svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ปัญหาที่ดินบนเกาะ​: กรณีเกาะช้าง​ กับสิทธิ​ชุมชน​ดั้งเดิม

09 พฤศจิกายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เกาะหลายแห่งในประเทศไทย มีสถานะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สวยงาม แต่ย้อนกลับไปในอดีตก่อนที่เกาะต่างๆจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีชุมชนดั้งเดิมอยู่อาศัย มีการจับจองที่ดิน โลกที่หมุนเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ไม่มีใครรู้ว่า จะเกิดข้อพิพาทเรื่องที่ดินขึ้นในภายหลัง และปัญหาที่ดินบนเกาะเกือบทุกที่มีลักษณะคล้ายๆกัน

ถ้าไม่นับรวมหาดทรายที่ขาวสะอาด น้ำทะเลใส มีลมพัดผ่านตลอดวัน เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว ชาวตะวันตก ที่มาพักเป็นแรมเดือน มองผ่านเบื้องหลังความสวยงามไป จะพบเจอกับปัญหาที่ซับซ้อนและรุงรังบนเกาะสวยงามแห่งนี้

ใครอยู่มาก่อนกันเป็นคำถามตัวโตๆที่เกิดขึ้นท่ามกลางข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านกองทัพเรือและ อุทยานแห่งชาติเกาะช้าง ปัญหาเกิดจากที่ดินทำกินของชาวบ้านที่ถือครองเป็นเอกสารสิทธิ์ ส.ค. 1 มาตั้งแต่ปี 2498 ถูกกองทัพเรือประกาศ ที่หลวงทับซ้อน ปัญหาไม่จบเพียงเท่านั้น ในหมู่บ้านอีกฟากหนึ่งของเกาะ ถูกกรมอุทยานประกาศเขตอุทยานทับซ้อน ใช้เวลาในการต่อสู้ข้อพิพาทกันมายาวนานหลายสิบปียังไม่ได้ข้อยุติ

"โสภณ จันเดิม" ตัวแทนกลุ่มราษฎรในพื้นที่ จังหวัดตราด ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาที่ดินเกาะช้าง มีข้อเสนอเร่งด่วน ที่ได้ยื่นต่อสำนักนายกรัฐมนตรี ล่าสุด คือให้ชะลอดำเนินคดีกับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาท, ให้กันพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ที่อยู่มาก่อนประกาศมติคณะรัฐมนตรี 6 กันยายน 2510 ออกจากพื้นที่หนังสือสำคัญที่หลวง และ ชาวบ้านที่มี ส.ค.1 ขอให้ไม่ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ซ้ำนั้น 

ปัญหาที่ดินบนเกาะ​: กรณีเกาะช้าง​ กับสิทธิ​ชุมชน​ดั้งเดิม


ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อำเภอเกาะช้าง มีการนำข้อเสนอดังกล่าวไปเสนอในที่ประชุม แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากทั้งกองทัพเรือ และกรมอุทยานฯ
แหล่งข่าวจากกองทัพเรือ บอกกับ "วชิรวิทย์รายวัน" ว่าเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากพบชาวบ้านบุกรุกเข้าไปในเขตประกาศหนังสือสำคัญที่หลวง ก็จะต้องดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีเพราะหากไม่ทำก็ มีโทษในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ขณะที่ปัจจุบันปัญหาที่ดิน ส.ค 1 บริเวณเกาะช้าง มีปัญหา ส.ค.บวมหลายราย และพร้อมต่อสู้ในชั้นศาลปกครอง โดยจากเอกสารของกองทัพเรือ ระบุว่ามีพื้นที่ทับซ้อนกับหนังสือสำคัญที่หลวง ประมาณ 2,000 ไร่ มีชาวบ้านได้รับผลกระทบ 190 ครัวเรือน

วันเดียวกัน นายโสภณ บอกว่าหลังจากนี้ชาวบ้านจะรวมกลุ่มกัน รวบรวมหลักฐานและยื่นฟ้องศาลปกครอง เนื่องจากชาวบ้านเชื่อในเอกสารสิทธิ์ที่ถือครอง และภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลังตั้งแต่ปี 2518ซึ่งมีร่องรอยการทำกินปรากฏ ยืนยันที่ว่าอาศัยอยู่มาก่อนการประกาศหนังสือสำคัญที่หลวง ในปีพศ. 2537 การกระทำของกองทัพเรือ จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนที่อยู่มาแต่เดิม ให้ไม่มีความมั่นคงในที่ทำกิน และที่อยู่อาศัย

นอกจากเกาะช้างจะมีปัญหาหนังสือสำคัญที่หลวงทับที่ทำกินของชาวบ้านแล้ว การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเมื่อปี 2525 ได้ทับซ้อนที่ทำกินของชาวบ้านจำนวน 9 หมู่บ้าน ทั้งตำบลเกาะช้าง และตำบลเกาะช้างใต้ มีผู้ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก บางรายต่อสู้จนถึงชั้นศาล จนชนะและได้โฉนดที่ดินกลับมา แต่ยังมีอีกหลายรายที่ตกหล่น และถูกกรมอุทยานฯบังคับ ให้อยู่อาศัย แบบไม่มีเอกสารสิทธิ์ โดยยินยอมอยู่อาศัยตามมติครม 30 มิ.ย 41 ที่เปิดโอกาสให้ราษฎรอาศัยในเขตป่า ซึ่งชาวบ้านไม่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือหรือขยับขยาย ปลูกสร้างใดๆได้

