svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

กสทช.ถือฤกษ์วันธงชัย 16 ก.พ.63 ประมูล 5G

31 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กสทช.เตรียมจัดประมูล 5G วันที่ 16 ก.พ.63 เปิดราคาคลื่น 2600 MHz ใบอนุญาตละ 1,862 ล้านบาท คาดเปิดให้บริการเดือน ก.ค. 63 ด้านเอกชนพร้อมหนุน 5G แนะรัฐคิดใหม่แบ่งเงินประมูลคลื่นกลับมาลงทุน ติดตามจากรายงาน


เทคโนโลยี 5G ไม่ได้จำกัดการใช้งานเฉพาะกลุ่มผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เท่านั้น แต่สามารถตอบโจทย์การใช้งานให้กับภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย โดยประเทศยักษ์ใหญ่ เช่น จีน สหรัฐ และเกาหลีใต้ ได้นำร่องเปิดให้บริการในบางพื้นที่เรียบร้อยแล้วในปีนี้ ขณะที่ไทยกำหนดโรดแมปที่จะเปิดใช้ 5G เชิงพาณิชย์ในปี 2563 ซึ่งสอดคล้องกับอีกหลายประเทศทั่วโลก
สำหรับไทยเทคโนโลยี 5G เปรียบเสมือนรากฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างประโยชน์ให้กับภาคเศรษฐกิจในระยะยาว ทุกวันนี้โลกถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ระบุ ผลการศึกษาราคาเริ่มต้นการประมูลคลื่น 2600 MHz อยู่ที่ใบอนุญาตละ 1,862 ล้านบาท ขณะที่คลื่น 26 GHz อยู่ที่ใบอนุญาตละ 300 ล้านบาท จำนวน 27 ใบอนุญาตๆละ 100 MHz
คาดว่าการจัดประมูลคลื่นจะเกิดขึ้นวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 และเริ่มบริการได้ในเดือนกรกฎาคม 2563 หากดำเนินการทันตามกรอบเวลาจะสามารถเปิดให้บริการทันกับประเทศเพื่อนบ้าน หาก 5G เกิดได้ทัน จะเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2563-2573 เฉลี่ยปีละ 5.68% ของ GDP
โดยภายในวันที่ 6 พ.ย. 2562 จะเสนอคณะอนุกรรมการโทรคมนาคม เพื่อเสนอต่อที่ประชุมกสทช. และเปิดประชาพิจารณ์ เพื่อให้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และเชิญชวนผู้สนใจประมูล
สำหรับเงื่อนไขหลังได้รับใบอนุญาต 5G ผู้ชนะการประมูล ต้องชำระค่าใบอนุญาตปีแรก จำนวน 10% จากนั้นไม่ต้องชำระค่าใบอนุญาต ในปีที่ 2-4 เพื่อให้เอกชนมีเวลาในการทำธุรกิจ และให้จ่ายใบอนุญาต ปีที่ 5-10 ปีละ15 % นอกจากนี้ ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องนำคลื่นที่ได้ไปใช้งาน 5G เท่านั้น และต้องลงทุนในอีอีซี 50% ปีแรก และลงทุนในสมาร์ท ซิตี้ 50% ภายใน 4 ปี
ด้านสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส ระบุ ราคาใบอนุญาตที่ต่ำลงอาจส่งผลให้มีเอกชนรายอื่นเข้ามาปั่นราคาให้สูงได้ ดังนั้น กสทช. จะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขผู้ที่จะเข้ามาประมูลให้ชัดเจน หากเป็นผู้เล่นรายใหม่จะต้องวางเงินค้ำประกันจากธนาคาร หรือ แบงก์การันตี 100% เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทิ้งใบอนุญาตและไม่รับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ อยากเสนอให้คณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ที่กำลังจัดตั้ง ควรแบ่งเงินที่ได้จากการประมูลบางส่วนให้เอกชนนำมาลงทุนโครงข่ายแทนที่จะนำเงินส่งกระทรวงการคลังทั้งหมด เพราะหากเงื่อนไขการประมูลต้องเร่งลงทุนในพื้นที่อีอีซีและสมาร์ท ซิตี้ ซึ่งเป็นการลงทุนสูง อาจจะไม่อยากลงทุน
ธนัญญา นาคเงิน เนชั่นทีวี รายงาน

logoline