svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

นักวิชาการฟันธง รมต.ที่เป็น ส.ส.โหวตงบได้

14 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กลางสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ระหว่างวันที่ 17-19 ต.ค.สภาผู้แทนราษฎรจะได้ฤกษ์ชำแหละร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ประเด็นที่สังคมจับตา นอกจากความเหมาะสมในยุทธศาสตร์การจัดงบประมาณที่ตั้งวงเงินเอาไว้ถึง 3.2 ล้านล้านบาทแล้ว ยังมีประเด็นการเมืองว่าด้วยเรื่อง "รัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.โหวตงบได้หรือไม่?" ด้วย

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล โดยฝ่ายค้านยืนกรานว่า รัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.ไม่สามารถโหวตได้ ซึ่งจะทำให้เสียงสนับสนุนรัฐบาลที่ปริ่มน้ำอยู่แล้ว ลดลงไปอีก อาจถึงขั้นสำลักน้ำ ขณะที่ฟากฝั่งรัฐบาล นำโดย "กูรูกฎหมายของเมืองไทย" อย่างอาจารย์วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่ารัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.ร่วมโหวตได้ แต่ถ้าโหวตไม่ผ่านต้องลาออกหรือยุบสภา (ไม่รู้เป็นการพูดขู่ไม่ให้เสียงรัฐบาลแตกแถวหรือเปล่า) ซึ่งต่อมารองนายกฯ "พี่ใหญ่" พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ก็ออกมาสำทับคำเดียวกัน
รักษาการผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ดร.สติธร ธนานิธิโชติ บอกกับ "เนชั่นทีวี" ว่า รัฐมนตรีที่ยังมีสถานะเป็น ส.ส.อยู่ สามารถโหวตร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ได้แน่นอน เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้กำหนดข้อห้ามเอาไว้ แตกต่างกับรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550


อาจารย์สติธร ขยายความต่อว่า ถ้าตีความกันตามกฎหมายจริงๆ ในรัฐธรรมนูญปี 2550 รัฐมนตรีก็ยังโหวตงบประมาณได้ เพียงแต่ที่ไม่ทำเพราะเกรงว่าจะถูกยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความภายหลัง ในประเด็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ แต่รัฐบาลในยุคนั้นไม่ได้มีปัญหาเสียงปริ่มน้ำ เรื่องนี้จึงไม่เป็นประเด็น


ส่วนในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต้องลาออกจากการเป็น ส.ส. ทำให้การโหวตในสภาเป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น และส่งผลให้รัฐมนตรีไม่สามารถยกมือโหวตร่างกฎหมายงบประมาณได้ไปโดยปริยาย ฉะนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ตัดถ้อยคำของรัฐธรรมนูญปี 2540 ออกไป รัฐมนตรีจึงสามารถโหวตงบประมาณได้อย่างแน่นอน แต่ก็ไม่ได้ปิดช่องให้ฝ่ายค้านยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

ขณะที่ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธพร อิสรชัย บอกเช่นกันว่า รัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.สามารถโหวตงบประมาณได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้ห้าม ส.ส.ควบตำแหน่งรัฐมนตรี ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม ถือเป็นข้อถกเถียงและเป็นความเห็นของแต่ละฝ่าย แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับกรอบกฎหมายที่กำหนดไว้


logoline