svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

พาณิชย์เดินหน้านำระบบบล็อกเชนใช้นำร่องสินค้าเกษตร

25 พฤศจิกายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"พาณิชย์"เดินหน้านำระบบ "บล็อกเชน" ใช้กับสินค้าเกษตร นำร่อง "ข้าวอินทรีย์" หวังสร้างความเชื่อมั่นให้กับข้าวไทย และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ เผยสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าปลูกที่ไหน ใครผลิต ผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานใด จนถึงการส่งออก การรับจ่ายเงิน

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)เปิดเผยว่า สนค.เตรียมเดินหน้าโครงการใช้บล็อกเชน (Blockchain) เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรนำร่องที่ "สินค้าข้าวอินทรีย์" หลังจากได้รับงบประมาณดำเนินการสำหรับปี2563 แล้ว โดยจะเร่งหารือกับผู้เชี่ยวชาญที่จะทำระบบบล็อกเชนและหารือกับหน่วยงานภาครัฐ ที่ออกใบอนุญาต หรือใบรับรองสินค้าเกษตรทั้งกรมการค้าต่างประเทศ กรมวิชาการเกษตรและสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) รวมถึงสถาบันการเงินเพื่อเดินหน้าโครงการ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้เคยหารือกับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ไปแล้ว

 

          

"กำลังจะเดินหน้าโครงการเพราะก่อนหน้านี้ ได้เคยหารือพูดคุยกับเกษตรกรมาบ้างแล้วมีเกษตรกรที่จะเข้าร่วมอยู่ในมือประมาณ 5,000 คน อยู่ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ซึ่งมีความพร้อมที่จะเข้าร่วม ตอนนี้ จึงต้องเร่งพัฒนาระบบบล็อกเชนดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วม เพื่อเดินหน้าคาดว่าน่าจะเห็นเป็นรูปเป็นร่างได้ราวๆ กลางปี 2563 และหากทำสำเร็จก็จะขยายผลไปยังสินค้าเกษตรตัวอื่นๆ ต่อไป"น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

 

          

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สำหรับระบบบล็อกเชนที่จะนำมาใช้จะสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้หมด โดยตรวจได้ตั้งแต่การเพาะปลูกว่าปลูกจากที่ไหนเป็นข้าวอินทรีย์จริงหรือไม่ เพราะในที่นาจะมีการติดตั้งกล้อง เพื่อตรวจสอบการเพาะปลูกจากนั้นเมื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตหรือบรรจุ ก็ตรวจสอบได้ว่าผลิตที่ไหนเมื่อขอใบรับรองคุณภาพข้าว หรือใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์จากหน่วยงานรัฐก็สามารถตรวจสอบได้ว่าหน่วยงานใดเป็นผู้ตรวจสอบหรือออกใบรับรองและจากนั้นจะเชื่อมโยงไปจนถึงสถาบันการเงิน ที่จะเข้ามาเป็นตัวกลางการรับจ่ายเงินหลังจากที่ข้าวถูกขายไป ซึ่งจะรู้ว่าขายให้ใคร ส่งไปประเทศไหน

 

          

นอกจากนี้ ผลของการนำระบบบล็อกเชนมาใช้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับข้าวอินทรีย์ของไทยจากการที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ช่วยลดปัญหาการถูกปฏิเสธจากผู้ซื้อการปลอมปนสินค้า และการถูกสวมสิทธิใบอนุญาตซึ่งจะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองและทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นช่วยสร้างโอกาสในการขยายตลาดส่งออกได้มากขึ้น ส่วนผู้ซื้อสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของข้าวอินทรีย์ได้ หรือหากมีปัญหาเกิดขึ้น เช่นมีการตรวจสอบพบว่าไม่ใช่ข้าวอินทรีย์จริง ก็สามารถที่จะปฏิเสธข้าวเป็นล็อตๆ ได้ไม่ใช่ปฏิเสธทั้งหมด

 

          

ปัจจุบัน ตัวเลขปี 2560 ไทยมีพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์เป็นลำดับที่ 7ของเอเชีย และลำดับที่ 51 ของโลก มีพื้นที่ขนาด 570,409ไร่ สามารถสร้างมูลค่าจากการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยได้ 1,817ล้านบาทต่อปี โดยพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ คิดเป็นสัดส่วน 59%ของพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด ในปี 2561 ไทยส่งออกข้าวอินทรีย์มีมูลค่า 750ล้านบาท แม้ว่าจะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.098% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยแต่สามารถสร้างมูลค่าได้ 0.41% ของมูลค่าการส่งออกข้าวไทย

logoline