svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

แพทย์ชี้ ตรวจพันธุกรรม พยากรณ์ความฉลาดลูกไม่ได้

30 พฤศจิกายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แพทย์ชี้ ตรวจพันธุกรรม หรือยีน ไม่สามารถวัดไอคิว ศักยภาพ และพยากรณ์อนาคตของเด็กได้ เพราะยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการยืนยัน ย้ำ ความฉลาดของเด็กขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู และ ระบบการศึกษา

จากสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีการเสนอการตรวจสารพันธุกรรม (Genetic Test) หรือ "ยีน" โดยศาสตร์ด้านจิโนมิกส์ เพื่อทำนายความเสี่ยงในการเกิดโรคหรือปัญหาสุขภาพ ตลอดจนวิถีชีวิตและสุขภาพ เช่น การเลือกอาหาร หรือการออกกำลังกาย ตลอดจนก้าวล่วงถึงการทำนายศักยภาพทางร่างกาย สติปัญญาและพัฒนาการของเด็ก โดยอ้างหลักการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล เพื่อการดูแลสุขภาพที่ดีขึ้น
ขณะที่ปัจจุบัน มีการโฆษณาว่า การตรวจยีนสามารถทำนายไอคิวของลูก อายุขัย ความสามารถพิเศษ ความเสี่ยงการติดยาเสพติด การเลือกกินอาหาร บุคลิกภาพ อาชีพในอนาคต แต่การตรวจเหล่านี้ทางการแพทย์ระบุว่า "ไม่สมควรตรวจ" เพราะยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการว่าทำนายได้แม่นยำ และต้องพิจารณาผลกระทบต่อการเลี้ยงดูลูกต่อไปด้วย
เมื่อวันที่ 22 พ.ย. สมาคมผู้ประกอบการวิชาชีพเวชกรรมด้านพันธุศาสตร์การแพทย์และจีโนมิกส์ทางการแพทย์ ร่วมกับ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย แถลงจุดยืนเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนทั่วไป ตลอดจนใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาการตรวจสารพันธุกรรมเพื่อทำนายความเสี่ยงในการเกิดโรคในลักษณะบริการเชิงพาณิชย์
รศ.นพ.ธันยชัย สุระ นายกสมาคมเวชพันธุศาสตร์และจีโนมิกส์ทางการแพทย์ กล่าวว่า พ่อแม่อยากให้ลูกที่เกิดมามีความฉลาด มีความสามารถพิเศษ ความต้องการเหล่านี้เป็นความต้องการปกติของมนุษย์ ด้วยเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบัน ทำให้เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องพึ่งธรรมชาติ ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) มีความกังวลว่าแม้เทคโนโลยีจีโนมิกส์จะก้าวหน้า แต่ประชาชนต้องมีความเข้าใจถึง ผลดี ผลเสีย และความเหมาะสมของการใช้เทคโนโลยี ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามความเข้าใจผิดเพี้ยน การที่มีเทคโนลียีเกิดขึ้นก็ไม่น่าจะมีส่วนทำให้สังคมดีขึ้น เพราะฉะนั้น เราในฐานะที่อยู่ตรงกลางเป็นทั้งผู้ใช้เทคโนโลยีและสื่อสารไปยังคนที่ต้องการใช้ จะมีการพิจารณาและนำสิ่งที่เกิดขึ้นมาเป็นบทเรียน เพื่อให้ประเทศไทยเดินไปในจุดที่เหมาะสม
ทั้งนี้ "หน่วยพันธุกรรม" หรือ "ยีน" (Gene) ถือเป็นตัวกำหนดให้คนเรามีความแตกต่างกัน โดยแต่ละคนมีประมาณ 2.5 หมื่นยีน ในยีนจะเรียงรายด้วยรหัสอักษรที่เราเรียกว่า "รหัสพันธุกรรม" ซึ่งมีมากกว่า 3,000 ล้านคู่ตัวอักษร โดยรหัสพันธุกรรมแต่ละคนจะเหมือนกันกว่า 99% มีเพียง 1% เท่านั้นที่ต่างกัน ทำให้มีสีผม หน้าตา รูปร่าง ที่แตกต่างกัน ถ้ารหัสพันธุกรรมเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งที่สำคัญ อาจทำให้เกิดโรคได้
