svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

"ดีดีจำปี" ยันฐานะการเงินแกร่ง ออกหุ้นกู้ 8.7 พันล้าน

15 พฤศจิกายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"การบินไทย" ออกหุ้นกู้ 8.7 พันล้านบาทรีไฟแนนซ์ ทั้งไม่หวั่นแหล่งเงินซื้อเครื่องบิน-สนับสนุนเงินทุน เหตุได้แบงก์จีนไอซีบีซี (ไทย) หนุนเต็มที่ ทั้งมุ่งเน้นลดค่าใช้จ่ายอย่างเข้มข้นควบคู่การเพิ่มรายได้ลดภาระขาดทุน

วันนี้ (15 พ.ย. 62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 บริษัทฯได้ดำเนินการออกและเสนอขายหุ้นกู้  8,788 ล้านบาท ซึ่งทำให้การบินไทยมีเงินเข้ามา เพื่อรีไฟแนนซ์ นำไปไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดและเพิ่มสภาพคล่อง

"ดีดีจำปี" ยันฐานะการเงินแกร่ง ออกหุ้นกู้ 8.7 พันล้าน

นอกจากนี้การบินไทยยังทำเอ็มโอยูกับธนาคารไอซีบีซี  (ไทย) สถาบันการเงินชั้นนำของจีน ในความร่วมมือใน 5 ด้าน อาทิ สนับสนุนจัดหาแหล่งเงินทุน ,สนับสนุนการจัดหาสินเชื่อเช่าซื้ออากาศยาน ,การบริหารเงินสด อัตราแลกเปลี่ยน ,เชื่อมอีคอมเมิร์ซที่พร้อมสนับสนุนแหล่งเงิน และการทำตลาดเจาะลูกค้าบัตรเดบิตและเครดิตของธนาคารที่มีกว่า900ล้านใบในจีน ที่จะมีการแลกพ้อยท์เพื่อซื้อตั๋วเครื่องบินและบริการต่างๆของการบินไทย ทำให้การบินไทยขยายฐานลูกค้าในจีนเพิ่มขึ้น
นายสุเมธ กล่าวต่อว่า สำหรับในไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 ปี 2562 บริษัทฯ ยังคงดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การลดค่าใช้จ่าย บริษัทฯ ได้ออกมาตรการลดค่าใช้จ่ายภายในบริษัทฯ โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติอย่างจริงจัง อาทิ ชะลอการลงทุนที่ไม่จำเป็น ปรับปรุงกระบวนการทำงาน (Reprocess) เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ปรับลดสวัสดิการและค่าตอบแทนของฝ่ายบริหารและพนักงาน รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ และรณรงค์ให้พนักงานทุกคนให้ความร่วมมือเพื่อกอบกู้สถานการณ์
ด้านการเพิ่มรายได้ บริษัทฯ ดำเนินกลยุทธ์เจาะกลุ่มลูกค้าแบบ Personalize มุ่งเน้นการสร้างรายได้เสริม (Ancillary Revenue) ซึ่งช่วง 9 เดือนของปี 2562 (มกราคม-กันยายน) มีรายได้เสริมรวม 4,604.17 ล้านบาท เร่งดำเนินงานด้าน Digital Marketing โดยใช้ Big Data และ Data Analytic ในการวิเคราะห์ตลาด เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มการขายทาง Online ให้มากขึ้น

"ดีดีจำปี" ยันฐานะการเงินแกร่ง ออกหุ้นกู้ 8.7 พันล้าน

อีกทั้งบริษัทฯ มีแผนเพิ่มรายได้จาก e-Commerce ซึ่งจะเปิดตัวภายในปีนี้ อีกทั้งมีการเปิดเส้นทางบินใหม่ โดยเปิดเส้นทางบินสู่เซนได ประเทศญี่ปุ่น ศูนย์กลางภูมิภาคโทโฮคุ ทำการบินเที่ยวบินแรกไปเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 โดยทำการบิน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งขณะนี้มียอดสำรองที่นั่งล่วงหน้าถึงเดือนมีนาคม 2563 สูงถึง 80%นอกจากนี้ บริษัทฯ จะดำเนินการตามแผนงานที่สำคัญ ในปี 2563 ได้แก่
แผนงานที่1 การบินไทยยังคงดำเนินการตามแผนฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นการหารายได้เสริม และยังคงมีแนวทางการดำเนินงานตามกรอบ 5 กลยุทธ์ ได้แก่ 1. การเร่งทำกำไรเพิ่มจากการตลาดเชิงรุกและมีต้นทุนที่แข่งขันได้ 2. การพัฒนาศักยภาพและแสวงหาโอกาสของกลุ่มธุรกิจ3. การสร้างประสบการณ์การเดินทางที่ดีให้กับลูกค้า4. การดำเนินงานด้วยนวัตกรรมและดิจิทัลเทคโนโลยี5. การบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างมีประสิทธิผล
แผนงานที่2 วิเคราะห์และวางแผนเส้นทางการบินใหม่ที่มีศักยภาพ โดยใช้รูปแบบเซนไดโมเดล
แผนงานที่3 สายการบินไทยสมายล์เข้าสู่ระบบ Connecting Partner ของกลุ่ม Star Alliance อย่างเต็มรูปแบบ เสริมความแข็งแกร่งเครือข่ายการบิน
แผนงานที่4 ความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในวาระครบ 60 ปีของ 2 หน่วยงาน โดยจัดทำแคมเปญทางการตลาดร่วมกัน กระตุ้นนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ

"ดีดีจำปี" ยันฐานะการเงินแกร่ง ออกหุ้นกู้ 8.7 พันล้าน

นายสุเมธ กล่าวต่อว่า ในไตรมาส 3 นี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นลดค่าใช้จ่ายอย่างเข้มข้น ส่งผลให้การควบคุมค่าใช้จ่ายในไตรมาสนี้ลดลงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 7.8%
ทั้งนี้ สถานการณ์ของอุตสาหกรรมการบินในปัจจุบันมีปัจจัยลบหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ จนทำให้หลายสายการบินต้องปิดตัวลง สาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจโลก  การแข่งขันที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาค และค่าใช้จ่ายเรื่องอัตราชดเชยลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้มีสิทธิได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้าย จำนวน 400 วัน เป็นต้น
ประกอบกับปัจจัยภายในที่ยังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง คือปัญหาความล่าช้าของการซ่อมเครื่องยนต์ของบริษัทผู้ผลิต ทำให้ผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2562 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 3.7% ส่วนปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 0.6% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 80.0% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 77.5%
โดยมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 6.06 ล้านคน สูงกว่าปีก่อน 0.8% ซึ่งผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในไตรมาส 3 ของปี 2562 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 45,016 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 2,937 ล้านบาท หรือ 6.1%
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลประกอบการยังเป็นลบ แต่ในไตรมาสนี้บริษัทฯ มีการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายรวม 47,858 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 4,029 ล้านบาท หรือลดลง 7.8% ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีขาดทุนสุทธิ 4,680 ล้านบาท และหากรวม 9 เดือนแรกของปีนี้ขาดทุนอยู่ 1.1 หมื่นล้านบาท

"ดีดีจำปี" ยันฐานะการเงินแกร่ง ออกหุ้นกู้ 8.7 พันล้าน

logoline