svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

พลิกปูม 'คณิศ' ก่อนกุมบังเหียน EEC

29 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าก่อนมารับตำแหน่งเลขาธิการอีอีซี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เคยเป็นแม่ทัพคุมโปรเจกต์ ไฮสปีดเทรน กรุงเทพฯ-ระยอง ให้กลุ่มซีพี ซึ่งปัจจุบันคือคู่สัญญาภาครัฐในโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ติดตามจากรายงาน

โดยประกาศชัดเจนว่าได้เตรียมที่ดินไว้กว่า 1 หมื่นไร่ เพื่อรองรับการพัฒนาเมืองใหม่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งจะได้รับอานิสงส์จากไฮสปีดเทรน การกว้านซื้อที่ดินจำนวนมากเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและที่สำคัญจะต้องรู้ทิศทางการพัฒนา Big Project ของภาครัฐเป็นอย่างดี
เป็นไปได้หรือไม่ที่ความสำเร็จส่วนหนึ่งของกลุ่มซีพี มาจากความโชคดีหรือความบังเอิญที่เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือเลขาธิการอีอีซี คือ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เคยดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ มาก่อนหน้านี้ และดร.คณิศ คือแม่ทัพคุมโปรเจกต์ไฮสปีดเทรน กรุงเทพฯ-ระยอง ซึ่งกลุ่มซีพีสนใจลงทุน
ในช่วงที่สังกัดค่ายซีพี ดร.คณิศ ยังได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. โดยมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 ซึ่งรัฐบาลในช่วงนั้นมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และแน่นอนว่ากระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นต้นสังกัดของรฟท. อยู่ในการกำกับดูแลของดร.สมคิด ในขณะนั้นและต่อมา ดร.คณิศ ได้มาเป็นผู้กุมบังเหียนโครงการอีอีซี ภายใต้คำสั่งตามมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560
และหนึ่งใน 5 โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของอีอีซี คือโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่ากว่า 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งบทสรุปสุดท้ายกลุ่มซีพีเป็นผู้ชนะการประมูล และลงนามสัญญาร่วมทุนกับ รฟท.เรียบร้อยแล้ว
ที่ผ่านมา ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นสายตรง ดร.สมคิด การันตีว่า ดร.คณิศ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับกลุ่มซีพี แม้จะเคยดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารเครือซีพีมาก่อน เพราะลาออกมานานแล้ว
แต่ที่น่าแปลกคือการทำงานของ ดร.คณิศ ในระหว่างที่สังกัดค่ายซีพี ไม่ค่อยเป็นที่เปิดเผยมากนัก ทั้งที่เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความน่าเชื่อถือ และดำเนินธุรกิจมายาวนาน ล่าสุดประวัติการทำงานของดร.คณิศ ที่ส่งไปยังสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.ในฐานะกรรมการ ก็ไม่ได้ระบุว่าเคยทำงานกับซีพีมาก่อน
ท่าทีล่าสุดของดร.คณิศ ที่ประกาศสู่สาธารณชนว่าเงื่อนไขการจ่ายเงินอุดหนุนในโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินเป็นเรื่องพิสดาร ก่อให้เกิดคำถามตามมามากมาย เพราะเงื่อนไขสำคัญในการประมูลกำหนดว่าเอกชนต้องก่อสร้างงานให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ แต่ ดร.คณิศกลับให้เหตุผลว่า โดยปกติแล้วการจ่ายเงินในงานจ้างเหมาจะมีลักษณะทำไปจ่ายไป พร้อมกับยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คุยกันมานาน และอาจต้องเข้าไปดูแลคำประกาศของ ดร.คณิศ ทำให้สังคมต้องตั้งข้อสังเกต เพราะแม้ว่าสัญญาจะเปิดโอกาสให้ดำเนินการในลักษณะนี้ได้ แต่จะกลายมาเป็นภาระของภาครัฐทันที โดยคำถามใหญ่ที่เกิดขึ้นคือหากรัฐจะใช้วิธีจ่ายเงินเหมือนกับงานจ้างเหมา ก็ไม่จำเป็นต้องใช้รูปแบบการร่วมทุนกับเอกชน หรือพีพีพี และในขณะที่รัฐต้องเป็นฝ่ายรับภาระ แล้วใครที่เป็นฝ่ายได้ประโยชน์
หลังจากนี้ต้องเกาะติดกันต่อไปว่าการบริหารงานของภาครัฐ โดยเฉพาะตำแหน่งเลขาธิการอีอีซี รวมทั้งรัฐบาลที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนเชื่อมั่นในเรื่องความโปร่งใส จะยังคงทำให้ประชาชนมั่นใจต่อไป ได้หรือไม่ ว่าจะยึดผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นหลักทีมข่าวเศรษฐกิจ เนชั่นทีวี รายงาน

logoline