ดังนั้น การตรวจยีน จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีในการตรวจหาสาเหตุของโรคทางพันธุกรรม โดยการตรวจเลือด เซลล์กระพุ้งแก้มในช่องปาก น้ำลาย น้ำคล้ำ ผิวหนัง และควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อนตรวจเสมอ หากตรวจพบว่าพันธุกรรมมีความผิดปกติไปจากคนส่วนใหญ่ นั้นอาจจะเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรค หรือไม่ก็ได้ อย่างไรก็ตาม การตรวจควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือแพทย์ในสาขาพันธุเวชศาสตร์
ทั้งนี้ บางรายที่เป็นโรคทางพันธุกรรม อาจไม่จำเป็นต้องมีคนในครอบครัวเป็นมาก่อนก็ได้ เช่น พัฒนาการล่าช้า ออทิสติก มีความพิการแต่กำเนิด เป็นมะเร็งก่อนอายุ 50 ปี หรือเป็นมะเร็งหลายชนิด โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ตัวเตี้ยแคระไม่สมส่วน ภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิดเกิดจากการติดเชื้อ การได้ยินบกพร่องแต่กำเนิด โดยประโยชน์ในการตรวจยีน สามารถหาสาเหตุจากการป่วย ดูว่าคนไหนในบ้านมียีนแฝงหรือไม่ เพื่อป้องกันการเกิดโรคซ้ำในครอบครัว อีกทั้งเพื่อนำไปสู่การรักษาเฉพาะในบางโรค เพื่อให้เกิดการดูแลรักษา ป้องกันภาวะแทรกซ้อน
เด็กฉลาด ปัจจัยหลักคือ "สิ่งแวดล้อม"
ดร.นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการกองสนับสนุนนวัตกรรมและอุตสาหกรรมสุขภาพ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมา การตรวจยีน ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์มานานหลายปี เช่น คัดกรองดาวน์ซินโดรมด้วยการตรวจเลือดแม่ , การตรวจวินิจฉัยเด็กที่มีภาวะวิกฤตที่ต้องนอนไอซียู , การตรวจเพื่อป้องกันและให้ยากันชัก เพื่อให้ยาในขนาดที่พอเหมาะ ลดค่าใช้จ่ายและภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมา แต่การตรวจไอคิวเด็กด้วยยีน ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่าเป็นไปได้ปัจจัยที่ส่งผลต่อการฉลาดของเด็กมี 2 ส่วน คือ "พันธุกรรม" และ "สิ่งแวดล้อม" ประเด็นที่ว่าคนของเราจะฉลาดหรือไม่ ปัจจัยทางพันธุกรรมน้อยมาก แต่ปัจจัยทางด้านระบบการศึกษาสำคัญกว่าเยอะ ระบบการศึกษาทำให้คนในประเทศฉลาด การที่เด็กบางคนไม่เก่งคณิต หากได้รับการสอนอย่างดีก็ทำให้เก่งได้ ดังนั้น ประเด็นเรื่องทางวิชาการแทบจะยอมรับไม่ได้เลยว่าเด็กคนนี้ไม่เก่งคณิตฯ ด้วยข้อมูลพันธุกรรม เพราะเป็นเพียงส่วนประกอบนิดเดียวที่ไม่สามารถอธิบายความเก่งในอนาคตได้ และไม่มีคุณค่าทางวิชาการเพียงพอที่เราจะนำมาใช้
"แตกต่างจากการทำนายมะเร็ง หรือการแพ้ยา ข้อมูลทางพันธุกรรมช่วยได้ เช่น การพยากรณ์ว่าจะเป็นมะเร็งเต้านม เพื่อให้เขามาคัดกรอง รักษา สังคมจำเป็นต้องทำความเข้าใจและรับทราบ ด้านหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ควรสื่อสารให้ชัดว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ เพื่อให้มีแนวทางชัดเจน" ดร.นพ.สุรัคเมธ กล่าว
