svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

"ซีพี" สู้พลิกคำตัดสินศาลลุ้น"เมืองการบิน"

07 พฤศจิกายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ "ซีพี" สู้พลิกคำตัดสินศาล อาจได้สิทธิประมูล "เมืองการบิน" ต่อแม้ส่งเอกสารเกินเวลา 9 นาที ด้านฝ่ายผู้ถูกร้องยืนยัน ตัดสิทธิ์ ซีพี ตามเดิม

ศาลปกครองสูงสุด พิจารณาคดีกรณี บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวก ประกอบไปด้วย 1. บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี 2.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) 4. บี.กริม จอยน์ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด และ 5. Orient Success International Limited เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง คณะกรรมการคัดเลือกโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ในกรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และวานนี้ศาลได้นั่งพิจารณาครั้งแรก โดยเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้ชี้แจงเพิ่มเติม พร้อมกับอนุญาตให้ผู้ร่วมประมูลทั้ง 2 ราย และผู้สื่อข่าวเข้าฟังการพิจารณาด้วย
บริษัท ธนโฮลดิ้ง ส่งตัวแทนมาชี้แจง 2 ราย และชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร ใจความสำคัญกล่าวอ้างว่า สถานที่ยื่นซองข้อเสนอ RFP ห้องรับรองไม่ระบุให้ชัดเจน ต่อมาคือเรื่องของเวลา 16.00 น. ที่ได้เข้าชี้แจงนั้นเอกสารได้ตรวจรับทั้งหมด คณะกรรมการไม่ได้มีข้อขัดแย้งใดๆ รวมถึงรับชำระค่าธรรมเนียมแล้ว จึงถือว่าตรวจรับเอกสารเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งหากได้เข้าไปร่วมประมูล ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้อยู่แล้ว จึงถือเป็นประโยชน์แก่รัฐที่จะได้ผู้ประมูล ที่ให้ผลประโยชน์ได้สูงที่สุด ทั้งยังมีปัญหาการจราจรที่ติดขัดอีกด้วย

ด้านคณะกรรมการคัดเลือก มี พล.ร.ต.เกริกไชย วจนาภรณ์ ในฐานะผู้ดำเนินโครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภา เข้าชี้แจงเพิ่มเติม ระบุว่า ข้อเท็จจริงที่ทางธนโฮลดิ้งกล่าวนั้น "ไม่ถูกต้อง" เนื่องจากใน การกำหนด RFP ห้องรับรองได้ถูกกำหนดไว้ชัดเจนแล้ว มีนาฬิกาตั้งอยู่ถึง 2 เรือน ที่เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกชัดเจนทั้งระบบแอนาล็อคและดิจิทัล เพื่อป้องกันความผิดพลาด จุดยื่นซองประมูลก็ถือเป็นจุดที่กองทัพเรือปฎิบัติมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในวันที่ 21 มีนาคม ผู้ยื่นที่มีความพร้อมสามารถเข้าห้องได้ทันทีไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่ และในข้อกำหนดก็ถูกระบุไว้ชัดเจนว่าต้องรอเจ้าหน้าที่ ซึ่งยังมีอีก 6 ประเด็นที่ พล.ร.ต.เกริกไชย ได้ชี้ให้เห็นว่า 1.ข้อเท็จจริงที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนคือเรื่องของเวลาที่มาส่งหลักฐานเกินไป 9 นาที ทั้งภาพและหลักฐาน // 2.เวลาเป็นสาระสำคัญที่ถูกระบุไว้ชัดเจนว่าหากเกินจะไม่รับ // 3.หากศาลอนุโลมในครั้งนี้ จะทำให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของไทยผิดเพี้ยน // 4.บรรทัดฐานการตัดสินก่อนหน้านี้เคยมี คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ. 1205/2560 เป็นคดีที่กรมฯ ถูกฟ้องสืบเนื่องจากผู้แทนของผู้มีสิทธิเสนอราคามาไม่ทันเวลาลงทะเบียนโดยช้าไปเพียง 39 วินาที แต่ก็หมดสิทธิเสนอราคา แต่กรณีนี้เกินเวลามาถึง 9 นาทีด้วยกัน 5.ผู้ฟ้องอย่างบริษัท ธนโฮลดิ้ง พยายามหาข้อผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ทุกวิถีทางเพื่อขยายเวลา แต่ยืนยันว่าผู้ที่อยู่ ณ จุดลงทะเบียนทั้ง 49 ราย ไม่มีอำนาจในการตัดสิน และ 6.ผู้ฟ้องยังพยายามให้ค่านิยมที่ผิดในการฟ้องคดี ข้อกล่าวอ้างที่บอกถึงการให้ผลประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ จะรับทราบได้อย่างไร เพราะยังไม่เปิดซองราคา รวมถึงประโยชน์กับรัฐนั้น คือการทำตามกฎระเบียบที่ถูกต้อง ไม่ใช่การมีเงินจ้างทนายเก่งๆ แล้วสามารถพลิกคดีกลับเข้ามาประมูลได้ หากเป็นเช่นนั้นผู้ใดที่มีเงินก็จะสามารถมาประมูลได้ ไม่ต้องสนใจกฎระเบียบอย่างนั้นใช่หรือไม่

