svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

อีไอซีประเมินธุรกิจไทยไม่ไฮเทค

29 พฤศจิกายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อีไอซี ประเมินธุรกิจไทยยังไม่ไฮเทค หลังพบส่วนใหญ่ใช้คอมพิวเตอร์เพียงแค่ 28.3% และใช้เพื่อการหาข้อมูลไม่ใช่ค้าขาย ห่วงไทยยังตามหลังด้านดิจิทัลกับต่างประเทศค่อนข้างมาก ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีของไทยตามหลังหลายประเทศในโลก

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี)ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในสถานประกอบการไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติซึ่งทำการสำรวจสถานประกอบการไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมธุรกิจการค้าและธุรกิจทางการบริการการผลิต การก่อสร้าง การขนส่งทางบกและคลังสินค้า โรงพยาบาลเอกชนและกิจกรรมด้านข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร


อีไอซีพบว่าธุรกิจไทยส่วนใหญ่ยังไม่ใช้คอมพิวเตอร์ในปี 2560สัดส่วนสถานประกอบการไทยที่มีการใช้คอมพิวเตอร์ อยู่ที่เพียง 28.3%ของสถานประกอบการทั้งหมด โดยเมื่อพิจารณาแยกตามขนาดสถานประกอบการ พบว่าสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 11 คนขึ้นไป (มีจำนวนคิดเป็นเพียง 4.5%ของสถานประกอบการทั้งหมด) จำนวนเกิน 3 ใน 4มีการใช้คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีลูกจ้างเกิน 200คนขึ้นไปมีการใช้คอมพิวเตอร์เป็นสัดส่วนสูงถึง 99.7%


อย่างไรก็ตามสถานประกอบการขนาดเล็กที่สุดคือมีลูกจ้างไม่เกิน 10 คนซึ่งถือเป็นสถานประกอบการส่วนใหญ่ของไทย (มีจำนวนคิดเป็น 95.5%ของสถานประกอบการทั้งหมด) มีสัดส่วนการใช้คอมพิวเตอร์อยู่ที่เพียง 25.7%ส่งผลทำให้สัดส่วนในภาพรวมอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ดีสัดส่วนการใช้คอมพิวเตอร์ในสถานประกอบการเพิ่มขึ้นจากปี 2555ในทุกขนาดสถานประกอบการและทุกอุตสาหกรรมที่มีการสำรวจ

              

  ธุรกิจไทยยังใช้อินเทอร์เน็ตกันไม่มากและส่วนใหญ่ยังไม่ใช้เพื่อการค้าขาย ในปี 2560สัดส่วนของสถานประกอบการที่ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 29.6%ของสถานประกอบการทั้งหมด ทั้งนี้ในทำนองเดียวกันกับสัดส่วนการใช้คอมพิวเตอร์ธุรกิจขนาดเล็กที่มีลูกจ้างไม่เกิน 10คนจะเป็นกลุ่มที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตต่ำโดยมีสัดส่วนสถานประกอบการที่ใช้เพียง 27.2%ขณะที่ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่กว่านั้นจะมีสัดส่วนสูงกว่า 70%ขึ้นไป โดยธุรกิจขนาดใหญ่ที่สุด (มีลูกจ้างมากกว่า 200คน) จะมีการใช้อินเทอร์เน็ตในเกือบทุกสถานประกอบการ (99.2%)


สำหรับวัตถุประสงค์ในการใช้อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ของธุรกิจไทยจะใช้เพื่อค้นหาข้อมูล(74.6% ของสถานประกอบการที่ใช้อินเทอร์เน็ต)และรับส่งอีเมล (70.8%) ส่วนการใช้เพื่อการค้าขายนั้นยังถือเป็นส่วนน้อยโดยมีเพียง 27.3%เท่านั้นที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการซื้อ/ขายสินค้าและบริการสำหรับธุรกิจไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อทำธุรกรรมทางการเงินมีสัดส่วนอยู่ที่ 15.4%ในปี 2560 เพิ่มขึ้นจาก 9.4%ในปี 2555 ซึ่งเป็นเหตุผลในการใช้อินเทอร์เน็ตของสถานประกอบการที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดสอดคล้องกับทิศทางของบริการทางการเงินด้านออนไลน์ที่มีการพัฒนามากขึ้นและมีค่าธรรมเนียมที่ถูกลง

