svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

บอร์ด รฟท. มั่นใจ กลุ่มซีพีไม่ล้มสัญญา'ไฮสปีด'

17 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

บอร์ด รฟท.เห็นชอบให้รักษาการผู้ว่าการ เป็นผู้ลงนามสัญญาร่วมทุนไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินกับกลุ่มซีพีในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ ย้ำเอกชนไม่มีสิทธิยกเลิกสัญญา หาก รฟท.ทยอยส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง คาดลงพื้นที่เตรียมงานก่อสร้างปลายปีนี้

จิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ในฐานะประธานกรรมการ การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ระบุว่า ในการประชุมคณะกรรมการนัดแรก ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้วรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ รฟท. เป็นผู้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับกลุ่มซีพีในโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ในวันที่ 25 ตุลาคมนี้

ด้านวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ รฟท. ระบุ แผนส่งมอบพื้นที่ ซึ่งจะถูกบรรจุเป็นแนบท้ายสัญญาโครงการร่วมทุนไฮสปีดเทรน  ได้ข้อสรุปว่า รฟท.จะทยอยส่งมอบพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน โดยส่วนแรกคือพื้นที่ที่มีความพร้อมส่งมอบได้ทันที คือช่วงสถานีสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา คาดว่าจะใช้เวลาส่งมอบแล้วเสร็จภายใน 15 เดือนหลังลงนาม

ส่วนช่วงที่สอง จากสถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ เป็นพื้นที่โครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ซึ่งพร้อมในการก่อสร้าง จะส่งมอบภายใน 2 ปี หรือ 24 เดือนหลังลงนามสัญญา หรือหลังจากเอกชนจ่ายเงินค่าโอนสิทธิ์การบริหารให้ รฟท.ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท มีกรอบกำหนดว่าต้องจ่ายให้ครบทั้งหมดภายใน 2 ปีนับจากวันลงนามสัญญาเช่นกัน

ส่วนที่ 3 คือพื้นที่ที่ยังไม่พร้อมส่งมอบ จากสถานีดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท เป็นพื้นที่ที่มีผู้บุกรุกจำนวนมาก และมีสาธารณูปโภคต่างๆที่ต้องรื้อย้าย โดยเฉพาะท่อน้ำมัน ซึ่งต้องจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA รวมทั้งพื้นที่เวนคืน ซึ่งต้องรอพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน คาดพื้นที่ในส่วนนี้จะส่งมอบได้ภายใน 2 ปี หลังลงนามสัญญา 

ขณะเดียวกัน รฟท.จะออกหนังสือแจ้งเริ่มงานก่อสร้าง หรือ NTP ให้กลุ่มซีพีไม่เกิน 2 ปีนับจากวันลงนามสัญญา  และกลุ่มซีพีจะมีเวลา 5 ปี ในการก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จ โดย รฟท.จะจ่ายเงินอุดหนุนให้เอกชนตามสัญญา หลังงานก่อสร้างแล้วเสร็จ หรือเริ่มจ่ายในปีที่ 6  ซึ่งจะทยอยจ่ายภายเป็นเวลา 10 ปี

ภายหลังการลงนามสัญญา รฟท.และกลุ่มซีพี จะเข้าพื้นที่เพื่อเคลียร์ปัญหา และเตรียมความพร้อมในส่วนที่สามารถก่อสร้างได้ทันที คาดว่าจะเริ่มเข้าพื้นที่ในช่วงเดือน พฤศจิกายน-ธันวาคมนี้

ผู้ว่าการ รฟท.ยืนยันว่า หลังลงนามสัญญาไปแล้ว และรฟท. เริ่มทยอยส่งมอบพื้นที่ กลุ่มซีพีไม่มีสิทธิขอยกเลิกสัญญา แต่หากทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถเดินหน้าโครงการต่อได้ โดยภาครัฐไม่ได้เริ่มทำงานใดๆเลย เอกชนจึงจะขอยกเลิกสัญญาได้ ซึ่งประเด็นนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นได้แน่นอน

logoline