ถึงตรงนี้ ศาลได้เตือนตัวแทนผู้ถูกฟ้องให้ระวังคำพูดที่อาจกดดันคำตัดสินของศาลได้ โดย พล.ร.ต.เกริกไชย ได้กล่าวถึงข้อสรุปหนังสือร้องเรียนของเอกชนผู้เข้าประมูลอีก 2 ราย คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส และกลุ่ม Grand Consortium โดยมีหลายข้อสังเกตที่น่าสนใจ เช่น ห้องรับรองลงทะเบียนไม่ชัดเจน ซึ่งผู้ฟ้องเคยประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินมาอยู่แล้ว และมีกฎระเบียบที่เหมือนกัน กลับกล่าวว่าไม่ชัดเจนจึงไม่สามารถอ้างได้
ข้อต่อมาคือผู้ประมูลทั้ง กลุ่ม บีบีเอส และกลุ่มแกรนด์ คอนซอเทียม ได้เข้ามาพบกับคณะกรรมการเพียง 2 ครั้ง ก็จัดการเอกสารทุกอย่างเรียบร้อย แต่กลุ่ม ธนโฮลดิ้ง เข้ามาพบกับคณะกรรมการถึง 3 ครั้ง แต่ก็ยังจัดเอกสารไม่เรียบร้อย อาจตั้งข้อสงสัยได้ว่าเป็นการพยายามดึงเวลาเพื่อประเมินคู่ต่อสู้ และเปลี่ยนแปลงข้อเสนอในนาทีสุดท้าย แต่เกิดความผิดพลาดจึงมาไม่ทัน
เรื่องต่อมาคือการคำตัดสินของศาลเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐาน อาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือของระบบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ในอนาคตก็จะไม่มีเอกชนรายใดที่ให้ความเชื่อถือกับระบบของรัฐอีกแล้ว รวมถึงเป็นการตัดกำลังใจของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทุกคน ประพฤติปฎิบัติยึดถือกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด แต่กระบวนการพิจารณากลับให้คนที่ทำผิดกฎระเบียบเข้ามามีส่วนร่วมในการประมูลต่อ เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยจึงอาจถูกลงโทษ ว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นได้
ส่วนข้อกล่าวอ้างที่บอกว่ามีปัญหาการจราจรติดขัด เชื่อว่าเอกชนทุกรายอยู่ในสถานการณ์เดียวกันจึงไม่สามารถอ้างได้
โดยในขั้นตอนสุดท้ายของการพิจารณาตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้นประจำศาลปกครองสูงสุด นายเชี่ยวชาญ สุขช่วย เป็นตุลาการผู้แถลงคดี กล่าวสรุปในขั้นตอนการพิจารณา โดยระบุว่า "เนื่องจากข้อเท็จจริง คณะกรรมการคัดเลือกไม่มีข้อกำหนดการตรวจรับเอกสารที่ชัดเจนว่าการลำเลียงเอกสารจะต้องมาครบทั้งหมดในเวลา 15.00 น. ตลอดจนไม่มีการทักท้วงตั้งแต่ตอนตรวจรับและชำระค่าธรรมเนียม ซึ่งหากมีการให้เข้าร่วมประมูล ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ ทั้งยังเป็นประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ ฉะนั้นตุลาการผู้แถลงคดี ที่ไม่ผูกพันกับองคณะตุลาการผู้ตัดสิน มีความเห็นว่า ควรกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับพิจารณาคดี และเพิกถอนมติดังกล่าว"
อย่างไรก็ตาม ตุลาการองคณะตัดสิน ได้เน้นย้ำว่าจะมีการประชุมหารือ และเรียกมาฟังผลการพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง ฉะนั้นคำติดสินจะออกมาในทิศทางใดก็ได้

logoline