svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

ทช.​ เตือนภัยหลังพบหมึกสายวงน้ำเงิน

19 พฤศจิกายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่ต้องเตือนภัยให้หลายๆ คนได้ทราบกันสำหรับ "หมึกสายวงน้ำเงิน" สัตว์ทะเลที่มีพิษรุนแรง ซึ่งล่าสุดมีชาวประมงจับได้ที่จังหวัดชุมพร หากใครไม่ทราบและไปสัมผัสโดนตัวของมัน หรือนำไปประกอบอาหาร ก็จะเจอกับพิษอันรุนแรงของมันถึงกับเสียชีวิตได้

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในฐานะโฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า จากกรณีที่ชาวประมงจับหมึกสายวงน้ำเงินได้ที่จังหวัดชุมพร ดูจากภาพลักษณะแล้วหมึกชนิดนี้มีพิษร้ายแรง ยิ่งตอนป้องกันตัว สีของวงจะเห็นชัดมาก โดยหมึกทะเลชนิดนี้เป็นจำพวกหมึกสายขนาดเล็ก มีพิษ ต้องระวังไว้ให้มาก มีพิษร้ายแรงกว่างูเห่า 20 เท่า ผู้ถูกกัดอาจจะตายภายใน 2-3 นาที สำหรับหมึกสายวงน้ำเงิน หรือหมึกบลูริง (Blue-ringed octopus) เป็นหมึกยักษ์จําพวกหนึ่งแต่มีขนาดเล็กตัวเต็มวัยมีขนาดลําตัว ประมาณ 4 - 5 เซนติเมตร มี 8 หนวด แต่ละหนวดยาวประมาณ 15 - 20 เซนติเมตร หมึกสายวงน้ำเงินมีจุดเด่นที่ต่างจากหมึกทั่วไปตรงที่มีลวดลายเป็นวงแหวนสีน้ำเงิน กระจายตามลําตัวและหนวด

ทช.​ เตือนภัยหลังพบหมึกสายวงน้ำเงิน

ซึ่งจะตัดกับสีของลําตัวที่ออกเป็นสีเหลืองน้ำตาลอย่างชัดเจน วงแหวนสีน้ำเงินเหล่านี้สามารถเรืองแสงได้เมื่อถูกคุกคาม เนื่องจากหมึกชนิดนี้มีสีสวยงาม และมีขนาดไม่ใหญ่มาก จึงเป็นที่นิยมของผู้ที่ชื่นชอบในการเลี้ยงปลาสวยงาม และสัตว์แปลกๆ ในหลายๆ ประเทศ หมึกสายวงน้ำเงินมีการผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวตลอดวงจรชีวิต เพศผู้จะตายหลังจากการผสมพันธุ์ เพศเมียจะวางไข่ติดกันเป็นพวงจํานวน 20 - 300 ฟอง ไข่จะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2 สัปดาห์ และใช้เวลาประมาณ 2 - 3 เดือนเจริญเป็นตัวเต็มวัย

โดยมีอายุขัยประมาณ 1 ปี ในเวลากลางวันหมึกสายวงน้ำเงินมักพักหลบอยู่ตามโพรงหินหรือเปลือกหอยแล้วจึงออกหากินในเวลากลางคืน ชอบเคลื่อนที่ไปตามพื้นหน้าดินเพื่อหากุ้งและปูเป็นอาหารมากกว่าที่จะว่ายน้ำเช่นหมึกชนิดอื่น โฆษก ทส.กล่าวต่อว่า หมึกสายวงน้ำเงินมีสารพิษที่มีความร้ายแรงมากผสมอยู่ในน้ำลาย ผู้ที่ถูกกัดอาจตายได้ภายในไม่นานจึงนับเป็นหนึ่งในสัตว์น้ำที่มีพิษร้ายแรงมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก สารพิษของหมึกสายวงน้ำเงินนั้น เรียกว่าเตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin)