                

ไทยยังตามหลังต่างประเทศอยู่ค่อนข้างมากในด้านดิจิทัลการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตในสัดส่วนน้อยของไทยอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีของไทยตามหลังหลายประเทศในโลกโดยจากข้อมูลอันดับความสามารถในการแข่งขัน (World Competitiveness Ranking)ล่าสุดในปี 2562 ของสถาบัน IMD ในด้านการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีด้านดิจิทัล(use of digital tools and technologies) ไทยอยู่ในอันดับที่ 40จาก 63 ประเทศที่ทำการสำรวจ นอกจากนี้ข้อมูลสัดส่วนจำนวนธุรกิจที่รับคำสั่งซื้อผ่านอินเทอร์เน็ต (proportion ofsmall and large enterprises receiving orders over the internet) ของUNCTAD เมื่อปี 2561ยังพบอีกว่าไทยอยู่ในอันดับ 42 จาก 46ประเทศที่ทำการสำรวจโดยไทยมีสัดส่วนจำนวนของธุรกิจขนาดเล็กที่รับคำสั่งผ่านอินเทอร์เน็ตที่เพียงประมาณ10% ห่างไกลจากประเทศอันดับหนึ่ง คือ สิงคโปร์ที่มีสัดส่วนสูงถึงราว 60%

                

แม้ว่าธุรกิจไทยยังไม่ไฮเทคแต่ก็ยังต้องการบุคลากรด้านไอทีอีกมาก ในปี 2560 ธุรกิจไทยมีการจ้างงานบุคลากรด้านไอทีรวมประมาณ4.4 แสนคนเพิ่มขึ้นจากในปี 2555 ประมาณ1.8 หมื่นตำแหน่งสวนทางกับจำนวนการจ้างงานในภาพรวมของไทยที่ลดลงในช่วงเดียวกัน นอกจากนี้จากผลสำรวจยังพบอีกว่าสถานประกอบการไทยยังมีความต้องการบุคลากรด้านไอทีเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่อีกมากโดยเฉพาะตำแหน่ง ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง ที่ยังมีความต้องการอีก 1.5พันตำแหน่งจากการจ้างงานที่มีอยู่ในปัจจุบันที่ 2.4 พันตำแหน่งหรือคิดเป็นสัดส่วนความต้องการที่เพิ่มขึ้นถึง 64% รองลงมาคือตำแหน่งนักออกแบบและวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์ (ต้องการ 4.1 พันตำแหน่ง)และโปรแกรมเมอร์ (ต้องการ 6.2 พันตำแหน่ง) คิดเป็น 32% และ24% ตามลำดับเมื่อเทียบกับจำนวนการจ้างงานของแต่ละตำแหน่งในปัจจุบัน


ทั้งนี้ในส่วนของความต้องการบุคลากรในธุรกิจขนาดเล็กที่มีลูกจ้างไม่เกิน10 คนมีมากถึงราว 1.5 หมื่นตำแหน่งคิดเป็น 9.8% ของจำนวนการจ้างงานปัจจุบันมากกว่าธุรกิจที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 11 คนขึ้นไปซึ่งมีความต้องการบุคลากรไอทีรวมกันที่9.3 พันตำแหน่ง คิดเป็น 3.2% ของจำนวนการจ้างงานปัจจุบันความแตกต่างดังกล่าวสะท้อนถึงความต้องการในการปรับตัวด้านเทคโนโลยีของธุรกิจขนาดเล็กของไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นแม้ว่าระดับการใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันจะยังไม่สูงมากนักก็ตามอย่างไรก็ดีการตอบสนองความต้องการในด้านแรงงานไอทีของธุรกิจขนาดเล็กยังมีความท้าทายที่ทั้งฝั่งผู้ประกอบการและภาครัฐต้องร่วมมือกันหาทางออกได้แก่ การผลิตแรงงานด้านไอทีตั้งแต่ระดับสถานศึกษาให้มีคุณภาพและปริมาณที่ตรงกับความต้องการการยกระดับธุรกิจขนาดเล็กให้มีทัศนคติที่เปิดรับการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นและการจับคู่ (matching) ให้สอดคล้องระหว่างทักษะแรงงานและความต้องการของธุรกิจ

logoline