ไม่ควรตีตราลูกด้วยยีน
ผศ.นพ.วราวุฒิ เชยประเสริฐ กุมารแพทย์เฉพาะทางโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลเวชธานี เจ้าของเพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ กล่าวเสริมว่า การตรวจยีนมีประโยชน์ในการรักษาคนไข้ จากเพจจะมีคนถามมากขึ้นในเรื่องการตรวจยีน โดยเฉพาะพ่อแม่เจนวาย อายุ 25-42 ปี การโฆษณาชวนเชื่อชอบเจนวายมาก เพราะเจนนวายความอดทนต่ำ ใช้เงินง่าย พอมีคนมาบอกว่าตรวจแล้วรู้ว่าลูกฉลาดด้านไหน จะได้กระตุ้นให้ถูกด้าน เจนวายจะฟังแล้วซื้อเลย หรือตรวจยีนกระตุ้นลูกได้ดีขึ้น พ่อแม่ก็พร้อมจะแก้ปัญหาด้วยเงิน และชักจูงกันเอง
"การสแกนยีน บางโรงพยาบาลเอกชนทำกันเป็นล่ำเป็นสัน คัดกรองยีนส์เพื่อดูพรสวรรค์ลูก สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ตีตราลูกว่าไม่เก่งด้านใดด้านหนึ่ง แต่ความจริงแล้ว สิ่งที่ดีในการเลี้ยงลูก คือ ให้ลูกมีประสบการณ์ ค้นหาตัวเอง นี่คือปัญหา เพราะเมื่อไหร่ที่พ่อแม่ตีตราลูก ทำให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเองต่ำ ในอนาคตอันใกล้อาจจะถูกชักจูงไปในทางลบมากขึ้น หากเด็กรู้สึกว่าตัวเองไอคิวต่ำ เขาจะไม่มีความพยายาม"
"เด็กคนหนึ่งถูกเลี้ยงมาด้วยครอบครัว ครอบครัวจะบอกได้ว่าเด็กถนัด หรือ ควรเสริมอะไร นั้นคือ สิ่งที่ครอบครัวต้องทำ แต่ครอบครัวสมัยนี้ไม่พึ่งปัจจัยภายในครอบครัว แต่พึ่งปัจจัยภายนอก และสื่อมีผลมากในปัจจุบัน ดังนั้น อาจจะต้องให้ความรู้โดยผ่านหน่วยงานวิชาการที่เชื่อถือได้ เพื่อสร้างความเข้าใจ พูดให้ชัด ไม่คลุมเครือ" ผศ.นพ.วราวุฒิ กล่าว
สร้างความเข้าใจแก่สังคม
ขณะที่ในต่างประเทศ การตรวจสารพันธุกรรม เพื่อหาความเสี่ยงของโรค หรือปัญหาสุขภาพ รวมถึงศักยภาพทางร่างกาย สติปัญญา และพัฒนาการดังกล่าว จะให้บริการในลักษณะขายตรงต่อผู้บริโภค (Direct-to-consumer Genetic Testing: DCGT) โดยไม่ผ่านผู้ให้บริการทางสุขภาพหรือแพทย์ ขณะที่ประเทศไทย พบว่า มีการเสนอการตรวจสารพันธุกรรมดังกล่าว โดยผู้ให้บริการทางสุขภาพ และในสถานพยาบาลทางการแพทย์และสุขภาพ
อ.ดร.พญ.ธนาวดี ประชาสันต์ แพทย์เชี่ยวชาญจิตเวชศาสตร์ทั่วไป ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การตรวจยีนส์ที่เข้าถึงประชาชนง่ายในปัจจุบัน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่และเรื่องใหญ่ของสังคม ความเข้าใจในสังคมยังน้อย ดังนั้นการให้ความรู้จึงสำคัญ หากเขาไม่มีความรู้ ก็ไม่รู้ว่าโดนหลอก และวิชาชีพแพทย์เองก็มีส่วนสำคัญ แพทย์ส่วนใหญ่ยังไม่รู้เรื่องเทคโนโลยีจีโนติกส์ ดังนั้น ในระบบการเรียนการสอนของแพทย์ต้องมีมากขึ้น ต้องมีไกด์ไลน์เพื่อเป็นแนวทาง
"อย่างไรก็ดี ต่อให้เราให้ความรู้ประชาชน ก็อาจจะมีบางคนที่ยังเข้าไม่ถึง และคิดว่านี่คือที่พึ่ง ดังนั้น นโยบาย กฎหมายสำคัญ อาจจะต้องมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ เป็นความรับผิดชอบของผู้บริหารด้วย ในการหากฏหมาย หากไม่อนุญาตก็จะทำไม่ได้ แต่กฎหมายอาจจะยังตามไม่ทัน"

logoline