ทช.​ เตือนภัยหลังพบหมึกสายวงน้ำเงิน

ซึ่งเป็นพิษชนิดเดียวกับที่พบในปลาปักเป้า ทั้งนี้ เตโตรโดท็อกซินที่พบทั้งในหมึกสายวงน้ำเงินและปลาปักเป้าไม่ได้ถูกสร้างจากภายในตัวของพวกมันเอง เพราะสัตว์เหล่านี้ไม่มียีนที่ควบคุมการสร้างพิษนี้ มีการศึกษาพบว่าพิษนี้สร้างจากเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น แบคทีเรียในวงศ์ Vibrionaceae, Pseudomanas sp.,Photobacterium phosphorium ฯลฯ ที่อาศัยอยู่ในตัวสัตว์แบบพึ่งพา (symbiosis)โดยที่แบคทีเรียอาศัยตัวสัตว์เป็นที่อยู่และแหล่งอาหาร ส่วนสัตว์ได้พิษจากแบคทีเรียไว้เป็นอาวุธป้องกันตัวและล่าเหยื่อ สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นต้องหาวิธีนําอากาศเข้าสู่ปอด เช่น เป่าปาก ฯลฯ จากนั้นต้องรีบนําส่งแพทย์โดยด่วน เพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจ ถ้าช่วยชีวิตเป็นผลผู้ป่วยจะฟื้นเป็นปกติภายใน 24 ชั่วโมง เว้นแต่ว่าจะขาดอากาศนานเกินไปจนทําให้สมองตาย สําหรับผู้ที่ได้รับพิษจากหมึกสายวงน้ำเงินควรทําการปฐมพยาบาลในทันทีหลังถูกกัด

โดยใช้เทคนิคการกดรัดและตรึงอวัยวะส่วนนั้นไม่ให้เคลื่อนไหว เพื่อทําให้พิษไม่แพร่กระจายเข้าระบบไหลเวียนโลหิต โดยใช้ผ้าพันจากอวัยวะส่วนปลายไล่มาจนถึงบริเวณเหนือแผลที่ถูกกัด ถ้าเป็นบริเวณแขนหรือขาให้ใช้วัสดุไม้ดามไว้ด้วย ถ้าถูกกัดบริเวณลําตัวในกรณีที่พันได้ให้พันด้วยแต่อย่าให้แน่นจนทําให้หายใจลําบาก และไม่ควรกรีดปากแผลที่ถูกกัดเพราะจะทําให้พิษกระจายมากขึ้น โดยเทคนิคนี้เป็นการซื้อเวลาเพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น ก่อนนําผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล นายโสภณ อธิบดี ทช. กล่าวทิ้งท้ายว่า "ดังนั้น ในฐานะโฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงขอเตือนประชาชนและนักท่องเที่ยว หากพบเห็นหมึกชนิดนี้ตามสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเล ห้ามจับเล่นหรือนำมาประกอบอาหารโดยเด็ดขาด เพราะพิษของหมึกชนิดนี้ไม่สลายแม้เมื่อโดนความร้อน ส่วนพฤติกรรมไม่มีนิสัยดุร้าย แต่หากพบว่ามีภัย วงน้ำเงินบนตัวจะเข้ม แล้วพุ่งเข้าหานั้นคือพฤติกรรมเพื่อป้องกันตัว ทางที่ดีหากเจอควรจะหลีกเลี่ยงหรืออย่าไปทำอะไร แม้เพียงสัมผัสก็ไม่ควรทำ ปล่อยให้ไปตามธรรมชาติแล้วจะปลอดภัย อย่างไรก็ตาม หมึกชนิดนี้มีรายงานว่าเคยพบในทะเลไทยบ้างแล้ว

ทช.​ เตือนภัยหลังพบหมึกสายวงน้ำเงิน

โดยเฉพาะแถว จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชุมพร อาศัยอยู่ตามพื้นทราย พื้นทะเล ออกหากินเวลากลางคืน จับพวกกุ้งพวกปลากินเป็นอาหาร แต่พบได้ไม่บ่อยนัก หากเจอหมึกชนิดนี้ ไม่ต้องไปทำร้าย แค่หลีกเลี่ยงทางใครทางมันก็พอ อีกทั้ง ยังไม่พบรายงานว่ามีคนไทยถูกหมึกชนิดนี้กัดแต่อย่างใด แต่ก็ควรระมัดระวังไว้ ทั้งนี้ หากประชาชน ชาวประมง และนักท่องเที่ยว พบเห็นหมึกสายวงน้ำเงินที่บริเวณทะเลในประเทศไทย สามารถแจ้งมายังกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เบอร์โทรศัพท์ 02-141-1300 หรือสายด่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม GreenCall โทร.1310 เพื่อที่ทางกรมฯ จะได้เก็บข้อมูลการพบเจอหมึกชนิดนี้ ไปศึกษาและวิจัยทางวิชาการต่อไป"

logoline