svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ยังไม่พร้อมประมูลคลื่น 3.5GHz

08 พฤศจิกายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"กมธ.ดีอีเอส" เผย "กสทช." แจงยังไม่พร้อมประมูลคลื่น 3.5GHz ชี้ ติดสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม5 ยอมรับ คลื่น3.5GHz เหมาะทำ5G บอก พร้อมนำมาประมูลหลังสัมปทาน

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. นายสมเกียรติ ถนอมสินธุ์ ส.ส.กทม. พรรคอนาคตใหม่ ในฐานโฆษกคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือกมธ.ดีอีเอส ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมกรรมาธิการฯ เมื่อวันที่ 7 พ.ย. โดยมีวาระพิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณีขอให้ติดตามการจัดทำแผนและหลักเกณฑ์การอนุญาตสิทธิ์การเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ โดยได้เชิญตัวแทนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส และตัวแทนจากสำนักงานกิจการวิทยุ กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. มาชี้แจง ซึ่งที่ประชุมได้มีการหารือถึงการนำคลื่นความถี่ย่าน 3.5 GHz ที่ขณะนี้อยู่กับดาวเทียมไทยคม5 มาใช้ในการดำเนินการ 5G โดยทางกสทช. ยอมรับว่าคลื่นความถี่ 3.5 GHz เป็นคลื่นที่เหมาะสม ที่ทำให้เทคโนโลยี 5G สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ
นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า กสทช. ยังชี้แจงถึงการนำคลื่น 3.5 GHz มาประมูลอีกว่า แน่นอนว่าอนาคตจะต้องมีการนำคลื่น 3.5 GHz มาประมูล แต่การประมูลจะต้องทำหลังจากที่หมดสัญญาสัมปทานแล้วในปี 2564 ไม่สามารถประมูลได้ในช่วงต้นปี 2563 เพราะถ้าจะให้มีการประมูลตอนนี้เลย ยังมีปัญหาเรื่องความพร้อม และยังอยู่ในสัญญาสัมปทาน หากจะนำมาประมูลก็ต้องมีการจ่ายชดเชยให้ ซึ่งจะกลายเป็นการต้องเสียงบประมาณโดยไม่จำเป็น โดยในส่วนของดาวเทียมไทยคม5 ที่จะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2564 คณะกรรมาธิการฯ ก็ได้แสดงความห่วงใยในช่วงเปลี่ยนผ่านด้วยการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ หรือ พีพีพี โดยกมธ.อีดีเอส ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างโปร่งใส รอบคอบ ตรวจสอบได้ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชน
โฆษกกมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า จากการชี้แจงของ กสทช. ทำให้คณะกรรมาธิการฯ มีความเข้าใจมากขึ้นและเห็นความสำคัญว่าทำไมถึงมีความจำเป็นต้องนำคลื่น 3.5GHz มาใช้ทำ5G นั่นก็เพราะประโยชน์ที่จะตามทั้งในด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสาธารณสุข ที่ทุกอย่างสามารถขับเคลื่อนด้วย 5G เมื่อ 5G เข้ามาแล้วจะทำให้โลกของการสื่อสารเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง อนาคตจะไม่ใช่แค่มือถือหรือสมาร์ทโฟนแล้วที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ แต่เป็นอุปกรณ์อื่นทุกชนิดที่จะเชื่อมอินเตอร์เน็ตได้เรียกว่า Internet of Things หรือ IoT นอกจากจะมีประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ที่ทำให้การดูหนัง ฟังเพลง ได้อย่างเร็วรวดไม่มีสะดุดแล้ว ที่สำคัญคือเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิต ช่วยลดข้อผิดพลาด ลดเวลาการผลิต ลดต้นทุน แต่เพิ่มผลผลิตได้ ตรงนี้จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

logoline