svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

Nation Documentary | อมก๋อย เป็นของใคร?

20 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การคัดค้านเหมืองถ่านหิน ส่วนมากจะมีที่มาจากความกังวลผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่สำหรับพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังพบความไม่โปร่งใสในการทำประชาพิจารณ์ก่อนหน้านี้ โดยอาศัยช่องโหว่ จากกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ฟังภาษาไทยไม่รู้เรื่อง ผลักดันโครงการ โดยมิชอบ



กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบนดอยอมก๋อย จ.เชียงใหม่ อาศัยและใช้ชีวิตอย่างสงบสุขมาเป็นเวลานับร้อยๆปี ไม่มีใครคิดว่าความอุดมสมบูรณ์ของที่ดินผืนดิน ที่โอบอุ้มหลายชีวิต จะสั่นคลอนความมั่นคงในถิ่นที่อยู่อาศัย 

ลำธารสายเล็กๆ ที่ไหลผ่านขุนเขาสลับซับซ้อน ในตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จะพบแร่ถ่านหินโผล่ขึ้นจากพื้นดิน บ่งบอกให้เรารู้ว่าพื้นที่บริเวณนี้มีศักยภาพแร่สูงมาก

นี่คือห้วยผาขาว เป็นลำน้ำตามธรรมชาติที่ไหลผ่านพื้นที่เป้าหมายโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย 

ชาวบ้านแยกความแตกต่างระหว่างแร่ถ่านหินกับก้อนหินทั่วไป ด้วยการนำชะแลงแซะลงไป ในแผ่นคล้านหินสีดำ มันแตกกระจายออกมาได้อย่างง่ายดาย ซึ่งหากเป็นหินจะไม่แข็งมาก ทำให้แน่ใจว่านี่คือสินแร่ถ่านหิน

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ศักยภาพแร่ถ่านหิน ซับบิทูมินัส ซึ่งเป็นถ่านหินที่มีคุณภาพสูงกว่าถ่านหิน "ลิกไนต์" ที่พบในเหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง และจากคำขอใบประทานบัตร ของบริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด เนื้อที่ 284 ไร่ จะดำเนินการขุดแร่ถ่านหินในจำนวน 7.2 แสนตัน

ชาวบ้านอมก๋อย ที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมายการทำเหมือง ให้ข้อมูลว่า โครงการนี้คิดวางแผนมาเป็นอย่างดี และใช้เวลานาน ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีคนภายนอกเข้ามาติดต่อขอซื้อที่ ซึ่งไม่ทราบว่าจะนำไปทำอะไร แม้ที่ดินบริเวณนี้ไม่มีผู้ใดครอบครองเป็นเอกสารสิทธิ์ แต่ใช้ทำกินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ปัจจุบันอยู่ในเขตป่าสงวนซึ่งมีหน่วยงานรับผิดชอบเป็นกรมป่าไม้

เมื่อขายสิทธิ์ในที่ดินให้กับคนนอกพื้นที่ ที่พวกเขาไม่แน่ใจว่าเป็นตัวแทนบริษัทหรือไม่ เพราะไม่มีหลักฐานแน่ชัด มีการรับเงินชดเชยมาแปลงละ 2 แสนบาท มีจำนวน 10 ครอบครัวที่รับเงินดังกล่าวมาแล้ว แต่ยังทำกินต่อไปได้

และนี่ก็คือร่องรอยการสำรวจแร่ ในพื้นที่ของ ต.อมก๋อย ใกล้ๆกับลำธารที่พบแร่ถ่านหิน ชาวบ้านบอกว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีให้หลังมานี้พวกเขาไม่รู้เลยว่าพื้นที่บริเวณนี้ได้ผ่านมีการสำรวจแร่ และเตรียมพื้นที่ที่จะทำเหมือง

จนกระทั่งมีกลุ่มภาคประชาสังคมทราบเรื่อง ว่าจะมีการทำเวทีรับฟังความคิดเห็นจึงเข้าไปให้ความรู้กับชาวบ้านถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการมีเหมือง ถึงได้รู้ว่าชาวบ้านถูกกดทับ จากการสื่อสารที่ไม่รอบด้านจากผู้ประกอบการ และจากความกลัว ผู้นำท้องถิ่นในชุมชน

นี่เป็นครั้งแรกที่ เวทีพูดคุยหารือให้ความรู้กับประชาชนกรณีคำขอใบประทานบัตรเหมืองถ่านหินของ บริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด ใน ต.อมก๋อย มีล่ามแปลเป็นภาษากะเหรี่ยง สะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมา ชาวบ้านที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน เพราะฟังภาษาไทยไม่รู้เรื่อง จึงเป็นความผิดพลาดในการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA

และคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การยินยอมขายที่ดินแม้จะไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ให้กับคนภายนอกพื้นที่ไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว รวมไปถึงรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ที่ปรากฏรายชื่อชาวบ้านในพื้นที่เป้าหมาย "บ้านกะเบอะดิน" ลงชื่อเห็นชอบโครงการดังกล่าวกลายเป็นจุดอ่อนของชาวชุมชนในการต่อสู้คัดค้านๆโครงการเหมืองถ่านหินแห่งนี้

แต่ในจุดอ่อนดังกล่าวก็มีความไม่ปกติในการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เราได้พบกับหญิงสาวคนหนึ่ง ปีนี้เธอมีอายุ 24 ปี แต่เธอมีชื่อปรากฏอยู่ในผู้เห็นชอบการทำเหมืองใน EIA เมื่อปี 2543 ซึ่งตอนนั้นเธอมีอายุ 5 ขวบ เท่านั้น แต่กลับพบลายมือชื่อที่ไม่ใช่ของเธอ
ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น สุมิตรชัย หัตถสาร บอกว่า ขั้นตอนการทำรายงาน EIA โครงการ เหมืองถ่านหิน ของบริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด ไม่โปร่งใสและมีข้อพิรุธหลายเรื่องเช่น การรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย เข้าข่ายการปลอมแปลงเอกสารทางราชการหรือไม่ 

