svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

หน้าชื่นอกตรม! คนสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขง​

30 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วชิรวิทย์รายวัน เคยเดินทางเข้าไปสำรวจ เขื่อนไซยะบุรี ในช่วงที่ก่อสร้างแล้วเสร็จไปประมาณ 97 เปอร์เซ็นต์ และล่าสุดเพิ่งจะเปิดเดินเครื่องจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือกฟผ. เมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา

ซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่ต้องบอกเล่าถึงผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขง ภาพของท้องน้ำที่ปรากฏผืนทรายให้เห็นแสดงถึงความเหือดแห้งไปของสายน้ำที่เคยพยศ เป็นหลักฐานยืนยันว่าแม่น้ำโขง ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว และกำลังจะกลายเป็นเพียงตำนานเท่านั้น

หน้าชื่นอกตรม! คนสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขง​



ใครคือผู้ฆ่าแม่น้ำโขง? นาทีนี้ทุกคนพุ่งเป้าไปที่การสร้างเขื่อน ซึ่งก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดภาวะน้ำขึ้นลงไม่เป็นไปตามฤดูกาล แม้ว่าคนสร้างเขื่อนจะปฏิเสธมาโดยตลอดว่าตัวเองไม่ใช่ผู้สร้างผลกระทบ

"วชิรวิทย์รายวัน" เคยเดินทางเข้าไปสำรวจ "เขื่อนไซยะบุรี" ในช่วงที่ก่อสร้างแล้วเสร็จไปประมาณ 97 เปอร์เซ็นต์ และล่าสุดเพิ่งจะเปิดเดินเครื่องจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือกฟผ. เมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา ผู้บริหารของเขื่อนยืนยันว่าเขื่อนไม่มีการกักเก็บน้ำ น้ำไหลมาเท่าไหร่ก็จะปล่อยไปเท่านั้น มีลักษณะเหมือนฝายน้ำล้น โดยใช้กระแสน้ำที่ไหลล้น มาปั่นไฟ

แต่ข้อถกเถียงว่าเขื่อนไม่เก็บน้ำนั้นเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกับภาพความเป็นจริง เพราะเขื่อนจะต้องมีการยกระดับน้ำ เพื่อให้น้ำล้นออกมา และยิ่งหากจะต้องจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ การกักน้ำเอาไว้ก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันความเสี่ยง หากไม่มีน้ำไหลล้นเพื่อผลิตไฟฟ้า

ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตแม่น้ำโขง เขื่อนไซยะบุรีจะอ้างเหตุผลเพียงไม่กี่อย่าง อย่างแรกคือตัวเองไม่ได้เป็นผู้สร้างผลกระทบ อย่างที่ 2 คือผลกระทบเกิดจากเขื่อนจีน ขนาดใหญ่กว่าที่อยู่ต้นทางของแม่น้ำโขงที่ไม่ยอมปล่อยน้ำ และอย่างที่ 3 คือภัยธรรมชาติ

หน้าชื่นอกตรม! คนสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขง​



ท่ามกลางการออกมาชี้แจงต่างๆนาๆ เราเชื่อว่า จริงๆแล้วพวกเขาก็รู้ดี และอาจจะอยู่ในสภาวะของหน้าชื่นอกตรม เพราะต่างคนต่างก็ต้องทำหน้าที่ต่อไป และเพราะพวกเขาถูกจ้างมาเพื่อให้สร้างเขื่อน ต้องทำมาหากินอยู่กับสิ่งนี้

แถมเขื่อนแห่งนี้ยังผลิตไฟฟ้าจ่ายเข้าไปยังประเทศไทยด้วย คนใช้ไฟจากเขื่อนก็เหมือนฆ่าแม่น้ำโขงโดยไม่รู้ตัว แต่ หน่วยงานผลิตไฟอย่าง กฟผ. ก็ยังหน้าชื่นตาบาน มีความภาคภูมิใจว่าได้ใช้ไฟต้นทุนถูก แต่ก็ต้องอกตรมมีผลกระทบเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ขนาดทำให้ปลาสูญพันธุ์

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ บอกว่า หายนะแม่น้ำโขงเกิดขึ้นเมื่อมีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบนในประเทศจีน เมื่อ 22 ปีก่อน ภายใต้ความเชื่อของอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มทุน ในความหมายที่ว่า น้ำคือพลังงาน หาใช่น้ำเพื่อชีวิต

ปรากฏการณ์ผลกระทบเรื่องระดับน้ำและการขึ้นลงของแม่น้ำโขงทางท้ายเขื่อน ไม่เป็นไปตามฤดูกาลและเพิ่มความรุนแรงขึ้นตามจำนวนของเขื่อนที่สร้างขึ้นในแม่น้ำโขงทั้งตอนบนและตอนล่าง ปัจจุบันนี้มีเขื่อน 11 เขื่อนในจีน ประเทศลาว 2 เขื่อน และกำลังจะก่อสร้างอีก 3 เขื่อน (ปากแบ่ง หลวงพระบาง ปากลาย) โดยโครงการเขื่อนตอนล่างมีทั้งหมด 11 เขื่อน

หน้าชื่นอกตรม! คนสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขง​



ปรากฏการณ์แห่งความตายของแม่น้ำโขง รอบนี้นี่ยังถือเป็นวิกฤตแล้ว แต่ยังรอวิกฤตที่จะวิกฤตมากกว่านี้อีก ไม่เชื่อก็รอดู สุดท้ายจะไม่มีใครเหลือรอดในแม่น้ำโขงเลย ตั้งแต่ปลาตัวเล็ก ไปจนถึงตัวเขื่อน...

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #Vajiravit #VajiravitDaily #NationTV #Nation

logoline