svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจชะลอ สร้างแรงจูงใจให้คนมีพฤติกรรม Search for Yield

14 พฤศจิกายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่มีสัญญาณชะลอตัวในหลายภาคส่วน กนง. ได้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้จาก 1.50% มาอยู่ที่ 1.25% ต่อปีในการประชุมวันที่ 6 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าว ส่งผ่านผลต่อเนื่องมายังอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินอื่น ๆ ซึ่งในภาวะดังกล่าวอาจทำให้พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูง (Search for Yield) ที่มีมาอยู่เดิมเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเน้นย้ำให้ผู้ลงทุน/ผู้ออมศึกษาและทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องผลตอบแทนและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนในช่องทางต่างๆ

อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ปรับลดลงตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ช่วงเวลาประมาณ 1-3 วันภายหลังจากที่ กนง. มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ 1.25% ต่อปี (เท่ากับระดับต่ำสุดของอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยในช่วงก่อนหน้านี้) ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งต่างทยอยประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตาม โดยมีข้อสังเกตว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในรอบนี้ แตกต่างจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบเดือนส.ค. ที่ผ่านมา ใน 2 เรื่องหลักๆ คือ 1) ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่บางแห่งเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี หรือ MLR ลง ซึ่งนับได้ว่าเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีครึ่ง และ 2) ธนาคารบางแห่งมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากบางประเภทลง ในขณะที่ธนาคารหลายแห่งยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในกลุ่มลูกค้ารายย่อยไว้ตามเดิม
นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดต่ำลง ยังมีผลต่อทิศทางดอกเบี้ยในตลาดเงินอื่นๆ อาทิ อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดพันธบัตร ซึ่งในด้านหนึ่งสะท้อนว่า ผลตอบแทนจากการออมและการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำของครัวเรือนกำลังปรับลดลง ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 11 พ.ย. 2562 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 1 ปีของไทย  ปรับตัวอยู่ที่ระดับ 1.32% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยสูงสุดของผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำ 1 ปีของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่งปรับลดลงมาที่ 1.55% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในปีนี้ ส่วนอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้เอกชนระยะ 1 ปี อันดับเครดิต AAA ปรับตัวลงมาแล้ว 0.42% ในปีนี้มาอยู่ที่ 1.63% 

ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่เติบโตในกรอบจำกัด ทำให้ผลตอบแทนของสินทรัพย์/ตราสารทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำมีข้อจำกัดในการฟื้นตัวด้วยเช่นเดียวกัน ในภาวะดังกล่าวอาจเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ครัวเรือนมองหาช่องทางการออม/การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นมาชดเชย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้การติดตามผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากพฤติกรรม Search for Yield เป็นหนึ่งในโจทย์ที่หลายหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินให้ความสำคัญอย่างมาก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมสัญญาณบางส่วนที่อาจสะท้อนถึงการปรับเปลี่ยนช่องทางการลงทุนของนักลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ไว้ดังนี้ 
oนักลงทุนที่เป็นบุคคลทั่วไปลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ยอดคงค้างการถือครองหุ้นกู้ของนักลงทุนที่เป็นบุคคลทั่วไปขยับขึ้นไปเกิน 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของยอดคงค้างหุ้นกู้ทั้งหมด ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับการฝากเงินและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เช่น พันธบัตรรัฐบาล ที่ทยอยปรับตัวลดลง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สัดส่วนการถือครองหุ้นกู้ภาคเอกชนของนักลงทุนที่เป็นบุคคลทั่วไป จะขยับขึ้นมาอยู่ที่กรอบประมาณ 32-33% ของยอดคงค้างหุ้นกู้ทั้งหมด ณ สิ้น ปี 2562 จากระดับ 30% ณ สิ้นปี 2561 สอดคล้องกับปริมาณการออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่าวมากในปีนี้   
ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องเน้นย้ำกับนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นกู้ ก็คือ หุ้นกู้มีหลายประเภท เงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนก็มีความแตกต่างกัน และผลตอบแทนที่สูงขึ้นของหุ้นกู้แต่ละตัวนั้นก็เพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยและไถ่ถอนหุ้นกู้คืนเมื่อถึงกำหนด   oจำนวนกองทุนรวมที่มีระดับความเสี่ยงสูงกว่ากองทุนรวมตราสารหนี้เพิ่มขึ้นตลอดในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 โดยเฉพาะกองทุนรวมผสม กองทุนรวมหุ้น และกองทุนรวมประเภทอื่นๆ  ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาที่ 275 กอง  757 กอง และ 135 กอง ตามลำดับ ทั้งนี้ ทิศทางดังกล่าวอาจเป็นตัวสะท้อนทั้งมิติในด้านความต้องการลงทุนของนักลงทุนและในด้านการนำเสนอผลิตภัณฑ์กองทุนรวมที่ผสมองค์ประกอบของสินทรัพย์และตราสารทางการเงินที่หลากหลายทั้งในและต่างประเทศ เพื่อโอกาสของผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุน ซึ่งย่อมมาพร้อมกับระดับความเสี่ยงของกองทุนที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน oเงินออมของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ยังคงเติบโตต่อเนื่อง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของสหกรณ์สูงกว่าสถาบันรับฝากเงินอื่นๆ โดยล่าสุดยอดคงค้างเงินออมของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์อยู่ที่ 2.067 ล้านล้านบาทในไตรมาส 2/2562  ขณะที่ข้อมูลอีกด้านหนึ่งจากรายงานของธปท. ระบุว่า แม้สินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์จะเติบโตในกรอบที่ชะลอลง แต่ยังคงมีพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนสูง โดยเฉพาะการลงทุนในตราสารหนี้และหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง 

logoline