และเชื่อว่าอาจมีการสอดแทรกรายชื่อที่ไม่เป็นไปตามความเป็นจริง ปัจจุบันอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานและดำเนินการทางปกครองเพื่อให้มีการทบทวนและยกเลิก EIA ฉบับดังกล่าว 
โครงการเหมืองถ่านหิน บริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด ได้ยื่นคำขอใบประธานบัตรเมื่อปี 2543 หลังจากนั้นได้ดำเนินการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการ.ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

จนได้รับการอนุมัติเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2554 แต่เพราะว่าพระราชบัญญัติแร่ปี 2560 บังคับใช้ จึงต้องเริ่มต้นการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการอนุมัติใบประทานบัตร อีกครั้ง

รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จัดทำขึ้นก่อนหน้านี้ พบข้อมูลที่ขัดแย้งกับชาวบ้านในพื้นที่ โดยพื้นที่เป้าหมายการทำเหมืองจำนวน 284 ไร่เศษ ถูกระบุว่าอยู่ในพื้นที่ป่าชั้น E ในขณะที่ชาวบ้านยืนยันว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นป่าต้นน้ำชั้น 1A ซึ่งไม่เหมาะกับการทำเหมือง ในพื้นที่มีลำห้วย 2 สายไหลผ่าน และถ้ามีการทำเหมืองเกิดขึ้นก็จะต้องมีการย้ายลำน้ำตามธรรมชาติ
เหมืองประชาสัมพันธ์ถึงข้อดี หากเหมืองเกิดขึ้นในพื้นที่ถนนหนทางที่เข้าไปสู่หมู่บ้านจะดีขึ้น จะเกิดการจ้างงาน แต่สิ่งที่ชาวบ้านเป็นกังวลมากที่สุดคือผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังไม่รับข้อมูลส่วนนี้ที่ชัดเจนเพียงพอ

แต่ในมุมของความต้องการใช้ถ่านหินในประเทศ ปัจจุบันไทยมีความต้องการใช้ถ่านหินมากกว่าปีละ 40 ล้านตันต่อปีซึ่งเราสามารถที่จะผลิตถ่านหินจากเหมืองแม่เมาะที่ใช้ได้เองเพียงแค่ 16 ล้านตันต่อปีเท่านั้น เพื่อเป็นการลดต้นทุนการนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศ จึงมีความต้องการมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างโครงทำเหมืองถ่านหินเพิ่ม เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องนั่นคือผลิตพลังงานไฟฟ้า และการเผาปูนซีเมนต์แต่คำถามสำคัญก็คือชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบ จะต้องรับผิดชอบกับสิ่งเหล่านี้ แทนความต้องการของส่วนหรือไม่ หรือจริงๆแล้วเรามีทางเลือกอื่นที่จะอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่ต้องมีใครได้รับความเดือดร้อน
ขณะที่ สำนักงานทรัพยากรสิ่งแวดล้อมบอกว่ากรณีความกังวลของชาวบ้านที่กลัวจะเสียพื้นที่ทํากิน จึงขอวอนให้ใช้พื้นทำกินที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จะเห็นได้ว่าในแต่ละปีที่ผ่านมาชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่สูงเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหมอกควัน 
ท่าทีของหน่วยงานราชการต่างๆที่มาชี้แจงกับชาวบ้าน ในเวทีวันนี้ มีตัวแทนชาวบ้านลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นว่าการให้ข้อมูลครั้งนี้ รู้สึกราวกับว่าข้าราชการเป็นตัวแทนของภาคเอกชนมาตอบคำถามเสียเอง และอยากให้แบ่งใจมาให้ทางชาวบ้านบ้าง หรือทำหน้าที่ให้เป็นกลางมากกว่าที่เป็นอยู่
28 กันยายน 2562  เวทีรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ที่บริษัทเอกชนขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ถ่านหิน ในพื้นที่บ้านกะเบอะดิน ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เกิดขึ้นอีกครั้ง 

ชาวบ้านกว่า 200 คนประท้วงเรียกร้อง ให้เลื่อนเวทีรับฟังออกไปก่อน และตัวแทนสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับหนังสือแถลงการณ์ไว้ เพื่อส่งเรื่องร้องเรียนให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ พิจารณาต่อไป 

และการรับฟังคิดเห็นจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่ 

การต่อสู้ของชาวบ้านทำให้คนรุ่นใหม่ ในชุมชนปาเกอญอบ้านกะเบอะดิน ต.อมก๋อย รวมกลุ่มกันเข้มแข็งมากขึ้น ท่ามกลางโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว เด็กๆ กลุ่มนี้ ต้องการจะใช้ชีวิตดังเดิมเหมือนอย่างบรรพบุรุษที่แล้วๆมา โดยไม่ต้องการให้มีใครมารบกวน 

ท่ามกลางนโยบายทวงคืนผืนป่าจากภาครัฐที่กำหนดให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนต้นน้ำชั้น 1A ต้องอพยพโยกย้ายลงมาอยู่ในพื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้ ยังมีโครงการเหมืองแร่ที่จะต้องการเข้าไปใช้พื้นที่ดังกล่าว

การตัดสินใจ บนพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ว่าควรใช้ประโยชน์ในด้านใด ที่เป็นการรักษาผืนป่ามากที่สุด กรณีโครงการเหมืองอมก๋อย คงจะเป็นบทพิสูจน์ ว่ารัฐจะเลือกประชาชนหรือเลือกทุน มากกว่ากัน...

logoline