svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

สภาวิศวกรชี้น้ำท่วมอุบล บ้านเสียหายนับหมื่นหลัง

14 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สภาวิศวกรนำวิศวกรอาสา 175 ชีวิตลงพื้นที่ประเมินความเสียหายจังหวัดอุบลราชธานี พบบ้านเรือนเสียหายกว่า 16,000 ครัวเรือน ตอนี้ช่วยเหลือไปได้แค่ 10% พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขอุบัติภัยครั้งนี้ในระยะยาว

ปัจจุบันสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของ จ.อุบลราชธานี ได้เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ก็ทำให้เห็นภาพความเสียหายเชิงโครงสร้างบ้านอย่างชัดเจน บ้านถูกน้ำท่วมไปถึงชั้น 2 ทำให้บ้านหลังนี้ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ซึ่งทางสภาวิศวกรบอกว่าต้องรื้อใหม่ทั้งหมดเพราะไม่สามารถอาศัยอยู่ได้เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการใช้ชีวิตประจำวัน 


ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอวารินชำราบ  จ.อุบลราชธานี บางคนได้อาศัยมานานกว่า 40 ปี แต่หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ผ่านมาทำให้ไม่สามารถที่จะอยู่ในบ้านหลังนี้ต้องย้ายไปอยู่ศูนย์พักพิงชั่วคราว เนื่องจากบ้านมีการทรุดตัว ระบบไฟ เสียหาย ซึ่งจะต้องรอทางสภาวิศวกรทำเรื่องซ่อมแซมบ้านให้เสร็จก่อนถึงจะย้ายเข้าไปอยู่ได้ นอกจากนี้อยากให้ภาครัฐช่วยในเรื่องของเงินทุนสำรองในการดำรงค์ชีพ


ศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร บอกว่า บ้านต้องรื้อและสร้างใหม่ทั้งหมดซึ่งรัฐบาลจะช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ สองแสนสองหมื่นบ้านต่อหนึ่งหลังในกรณีที่เสียหายหนักมาก เบื้องต้นตอนนี้ได้ลงพื้นที่ประเมินความเสียหาย และช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย ในพื้นที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ได้เพียง 10% หรือราว 1,600 ครัวเรือนเท่านั้น ยังคงมีประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลืออยู่อีกถึง 14,000 ครัวเรือน ซึ่งมีประเด็นที่น่ากังวล คือ การเลื่อนไถลของหน้าดิน การทรุดตัวและพังชำรุดของสิ่งปลูกสร้าง และระบบไฟฟ้า


นอกจากนี้สภาวิศวกร ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และภาคีเครือข่ายพร้อมเสนอแนวทางแก้ไขอุบัติภัยในระยะยาวกับ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ ติดตั้งระบบการเตือนภัยล่วงหน้า ด้วยการติดตั้งระบบเตือนภัย ที่สามารถพยากรณ์อากาศ และการตรวจระดับน้ำขึ้นที่แม่นยำและเรียลไทม์ ทำตลิ่งสูงบริเวณริมแม่น้ำมูล โดยการเสริมตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำให้สูงขึ้นกว่า 4 เมตร หรือเทียบเท่าระยะความสูงที่พ้นพื้นอาคาร 2 ชั้น  โดยเฉพาะในพื้นที่ก่อนถึงเขตเมือง  และ ทำระบบท่อหรืออุโมงค์ระบายน้ำขนาดย่อม ด้วยการเชื่อมต่อจากแม่น้ำมูล ลอดใต้ถนนไปยังแหล่งระบายน้ำใหญ่ หรือแก้มลิง เพื่อทำการระบายน้ำออกไปให้มากที่สุด พร้อมป้องกันน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ซึ่งแนวทางดังกล่าวสามารถทำได้ภายใน 1 ปี และเป็นการดำเนินการได้โดยที่ประชาชนไม่เดือดร้อนเรื่องการเวนคืนที่ดิน

logoline