ปัญหาที่ดินบนเกาะ​: กรณีเกาะช้าง​ กับสิทธิ​ชุมชน​ดั้งเดิม



"โกสิทธิ์ นิลรัตน์" หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเกาะช้าง ยืนยันกับ "วชิรวิทย์รายวัน" ว่ากรณีพิพาทการประกาศเขตอุทยานทับที่ทำกินของชาวบ้าน กรมจะไม่เพิกถอนเขตอุทยานฯออกจากพื้นที่ที่ทับซ้อน พร้อมเดินหน้ารังวัดที่ดิน เพื่อให้สิทธิ์ชาวบ้านอยู่อาศัยตามมติครม 30 มิ.ย 41 และมติครม 26 พ.ย 61 รวมทั้ง อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ. ศ. 2562 ซึ่งปัจจุบันรังวัดแล้วเสร็จไปแล้ว 2 หมู่บ้าน จาก 9 หมู่บ้านที่มีปัญหาข้อพิพาท ซึ่งตั้งเป้าจะทำจะรังวัดให้แล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคมปี 2563 และพร้อมต่อสู้หากมีการฟ้องศาลปกครอง เช่นเดียวกัน

ชาวบ้านบอกกับเราว่า การต่อสู้กับทั้ง กรมอุทยานและกองทัพเรือ เรื่องข้อพิพาทที่ดินยืดเยื้อมากว่า 20 ปี ท้ายที่สุดอาจต้องพึ่งอำนาจศาลปกครอง ฟ้องทั้งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ กองทัพเรือ ที่ละเมิดสิทธิชุมชนที่อยู่อาศัยมาแต่เดิม

"สิระ เจนจาคะ" รองประธานคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้รับเรื่องร้องเรียนของชาวบ้านไว้ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงผลกระทบจากข้อพิพาท ดังกล่าว บอกว่าจะรับเรื่องไปประสานต่อ โดยทั้งสองกรณี ไม่ว่าจะ เป็น การประกาศหนังสือสำคัญที่หลวงทับที่ทำกิน หรือประกาศเขตอุทยานทับที่ทำกิน จะเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริง โดยเรื่องราวทั้งหมดไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีการพิสูจน์สิทธิ์จากคณะอนุกรรมการ แก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐหรือ กบร. ที่มี "พลเอก สุรินทร์ พิกุลทอง" เป็นประธาน ซึ่งได้พิสูจน์สิทธิ์ชาวบ้านกลุ่มนี้ มีหลักฐาน การตั้งถิ่นฐานจากร่องรอยการใช้ประโยชน์ก่อนการประกาศหนังสือสำคัญที่หลวงและเขตอุทยานจริง จึงควรมีสิทธิ์ได้ที่ดินโดยชอบ แต่ปัญหาติดขัดที่อะไรก็จะไปตามเรื่องให้

"วชิรวิทย์รายวัน" ได้มีโอกาสลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านที่อยู่อาศัยดั้งเดิม เป็นคุณตาวัยเกือบ 80 ปี บอกว่าปัจจุบันได้รับผลกระทบอย่างมาก มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาในพื้นที่ขอให้หยุดก่อสร้าง และหยุดถางพื้นที่ทำสวน ทำให้เกิดความหวาดกลัวและรู้สึกไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย ทั้งๆที่เอกสารสิทธิ์ครอบครองมาก่อน และมีร่องรอยการทำมาหากินเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกไว้ก่อนปี 2510 เช่นต้นมะม่วง และต้นยาง บ่งบอกถึงการทำกินมาก่อนการประกาศเขตทับที่

ปัญหาที่ดินบนเกาะ​: กรณีเกาะช้าง​ กับสิทธิ​ชุมชน​ดั้งเดิม



สำหรับปมปัญหาข้อพิพาท ที่ซับซ้อน บนที่ดินเกาะช้างเกิดขึ้นย้อนไปหลังมีการนิรโทษกรรมให้ชาวบ้านแจ้งสิทธิ์ครอบครอง ที่ดินแบบ ส.ค. 1 เมื่อปี 2498 ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิ์ที่ไม่ได้ระบุแนวเขตที่ดินชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาการรังวัดที่ดินในเวลาต่อมา กระทั่งปี 2510 มีมติครม 6 กันยายน 2510 ให้ออกหนังสือสำคัญที่หลวงเพื่อใช้ในราชการกองทัพเรือ ต่อมาปี 2525 มีการประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเกาะช้าง 91,000 ไร่ จากนั้นปี 2537 มีการออกหนังสือสำคัญที่หลวง กินพื้นที่อีก 18,000 ไร่ ซึ่งทั้งสองกรณี ทับซ้อนกับที่ดินของชาวบ้านที่ถือครองกรรมสิทธิ์เป็น ส.ค 1 โดยชาวบ้านได้ยื่นเรื่องให้หลายรัฐบาล แต่ปัญหายังไม่ถูกแก้ไข

ลักษณะของปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในหลายๆเกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีรูปแบบคล้ายๆกันคือการประกาศเขตที่ดินของรัฐ ทับซ้อนกับที่ดินของชาวบ้านเดิม และต้องมีขั้นตอนในการพิสูจน์สิทธิ์ ที่ยุ่งยากและซับซ้อน หลายกรณีต้องไปจบที่ศาลปกครอง เช่นเกาะปอดะ เกาะเสม็ด เป็นต้น ที่เอกชนพิพาทกับกรมอุทยานแห่งชาติ

ทุกข้อพิพาทเรื่องที่ดิน มีคำถามสำคัญ เป็นคำถามเดียวกันนั่นคือ "ใครอยู่มาก่อนกัน"

ปัญหาที่ดินบนเกาะ​: กรณีเกาะช้าง​ กับสิทธิ​ชุมชน​ดั้งเดิม



#วชิรวิทย์รายวัน #วชิรวิทย์ #Vajiravit #VajiravitDaily #Nation #NationTV

logoline