svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

จับตารัฐ 'รื้อ' สัญญาไฮสปีดเอื้อเอกชน

28 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โครงการรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่ง รฟท.เพิ่งลงนามสัญญากับกลุ่มซีพีไปเมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่กลับมีข้อเสนอจากทั้งจากภาครัฐและเอกชนถึงการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดสัญญาที่ขัดกับเงื่อนไขทีโออาร์ ทั้งที่โครงการยังไม่ได้เริ่มต้นก่อสร้าง ติดตามจากรายงาน

การออกมาโยนหินถามทางของดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือเลขาธิการอีอีซี เรื่องการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าก่อสร้างให้บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน หรือกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้งส์และพันธมิตร หรือกลุ่มซีพี ในโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่ากว่า 2.2 แสนล้านบาท 
รวมทั้งคำประกาศของศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ เรื่องการลดสัดส่วนหุ้นกลุ่มซีพีเหลือ 40% ในอนาคต จากปัจจุบัน 70% ก่อให้เกิดคำถามต่างๆมากมาย เพราะทั้ง 2 เรื่องนี้ ขัดแย้งกับเงื่อนไขทีโออาร์ และข้อกำหนดในการคัดเลือกเอกชน คือ Request  for Proposal  หรือ RFP ซึ่งใช้เป็นกติกาในการประมูลคัดเลือกเอกชน
วรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ระบุ หลังจากนี้กระทรวงคมนาคมจะแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลสัญญาร่วมลงทุน โดยมีผู้แทนกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเงื่อนไขสัญญาหลังจากนี้ จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการชุดดังกล่าว รวมทั้งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือบอร์ดอีอีซี และคณะรัฐมนตรี
ส่วนการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ่ายเงินอุดหนุนค่าก่อสร้าง ซึ่งเงื่อนไขทีโออาร์และ RFP กำหนดว่าภาครัฐจะจ่ายเงินอุดหนุนต่อเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จและโครงการเปิดให้บริการ รวมทั้งการลดสัดส่วนการถือหุ้นของกลุ่มซีพี ประเด็นเหล่านี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากบอร์ดอีอีซีและคณะรัฐมนตรี และต้องมีเหตุผลที่รับฟังได้ เช่น พันธมิตรที่ร่วมถือหุ้นไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ หรือการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้น จะทำให้การดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นอย่างไร แต่การจะเสนอเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นทันที ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มโครงการ
สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ รฟท.จะต้องส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมด 4,429 ไร่ ให้กลุ่มซีพีภายใน 2 ปี 3 เดือน โดยจะทยอยส่งมอบตามกรอบเวลาที่กำหนด รวมทั้งต้องส่งมอบโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ภายใน 2 ปี 
หากรฟท.ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า กลุ่มซีพีอาจเสนอให้รัฐขยายเวลาก่อสร้างจากเดิมที่กำหนดไว้ 5 ปี โดยต้องหารือร่วมกันว่าความล่าช้าที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่เกิดจากทุกฝ่ายจนแก้ไขไม่ได้หรือไม่
หลังจากนี้จะต้องเกาะติดการทำหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับสัญญา ซึ่งอยู่ระหว่างการแต่งตั้ง เพราะคณะกรรมการฯชุดนี้จะเป็นด่านแรก ในการชงเรื่องการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดอีอีซี และคณะรัฐมนตรี 
รวมทั้งต้องจับตาบทบาทของเลขาธิการอีอีซี ซึ่งเป็นอดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ ว่าสุดท้ายแล้วจะเลือกผลประโยชน์ชาติ หรือผลประโยชน์ใคร 

logoline