svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"ว่างงาน" จุดชนวนวิกฤตเศรษฐกิจ​ รุนแรง​

16 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การว่างงาน เป็นปัญหากระทบโครงสร้างก็เพราะว่ารายได้ที่มั่นคงแน่นอนส่วนใหญ่มาจากการจ้างงาน โดยเฉพาะเด็กจบใหม่หากไม่มีงานทำ กลายเป็นคนว่างงาน เศรษฐกิจระดับฐานรากไม่สามารถขับเคลื่อนต่อได้ รวมทั้งจะทำให้ก่อให้เกิดปัญหาสังคม

ความแน่นอนอย่างหนึ่ง ที่คนไทยรู้ดีก็คือ เศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ในขณะที่ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ด้วยปัจจัยฉุดรั้ง ที่หนักหน่วงคือผลกระทบจากภาพรวมของเศรษฐกิจโลก

ดูเหมือนจะมี 2 มาตรการเศรษฐกิจที่รัฐบาลไทย พยายามผลักดันให้เกิด โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EECซึ่งคาดหวังเม็ดเงินลงทุน จากต่างชาติ หวังผลกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว มีโครงการลดแลกแจกแถมมากมายต่อนักลงทุน แต่ก็ต้องแลกมาด้วยผลกระทบสิ่งแวดล้อม กลายเป็นความขัดแย้งกับคนในพื้นที่เดิม และความน่าเชื่อถือของโครงการก็ถูกสั่นคลอนจากโครงการรถไฟ ความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

ขณะที่มาตรการระยะสั้น 'ช้อป ชิม ใช้' ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ดึงเงินให้คนออกมาเที่ยว ก็ดูเหมือนว่าจะช่วยกระตุ้นที่เพียง 0.3 % ซึ่งน้อยมากกับเม็ดเงินที่หว่านลงไปประมาณ 10,000 ล้านบาทนั้น กลับช่วยดึงจีดีพีขึ้นมาเพียง 0.02%

มองไปถึงปี 2563 เศรษฐกิจไทยจึงมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวได้ต่ำกว่า 3% และการส่งออกที่ยงคงติดลบแต่เรื่องใหญ่กว่านั้น คือสถิติการว่างงานของเด็กจบใหม่ซึ่งจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจในระดับโครงสร้างระยะยาวที่จะกระทบต่ออนาคต จากตัวเลขคนว่างงาน เดือนกันยายน 2562 ทั่วประเทศเกือบ 400,000 คน เผยระดับปริญญาตรีคนตกงานเยอะสุด พุ่งเกือบแตะ 2 แสน

ที่บอกว่าการว่างงาน เป็นปัญหากระทบโครงสร้างก็เพราะว่ารายได้ที่มั่นคงแน่นอนส่วนใหญ่มาจากการจ้างงาน โดยเฉพาะเด็กจบใหม่หากไม่มีงานทำ กลายเป็นคนว่างงาน เศรษฐกิจระดับฐานรากไม่สามารถขับเคลื่อนต่อได้ รวมทั้งจะทำให้ก่อให้เกิดปัญหาสังคม ตามมาหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือภาวะหนี้สิน และหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น

ช่วงไตรมาส 2 ปี 2562 สินเชื่อเพื่อการบริโภคชะลอตัว จากการชะลอตัวของสินเชื่อรถและสินเชื่อบ้าน ขณะที่สินเชื่อไร้หลักประกัน บัตรเครดิต ลีสซิ่ง และสินเชื่อบุคคลเติบโตเร่งขึ้น และเติบโตในระดับสูง สะท้อนถึงความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือน หนี้เสียและหนี้ที่ถูกจัดชั้นพิเศษของสินเชื่อบ้านและรถก็มีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้สถาบันการเงินอาจเพิ่มความเข้มงวดการดูแลสินเชื่อ ถือเป็นแรงกดดันเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า

ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ ไอเอ็มเอฟ หรือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ เผยว่าในปี 2562 นี้เราจะได้เห็นการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในเกือบๆ 90% ของประเทศต่างๆทั่วโลก การชะลอตัวอย่างพร้อมเพรียงทั่วหน้านี้จะทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวในอัตราต่ำที่สุดในรอบทศวรรษ

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2020 จะรุนแรงที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ในรอบ 10 ปี รุนแรงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2552

ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือค่าเงินบาท ที่ต้องระมัดระวัง สิ่งที่น่าจับตาคือการบริหารหนี้สาธารณะ ของรัฐบาลไทย ซึ่งในภาวะเช่นนี้ไม่ควรมีการก่อหนี้ก้อนใหญ่ แต่จากแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2563 พบว่า มีวงเงินการก่อหนี้ใหม่วงเงิน 8.94 แสนล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ใหม่ของรัฐบาล วงเงิน 7.48 แสนล้านบาท และหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจวงเงิน 1.4 แสนล้านบาท บางส่วนนำมาเพื่อเสริมสภาพคล่อง

บางที่การถกเถียง เรื่องแผ่นดินของเรา ในมุมมองด้านความมั่นคง และแผ่นดินของเราในมุนมองด้านประชาธิปไตย ผลลัพธ์ที่ประชาชนจับตา คือ อย่างไหนดีต่อการบริหารเศรษฐกิจ มากที่สุด เพราะจากตัวเลขที่น่าเป็นห่วง อย่างน้อยที่สุดอยากเห็นรัฐบาลที่ประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้ไปรอดในภาวะเช่นนี้

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #Vajiravit #VajiravitDaily #NationTV #Nation

logoline