svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

"สุริยะ" ลงพื้นที่ราชบุรี-กาญจนบุรีเสริมแกร่งผู้ประกอบการ

11 พฤศจิกายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานประกอบการในจังหวัดราชบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี หารือแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ พร้อมหนุนข้อเสนอของกลุ่มจังหวัด ภาคกลางตอนล่าง เพื่อพัฒนาต้นแบบระบบการตัดอ้อยสดและบรรทุกอ้อยเข้าโรงงาน และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (12 พ.ย.62) โดยคาดหวังให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่างลดต้นทุน ลดมลพิษ ลดการสูญเสีย ลดความเดือดร้อนของชุมชนอย่างเต็มที่

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าการลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานประกอบการในจังหวัดราชบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2562 เพื่อไปตรวจเยี่ยม     รับฟังปัญหา และข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง โดยได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) หมู่บ้านหัวเขาจีนเป็นแห่งแรก ซึ่งหมู่บ้านหัวเขาจีนเป็นหนึ่งในหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจากกระทรวงอุตสาหกรรมด้านการบริหารจัดการชุมชน การจัดทำเส้นทางท่องเที่ยว การชูเอกลักษณ์ชุมชนเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ การเข้าถึงช่องทางการตลาดแบบ Offline และ Online การสนับสนุนเทคนิควิธีการที่สามารถน้ำไปประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ที่ชุมชนมีอยู่ รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของชุมชนจากผลิตภัณฑ์เดิมที่เคยผลิต ปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และสามารถผลิตเองได้ในชุมชน

"ที่หมู่บ้านหัวเขาจีน ผมได้รับทราบปัญหาของทางหมู่บ้านคือ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ยังไม่ค่อยแตกต่างจากเดิม ซึ่งตรงนี้ผมได้กำชับให้หน่วยงานดำเนินงาน เข้าไปดูแลจัดการอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมที่จะสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์" 

จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและคณะ ได้เดินทางไปยังศูนย์ปรับปรุงพันธุ์อ้อยแห่งประเทศไทย และพบปะกับเกษตรกรชาวไร่อ้อย พร้อมชมการสาธิตกระบวนการปรับปรุงพันธุ์อ้อยและการสาธิตการเพาะปลูกอ้อยแบบอัจฉริยะ (Sugar Cane Smart Farming) เยี่ยมชมอาคารควบคุมสภาพแวดล้อมและเทคโนโลยีชักนำให้พ่อแม่พันธุ์อ้อยออกดอก (Photo period house) เยี่ยมชมเทคโนโลยีฐานชีวภาพ นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้จับคู่ผสมพันธุ์อ้อยลูกผสมชุด 2019 เป็นปฐมฤกษ์อีกด้วย 

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางไปเยี่ยมชมการดำเนินกิจการของ บริษัท สยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตกระดาษคราฟท์และเยื่อจากเศษกระดาษ มีกำลังการผลิตกระดาษคราฟท์ ประมาณ 820,000 ตัน/ปี มีกำลังการผลิตถุงอุตสาหกรรม ประมาณ 96 ล้านใบ/ปี โดยบริษัทเน้นการพัฒนาและออกแบบสินค้าให้ใช้งานง่าย ใช้ทรัพยากรน้อย คงทนแข็งแรง นำมาใช้ซ้ำและรีไซเคิลง่าย  

บริษัท สยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด ได้เน้นการใช้นวัตกรรมมาพัฒนากระบวนการผลิตผสมผสานด้วย   ภูมิปัญญาและได้รับมาตรฐาน ขณะเดียวกันยังสอดรับกับนโยบาย Circular Economy (Business value chain) ด้วยการจัดทำโครงการส่งน้ำบำบัดให้เกษตรกร โครงการ WASTE TO HIGH VALUE PRODUCT โครงการรักษ์กระดาษ หรือเศษกระดาษกลับสู่โรงงาน โครงการผลิตอิฐ PROBLOCK จาก FLY ASH  โครงการพัฒนาพลังงานทดแทนโดยติดตั้งระบบจัดการของเสียจากกระบวนการผลิต (Waste to Energy) เพื่อเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานไฟฟ้า และโครงการติดตั้งโซลาร์รูฟทอปเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้ในโรงงาน ขนาด 3,523,501 kWh/ต่อปี       
         "สำหรับข้อเสนอของภาครัฐ -เอกชน ในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง เพื่อพัฒนาต้นแบบระบบการตัดอ้อยสดและบรรทุกอ้อยเข้าโรงงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยให้มีต้นทุนการตัดสด และการขนส่ง ถูกลง รวมถึงลดมลพิษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน แก้ไขปัญหามลพิษที่เกิดจากอุตสาหกรรมอ้อยตลอดห่วงโซ่อุปทาน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอ้อยให้มีคุณภาพ และเป็นต้นแบบให้กับ โรงงานน้ำตาล และ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ทั้งระบบในอนาคต โดยเริ่มดำเนินการในปี 2564 2567 แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะแรกตั้งแต่ปี 2564-2566 ดำเนินการพัฒนาต้นแบบระบบการตัดอ้อยสดและบรรทุกอ้อยเข้าโรงงาน วิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ต่อพ่วงเครื่องจักรกลทางการเกษตรเพื่อสนับสนุนการเก็บเกี่ยวอ้อย จัดตั้งศูนย์การบริหารขนส่งและตรวจวัดคุณภาพภาพอ้อยก่อนเข้าโรงงานน้ำตาล และระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2565-2567 ดำเนินการสนับสนุนการจัดทำระบบคัดแยกสิ่งเจือปนออกจากอ้อยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ทั้งนี้ กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง เป็นพื้นที่ที่มีโรงงานน้ำตาลอยู่จำนวนมากและใกล้กับชุมชนด้วย ขณะเดียวกันก็พบว่า ยังคงมีเกษตรกรบางส่วนที่เผาอ้อยเพื่อเร่งรีบเก็บเกี่ยวให้ทันก่อนที่โรงงานน้ำตาลจะปิดหีบ ซึ่งการดำเนินการโดยเพื่อพัฒนาต้นแบบดังกล่าวจะเป็นการแก้ปัญหาให้กับชาวเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ได้ในระยะยาว"นายสุริยะ กล่าวปิดท้าย

logoline