svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

"ศุภชัย" ยอมรับรถไฟความเร็วสูง งานหิน-หวั่นขาดทุน

25 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ศุภชัย เจียรวนนท์" ยอมรับรถไฟความเร็วสูง "งานหิน-เสี่ยงขากทุน" มั่นใจเริ่มก่อสร้างใน 12 เดือน เสร็จตามกำหนด 5 ปี จ่อระดมทุนตลาดหลักทรัพย์ ลดหุ้นเหลือแค่ 40%

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ นำคณะผู้บริหารซีพี กราบสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระลานพระราชวังดุสิต ก่อนที่จะไปลงนามสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ที่ทำเนียบรัฐบาลวานนี้ (24 ต.ค.2562) ซึ่งเป็นการเข้าสักการะเช่นเดียวกับวันที่กลุ่มซีพีไปยื่นซองประมูลเมื่อวันที่ 12 พ.ย.2561
หลังการลงนามระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จํากัด ที่กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) จัดตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินโครงการ
นายศุภชัย กล่าวว่า ภาคภูมิใจมากที่ได้มีโอกาสร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่มีอายุสัญญาถึง 50 ปี โดยจะพยายามทำตามสัญญาอย่างรอบคอบ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรที่เป็นกิจการร่วมค้า ได้แก่ ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรั๊คชั่น ลิมิเต็ด ,บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ,บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)

"ศุภชัย" ยอมรับรถไฟความเร็วสูง งานหิน-หวั่นขาดทุน


นายศุภชัย กล่าวว่า กลุ่มซีพีเตรียมโครงการนี้มาไม่ต่ำกว่า 2 ปี และรวบรวมรายละเอียดเพื่อยื่นข้อเสนอกว่า 11 เดือน โดยภายหลังการลงนามจะเร่งเข้าไปบริหารจัดการบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ดังกล่าว เพื่อจะได้ดำเนินการลงพื้นที่สำรวจ ออกแบบ เจรจากับผู้รับเหมาก่อสร้าง และซัพพลายเออร์เริ่มก่อสร้างภายใน 12 เดือน
รวมถึงเร่งจัดทำแผนก่อสร้างและเดินหน้าทันที โดยจะเริ่มก่อสร้างภายใน 12 เดือน จากกรอบ 24 เดือน ซึ่งช่วงที่คาดว่าจะก่อสร้างได้ยากคือจาก พญาไท- ดอนเมือง เพราะต้องรื้อโครงสร้างพื้นฐานมากมาย และช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ที่ระยะทางไกลมาก เป็นความท้ายที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย แต่บริษัทจะทำเต็มที่ตามเป้าหมาย 5 ปีต้องแล้วเสร็จ
"นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของไทย ที่ภาคเอกชนได้ร่วมลงนามในสัญญาร่วมลงทุนแบบพีพีพีกับภาครัฐ เพื่อผลักดันให้เกิดโครงการก่อสร้างเมกโปรเจคระดับนานาชาตินี้ขึ้นมาได้สำเร็จ"
นอกจากนี้ ต้องขอขอบคุณพันธมิตรที่เป็นกิจการร่วมค้า รวมทั้งพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ทั้งจากไทยและต่างประเทศ เช่น ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) และธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศจีน (CDB)
รวมทั้งได้รับเกียรติจากเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย 3 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่นและอิตาลี ที่ให้การสนับสนุนและเป็นประวัติศาสตร์ความร่วมมือระดับโลกที่จะพลิกโฉมหน้าไทย
นายศุภชัย กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะเปิดบริการปี 2566 ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะเกิดการพัฒนาเมืองรอบสถานี (TOD) ที่จะสร้างความเจริญสู่ชุมชน เกิดการกระจายรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ สร้างการค้าขาย และมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท โดยถือเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจไทยตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 รวมทั้งส่งผลให้เกิดการจ้างงานในช่วงก่อสร้าง 16,000 อัตรา และการจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากกว่า 100,000 อัตรา ใน 5 ปีข้างหน้า
เตรียมงบมักกะสัน 1.4 แสนล้าน
สำหรับสถานีมักกะสัน ตามที่เสนอแผนไปจะมีการสร้างสถานีและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งใช้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงของ 3 สนามบิน เพื่อรับนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ วงเงินลงทุน 1.4 แสนล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ 140 ไร่ และขณะนี้มีผู้สนใจจำนวนมาก โดยบริษัทเปิดกว้างเพื่อรับพันธมิตรใหม่ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับต่างประเทศ เพื่อให้เข้ามาร่วมทุน แต่การตัดสินใจต้องหารือกับการรถไฟทุกครั้งซึ่งเป็นเงื่อนไขในสัญญา

"ศุภชัย" ยอมรับรถไฟความเร็วสูง งานหิน-หวั่นขาดทุน


"ซีพี" เล็งลดสัดส่วนถือหุ้น
"ปัจจุบัน ซีพี ถือหุ้นอยู่ 70 % ซึ่งก่อนที่โครงการนี้จะเกิดขึ้น ได้หารือกันว่า ซีพี พร้อมจะถือหุ้นอย่างน้อยที่ 40 % แต่ในช่วงที่มีการก่อสร้าง อยากจะให้การถือหุ้นอยู่ที่ 51% เพราะต้องการการตัดสินใจที่เด็ดขาด โดยอาจต้องทำหลายวิธีการรวมทั้งเข้าตลาดหลักทรัพย์ ที่เป็นเป้าหมายของโครงการนี้ เพื่อให้ได้เงินลงทุนเข้ามาช่วงที่มีการก่อสร้างจนครบ 2.2 แสนล้านบาทในช่วง 6 ปี"
สำหรับตัวรถไฟความเร็วสูงที่จะนำมาวิ่งนั้น ยังไม่ได้กำหนด แต่น่าจะเดากันได้ไม่ยากเมื่อดูจากพันธมิตรที่ร่วมเป็นสักขีพยานในวันนี้ มีทั้งจีน ญีปุ่นและอิตาลี"ประเด็นสำคัญของการลงทุนแบบพีพีพี จะมีความเสี่ยงที่ภาคเอกชนกลัว เพราะซีพีต้องลงทุนมากกว่า 1 แสนล้านบาท และยังมีพันธมิตรอื่นเข้ามาร่วมอีก ถ้าดำเนินการแล้วขาดทุนก็อาจต้องจ่ายมากกว่า 1 แสนล้าน เป็นสิ่งกลุ่มพันธมิตรต้องศึกษาเพิ่มเติม จึงอยากให้โครงการนี้นำร่อง PPP ในพื้นที่อื่น แต่ยอมรับว่าโครงการเรียกได้ว่าหินจริงๆ"

logoline