svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"แก้สินค้าเกษตรตกต่ำให้ได้ก่อน​ ค่อยแบนสารเคมี" เกษตรกร​ ระบุ

20 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หากมีการแบนสารเคมีตัวนี้ ก็จำเป็นจะต้องใช้สารทดแทนที่มีราคาแพงกว่า ท่ามกลางราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำ รัฐบาลควรจะไปแก้ปัญหาเรื่องราคาพืชผลการเกษตรมากกว่า จะมาแบนสารเคมีซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต ซ้ำเติมเกษตรกร

เรื่องการแบนสารเคมีการเกษตร 3 ชนิดถ้าไปถามกับชาวไร่ชาวสวนตรงๆ พวกเขาอาจจะมีความรู้สึกตรงกลาง ค่อนข้างไปทางว่ามันไม่ได้อันตรายมาก แม้จะมีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการปนเปื้อน สารเคมีในพืชผักหรือเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเนื้อเน่าและสะสมในร่างกายจนอาจเป็นมะเร็ง ก็ตาม

การขับเคลื่อนการแบนสารเคมีการเกษตร 3 ชนิด มีมาอย่างยาวนานแล้ว โดยกลุ่มภาคประชาสังคม ที่ขับเคลื่อนเรื่องความมั่นคงทางอาหาร และความปลอดภัยทางชีวภาพ บ่งชี้ให้เห็นถึงโทษภัยของสารเคมี 3 ชนิดรวมทั้งมีเบื้องหลังเป็นผลประโยชน์แอบแฝง ในตลาดขายสารเคมีเกษตร ในวงเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาทมีผู้มีอิทธิพลที่อยู่ในแวดวงข้าราชการเกี่ยวข้องและได้รับผลประโยชน์พ่วงด้วย

เป้าหมายการลงพื้นที่ของเราในวันนี้ คือที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นจังหวัดเกษตรกรรมที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ และน่าจะใกล้ที่สุดจากเมืองหลวง ที่นั่นยังมีความเป็นสังคมเกษตรกรรม ปลูกข้าวปลูกปาล์มน้ำมัน อ้อยและกล้วยจำนวนมาก เรามุ่งหน้าไปที่อำเภอหนองเสือ เริ่มต้นด้วยการไปสำรวจร้านขายสารเคมีการเกษตรรายใหญ่ ว่ามีการปรับตัวอย่างไร

นายสุรชัย ศรีสังข์สุข ผู้จัดการ บริษัท พรหมประสิทธิ์การเกษตร จำกัด ร้านขายสารเคมีเกษตรรายใหญ่ใน อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี กล่าวว่า จากแนวโน้มการแบนสารเคมี 3 ชนิด ตามมติของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้ต้องชะลอการสั่งซื้อสินค้าเพื่อสต๊อก แต่ก็ยังไม่ถึงกับหยุดสั่งซื้อ 3 สารชนิดมาขาย เพราะยังมีความต้องการซื้อจากเกษตรกรอยู่ ซึ่งขณะนี้รอลุ้นมติจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย วันที่ 22 ตุลาคม ว่าจะออกมาเช่นไร ปัจจุบันได้แยกชั้นวางขาย 3 สารเคมีเกษตรพร้อมติดป้ายวัตถุจำกัดการใช้ และขายให้เฉพาะเกษตรกรที่ผ่านการอบรมแล้วเท่านั้น โดยดีเดย์วันที่ 1 ธันวาคมจะต้องมีการเก็บสินค้า 3 สารเคมีเกษตร หากถูกแบน ก็ยินดีจะให้ความร่วมมือเก็บลงจากชั้นวางทั้งหมด แต่ก็ยอมรับว่ากระทบและเสียหายหากสินค้าในสต๊อกยังมีเหลืออยู่ ส่วนสินค้าตัวใหม่ที่จะมาใช้ทดแทนพาราควอตซึ่งเป็นสารกำจัดศัตรูพืชคือกลูโฟซิเนต เป็นชนิดดูดซึมคล้ายไกรโฟเสท ซึ่งยังมีการกักตุน และสำหรับสารเคมีกำจัดแมลงมีเป็นร้อยชนิดนอกจากคลอไพลิฟอส โดยมองว่าการแบนสารเคมี 3 ชนิดก็ทำให้สารเคมีอีกหลายชนิดถูกนำมาใช้ ไม่ต่างกันทั้งยังมีราคาสูงกว่า แม้อนาคตราคาจะลดลงก็ตาม

ที่นี่เราได้พบกับ นายมนัส พุทธรัตน์ แกนนำเครือข่ายเกษตรกรจังหวัดปทุมธานีกล่าวว่า ยังเชื่อมั่นว่าคณะกรรมการวัตถุอันตราย จะมีมติไม่แบนสารเคมี 3 ชนิดเนื่องจากมีข้อมูลที่เพียงพออยู่แล้ว แนวทางที่ดีที่สุดคือจำกัดการใช้ และขอให้กำลังใจอย่าไปกลัวกับการบีบบังคับของผู้บังคับบัญชาที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ขอให้ยืนอยู่ข้างความถูกต้อง และเห็นใจเกษตรกร ไม่คล้อยตามความเห็นของ NGO ที่ก็มีผลประโยชน์ทับซ้อนเบื้องหลังไม่ต่างกัน

ไม่ไกลจาก ร้านขายสารเคมีเกษตร ในอำเภอหนองเสือ เป็นไร่สวนของ นายสมเกียรติ ศรีสังข์สุข ชาวสวน อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี ได้กล่าวว่า ตนมีพื้นที่ทำการเกษตรถึง 65 ไร่มีทั้งกล้วย ปาล์ม และอ้อย ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าหญ้าพาราควอต หากมีการแบนสารเคมีตัวนี้ ก็จำเป็นจะต้องใช้สารทดแทนที่มีราคาแพงกว่า ท่ามกลางราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำ รัฐบาลควรจะไปแก้ปัญหาเรื่องราคาพืชผลการเกษตรมากกว่า จะมาแบนสารเคมีซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต ซ้ำเติมเกษตรกร

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #Vajiravit #VajiravitDaily #NationTV #Nation

logoline