svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

กมธ.ดีอีเอสสัมมนาสร้างความตระหนักความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์

02 ธันวาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กมธ.ดีอีเอสเดินหน้าการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดสัมมนาให้ความรู้การรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ รวมถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเตรียมความพร้อมรับมือพ.ร.บ.การรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562

คณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สมาคมส่งเสริมและพัฒนาความรู้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไทย และนิตยสาร CIO World&Businessจัดกิจกรรมสัมมนา Cyber Security and Data Privacy 2020 ธุรกรรมปลอดภัย ประชาชนมั่นใจข้อมูลไม่รั่ว สร้างความตระหนักเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มุ่งเน้นในประเด็นการรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ รวมถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน ที่สอดรับกับ พ.ร.บ.การรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ณ ห้องบอลรูม โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ

กมธ.ดีอีเอสสัมมนาสร้างความตระหนักความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์


นางสาวกัลยา รุ่งวิจิตรชัย ประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานจัดงาน กล่าวว่า กมธ.ดีอีเอสเป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่โดยตรงในการพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงการพิจารณา การติดตามตรวจสอบ รวมถึงส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาในเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับการสื่อสาร สารสนเทศ การโทรคมนาคม และกิจการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการนำดิจิทัลมาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนเพื่อที่จะมีข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวของประเทศ ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา

หนึ่งในภารกิจของ กมธ.ดีอีเอส คือการให้ความรู้และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการนำดิจิทัลมาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์รวมถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจากรายงาน Global Risks Report 2019 ของ World Economic Forum  นั้น การโจมตีทางไซเบอร์และการจารกรรมข้อมูลถูกจัดอันดับให้อยู่ 1 ใน 5 อันดับแรกของความเสี่ยงทั่วโลก ซึ่งถือเป็นความท้าทายต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจ ความมั่นคงของประเทศชาติ เสถียรภาพระหว่างประเทศ ความเป็นส่วนตัว และโอกาสการจ้างงาน
นอกจากนี้ ในการจัดอันดับ Global Cyber Security Index 2018 (GCI) หรือดัชนีความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์โลก โดย ITU ยังพบว่า ประเทศไทยมีความพร้อมอยู่ในอันดับที่ 35 ซึ่งลดลงจาก 2 ปีก่อนหน้า ที่อยู่ในอันดับที่ 20 โดยที่ในหลายๆ ประเทศได้มียุทธศาสตร์ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ มีแผนในระดับชาติ มีการจัดตั้งทีมรับมือและกฎหมายเฉพาะเพื่อต่อต้านภัยคุกคามทางไซเบอร์

กมธ.ดีอีเอสสัมมนาสร้างความตระหนักความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์


ขณะที่ประเทศไทยก็ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 และพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สิ่งนี้อาจจะทำให้ประเทศไทยมีอันดับที่ดีขึ้น แต่การที่จะทำให้ประเทศมีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และประชาชนทุกคนมีความปลอดภัยในข้อมูลส่วนบุคคลได้นั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เร่งทำความเข้าใจและจัดหากระบวนการที่สอดคล้องกับข้อกำหนดใน พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับอย่างเร่งด่วน

การพัฒนาเทคโนโลยี ระบบสื่อสารโทรคมนาคม และระบบดิจิทัลของประเทศชาติ จะต้องควบคู่ไปกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งในขณะนี้คณะกรรมาธิการ ดีอีเอส ได้ให้ความสำคัญเร่งด่วนในการทำงานเรื่องความมั่นคงปลอดภัย ไซเบอร์ โดยได้มีการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันพัฒนามาตรการในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่เหมาะสมต่อประเทศชาติ แต่ถึงแม้จะมีการคุกคามทางไซเบอร์เกิดขึ้น เราก็ไม่ควรตื่นตระหนก หากเราสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ นั่นหมายถึงควรต้องมีวิธีที่มีประสิทธิภาพและต่อเนื่องในการควบคุมดูแลภัยคุกคามที่แท้จริง และควรจะต้องมีเครื่องมือและขั้นตอนในการลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ มีการสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในหน้าที่รับผิดชอบของภาคเอกชน ภาครัฐ และสร้างความตระหนักรู้ของประชาชน จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
"การจัดกิจกรรมสัมมนา Cyber Security and Data Privacy 2020 ธุรกรรมปลอดภัย ประชาชนมั่นใจข้อมูลไม่รั่ว สร้างความตระหนักเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะช่วยส่งเสริมกระบวนการนำดิจิทัลมาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะสามารถสร้างการรับรู้และความเข้าใจถึงความสำคัญของความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมถึงความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล ให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนา อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป" ประธาน กมธ.ดีอีเอส กล่าว
สำหรับงานสัมมนาดังกล่าว ถูกจัดขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมสร้างความเข้าใจและแนวปฏิบัติที่ถูกต้อง ในการรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ รวมถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่สอดรับกับ พ.ร.บ.การรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562
โดยเชิญผู้บริหารผู้ทรงคุณวุฒิด้านการรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ รวมถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในหลายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้ร่วมสัมมนา อาทิ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ที่บรรยายในหัวเรื่อง"แนวปฏิบัติของผู้ประกอบการโทรคมนาคม กับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล"
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ให้การบรรยายในหัวข้อ "ธุรกิจประกันภัยกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล" พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร, ประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามและตรวจสอบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และโฆษกพรรคภูมิใจไทย บรรยายในหัวข้อ"การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลจากภัยไซเบอร์" และ นางสาวศิริพรรณ อิสริยะพฤทธิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ สายระบบข้อสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ให้เกียรติบรรยายในเรื่อง การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลจากภัยไซเบอร์
และในช่วงท้ายของงาน ได้มีการเสวนาในหัวข้อ "ไขข้อกังวลใจ ความเชื่อมั่นการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล คำยืนยันจากภาครัฐและภาคธุรกิจ"โดยผู้ร่วมเสวนาทรงคุณวุฒิ อาทิ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาด้าน Digital Transformation สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์, นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย และผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพประกันภัย, นายกิตติพงษ์ หยู รองประธานอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ลาซาด้า (ประเทศไทย) จำกัด และนายไมเคิล เชน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด ที่มาพูดคุยถึงแนวทางการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลในแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน นักวิชาการ และประชาชน เข้าร่วมสัมมนาจำนวนมาก

logoline