svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ไหวไม่ไหว! ​ สถานการณ์​โรงงานปิดกิจการ​ เลิกจ้าง​ ลดโอที​ เพิ่มวันหยุด​

18 พฤศจิกายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

CapU ที่ต่ำกว่าระดับ 65% นี่ยังไม่น่ากลัวเท่ากับ แนวโน้มที่ยังมีควาเป็นไปได้ว่าจะลดลงต่ำกว่านี้อีก โรงงานเปิด หรือปิด ไม่สำคัญ เท่าอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ต่ำ และมีแนวโน้มต่ำลงไปอีกเรื่อยๆ

สถิติเปิด-ปิดโรงงานอุตสาหกรรม 10 ปีย้อนหลัง พบว่า จำนวนโรงงานประกอบกิจการใหม่มากกว่าโรงงานเลิกกิจการทุกปี โดยปี 2556 มีโรงงานประกอบกิจการใหม่มากที่สุด 4,676 โรง ส่วนปี 2551 มีโรงงานเลิกกิจการมากที่สุด 2,996 โรง

กระทรวงอุตสาหกรรม ขออย่าเพิ่งตื่นตระหนก จากข้อมูลพบว่าตั้งแต่ 1 ม.ค.-12 พ.ย. 62 แม้จะมีการขอปิดโรงงาน 1,391 โรงงาน แต่ก็มีโรงงานเปิดใหม่ถึง 2,889 โรงงาน ถือว่าเปิดมากกว่าปิดถึง 107% ทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในกิจการใหม่กว่า 84,000 คน

การปิดโรงงาน เยอะขึ้น แง่หนึ่งมองว่าเศรษฐกิจแย่ก็อาจใช่ แต่ถ้ามองเรื่องธุรกิจรุ่นเก่ากำลังถูก disrupt โดยธุรกิจรุ่นใหม่ ก็อาจเป็นได้

ดร.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ตั้งคำถามในทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า "เรารู้สึกกันไปเองจริงๆ หรือว่า เศรษฐกิจมันไม่ดี?" พร้อมกับยกสถานการณ์ที่แรงงานต้องเผชิญ

... ทำไม OT ที่ได้อยู่ถึงลดลง... ทำไมถึงได้ยินว่าคนถูก Lay Off อยู่เป็นระยะๆ... ทำไมเราถึงรู้สึกไม่มั่นใจถึงสภาพการจ้างงานของตัวเอง

ข้อมูลเปิดโรงงาน "กรมโรงงาน" จะนับเฉพาะโรงงานจาก ร.ง.3 ร.ง.3/1 และ ร.ง.4 ตาม พ.ร.บ.โรงงาน เท่านั้น ซึ่งไม่ครอบคลุมข้อมูลโรงงานที่ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรม ที่ขึ้นอยู่กับ พ.ร.บ.การนิคมฯ ซึ่งก็ทราบดีว่า โรงงานที่อยู่ในนิคม นั้นมีการจ้างงานเป็นจำนวนมาก

"ข้อมูลเกี่ยวกับการจ้างงานที่ระบุ คาดว่าน่าจะรวบรวมมาจากข้อมูลที่ถูกเขียนไว้ใน ร.ง.3 และ ร.ง.3/1 เท่านั้น ซึ่งไม่ได้ Update การเอาเงินทุนจดทะเบียนของโรงงานเก่าที่เปิดมานานแล้ว มาเปรียบเทียบกับบริษัทที่เพิ่งเปิดใหม่ คงจะเทียบกันไม่ได้!" ส.ส.อนาคตใหม่ ระบุ

"โรงงานที่ยังไม่ปิด ไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะดีนะครับ" ดร.วิโรจน์ กล่าวและว่า หากโรงงานไม่ปิด แต่ตัด OT พนักงาน ให้พนักงานหยุดงานบางวัน แค่นี้ก็กระทบกับรายได้ของพนักงานจำนวนมากแล้ว

ถ้าพิจารณา ดัชนีค่าจ้างแรงงาน ครอบคลุมเฉพาะค่าจ้างและค่าล่วงเวลา (จาก ธปท.) จะพบว่ามีสัญญาณบ่งชี้ว่า แรงงานมีรายได้ที่ลดลง ใน Q2 (Q3 ข้อมูลยังไม่ออกมา) ซึ่งน่าจะมาจาก OT ที่ลดลง โดยดัชนีปรับตัวลดลงจาก Q1 = 121.52 มาเป็น 114.25 ใน Q2

ที่ควรต้องตั้งข้อสังเกต ก็คือ ต.ค. 62 มีผู้ว่างงาน 3.55 แสนคน ต่ำกว่า ต.ค. 61 (3.84 แสนคน) แต่ถ้าพิจารณา "จำนวนผู้มีงานทำ" กลับพบว่าลดลงถึง 6 แสนคน

จำนวนผู้มีงานทำที่ลดลงสะท้อนว่า คนที่ว่างงานแฝง ต้องทำงานที่บ้าน คนที่หางานมานานแต่หาไม่ได้ จนถูกนับว่าเป็นกลุ่มที่สมัครใจไม่ทำงาน นั้นมีเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ "ผู้ที่อยู่ในกำลังงาน" มีจำนวนลดลง ซึ่งสถานการณ์นี้น่าห่วงนะครับ รมว.แรงงาน ควรต้องเจาะดูข้อมูล

อีกประเด็นที่ ดรวิโรจน์ ชี้ให้เห็น คือ โรงงานปิดไม่ปิด ไม่สำคัญเท่า "อัตราการใช้กำลังการผลิต" ถ้าอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำ หมายความว่า โรงงานเดินเครื่องจักรไม่เต็มประสิทธิภาพ พอผลิตไม่เต็มประสิทธิภาพ พนักงานก็อย่าหวังที่จะมี OT เผลอๆ อาจจะถูกสั่งให้หยุดงานบางวัน หรือหนักๆ อาจจะถูก Lay Off เลย

"ไม่สังเกตหรือครับว่า กระทรวงอุตฯ หลีกเลี่ยงที่จะอธิบายสถานการณ์อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) ที่ต่ำเลย" ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ระบุ

จากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม CapU ในเดือน ก.ย. 62 อยู่ที่ 64.73% เป็นการต่ำกว่า 65% ครั้งแรกนับตั้งแต่ ธ.ค. 54 และต่ำที่สุดในรอบ 94 เดือน หรือเกือบ 8 ปี โดยปกติแล้ว CapU ควรจะอยู่ที่ 75-80% ที่ระดับนี้พนักงานจะมี OT อาจจะมีการจ้างงานเพิ่ม รวมทั้ง ถ้า CapU คงระดับไว้ที่ 75-80% หรือมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ก็จะดึงดูดให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน

CapU ที่ต่ำกว่าระดับ 65% นี่ยังไม่น่ากลัวเท่ากับ แนวโน้มที่ยังมีควาเป็นไปได้ว่าจะลดลงต่ำกว่านี้อีก โรงงานเปิด หรือปิด ไม่สำคัญ เท่าอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ต่ำ และมีแนวโน้มต่ำลงไปอีกเรื่อยๆ

"นี่ล่ะครับ เศรษฐกิจแบบซบเซา ซึมยาว" ดร.วิโรจน์ ทิ้งท้าย
#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #Vajiravit #VajiravitDaily #NationTV #nation

logoline