทช. แจงนำคลื่น 3500 MHz ประมูล 5G ไม่ทัน

04 ธันวาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ฐากร ชี้แจงนำคลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์ มาประมูล 5G ไม่ทัน 16 ก.พ. 63 เหตุต้องใช้ระยะเวลาเรียกคืนอย่างน้อย 300 วัน ด้านโอเปอเรเตอร์ขอกสทช.กำหนดโรดแมปให้ชัดเจน เพื่อวางแผนจัดสรรเงินลงทุนได้ถูกต้อง พร้อมเผยคลื่น 2600 MHz น่าลงทุน

กสทช.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 2500-2690 เมกะเฮิรตซ์ (ร่าง)ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 24.25-27 กิกะเฮิรตซ์ และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ 1800 เมกะเฮิรตซ์ 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ระบุ การเปิดฟังความคิดเห็น เพื่อสร้างความมั่นใจว่าร่างฯมีความรัดกุมเพียงพอที่จะจัดสรรคลื่นความถี่อย่างโปร่งใส เพราะเชื่อว่ายังมีหลายประเด็นที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งประชาชน ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจะเสนอ ส่วนความเห็นของโอเปอเรเตอร์บางรายที่จะขอให้ กสทช. นำไปปฏิบัติ แต่เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ในเวลานี้ คือ การนำคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ มาประมูลพร้อมกัน ซึ่งคงทำไม่ได้ เพราะยังไม่มีการเรียกคืนคลื่นความถี่จาก บมจ.ไทยคม ที่มีการใช้งานในดาวเทียมไทยคม 5 และการเรียกคืนคลื่นยังต้องใช้เวลาอย่างน้อย 300 วัน ดังนั้น ความเห็นที่ต้องการให้เลื่อนการประมูลออกไปคงเป็นไปไม่ได้
อย่างไรก็ตาม การเปิดรับฟังความคิดเห็นจะได้รับทราบว่าผู้ประกอบการจะเข้าประมูลคลื่นความถี่หรือไม่ และจะเข้าประมูลคลื่นความถี่ย่านใดบ้าง เพราะอาจจะเข้าประมูลไม่ครบทั้ง 4 คลื่นความถี่ โดยยอมรับว่าคลื่นความถี่ 2600 MHz สามารถนำมาทำ 5G ได้ทันที ส่วนคลื่น 700 MHz และ 1800 MHz ยังไปไม่ถึง 5G คงต้องรออีก 1-2 ปี แต่คลื่น 26 GHz ยังไม่ชัดเจนถึงความพร้อมในการทำ 5G
สำหรับกรอบเวลาดำเนินการในการจัดประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz หลังจากรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ คาดว่าจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ประมาณวันที่ 27 ธ.ค. 2562 จากนั้นวันที่ 2 ม.ค.-3 ก.พ. 2563 จะประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมการประมูล และกำหนดให้มีการจัดประมูลคลื่นความถี่ในวันที่ 16 ก.พ. 63 จากนั้นจะจัดให้มีการประชุม กสทช. เพื่อรับรองผลการประมูลภายใน 7 วัน ออกใบอนุญาตได้ในเดือน มี.ค. 2563 และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในเดือน ก.ค. 2563 ในบางพื้นที่ อาทิ พื้นที่ EEC
ด้านนฤพนธ์ รัตนสมาหาธ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC ระบุ การประมูลคลื่น 2600 MHz ควรจะจัดสรรคลื่นให้เพียงพอครบทุกโอเปอเรเตอร์ทุกราย หากมีผู้ยื่นมา 2 รายก็จัดสรรให้รายละ 100 MHz หรือหากยื่นประมูล 3 รายก็ควรปรับจำนวนคลื่นให้ครบตามจำนวน อาจปรับลดเหลือรายละ 70-80MHz นอกจากนี้ คลื่นนี้มีอยู่จำนวน 20 MHz ที่ยังไม่เคลียร์เพราะติดปัญหาชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งมาเลเซียและกัมพูชา
ขณะที่คลื่น 3500 MHz หรือคลื่น 3400-3700 MHz ที่กสทช.เห็นว่าไม่สามารถนำมาประมูลพร้อมกันได้ในครั้งนี้ แต่ขอให้ กสทช.วางโรดแมปที่มีรายละเอียดชัดเจนเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนและจัดสรรเงินลงทุนคลื่นความถี่ต่อไปได้ ส่วนราคาประมูลครั้งนี้ไม่ได้ถูกมาก โดยเห็นว่าราคาประมูลมีผลต่อการลงทุน อย่างไรก็ดี DTAC ไม่ได้พูดถึง คลื่น 700 MHz ,1800MHz และ 26 GHz
ส่วนจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE ระบุ กสทช.ต้องการทำให้ 5G เกิดขึ้นได้เร็ว จึงควรมุ่งให้เกิดขึ้นได้ทันที ด้วยการให้มีการประมูลคลื่นเดียวคือ คลื่น 2600 MHz มากกว่าการประมูลพร้อมกันทั้ง 4 คลื่น พร้อมกันนี้ให้เปลี่ยนวิธีการประมูลให้เป็นแบบเดิม เพราะวิธีการประมูลแบบใหม่ทำให้แนวโน้มราคาสูงขึ้นจากแบบเดิม

logoline