svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

5 จังหวัด คนล้นคุก!

14 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปัญหา "คนล้นคุกไทยแลนด์" เป็นประเด็นที่กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนทั่วโลกมักนำไปถกเถียงกันว่าจะแก้ไขได้อย่างไร จากสถิติไทยแลนด์มีนักโทษมากเป็นอันดับ 6 ของโลก และมากสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ผู้ต้องขังล้นคุกเกินจำนวนที่รองรับได้ 2-3 เท่า การเบิกจ่ายงบประมาณสูงถึง 1.2 หมื่นล้านบาท...นอกจากนักโทษใหม่แล้วยังมีคนที่ติดคุกซ้ำอีกจำนวนไม่น้อย...หลายคนจำเป็นต้องเข้าๆ ออกๆ คุก เพราะอะไร?

จากการนำตัวเลขฐานข้อมูลเรือนจำทั้งหมดวันที่ 1 กันยายน 2562 มาวิเคราะห์ว่าพื้นที่ใดมีนักโทษเกินโดยสัดส่วนที่กำหนดไว้มากสุด พบ 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 เรือนจำกลางปัตตานี รับนักโทษได้ 1,012 คน มีจำนวนนักโทษ 2,542 ความจุเกิน 1,530คน (151%) อันดับ2เรือนจำอำเภอบึงกาฬ รับนักโทษได้ 754 คน มีนักโทษ 1,787 คน เกิน 1,033 คน (137%) อันดับ 3 เรือนจำกลางระยอง รับนักโทษได้ 3,353 คน มีนักโทษ 7,647 คน เกิน 4,294 คน (128%) อันดับ 4 ทัณฑสถานเปิดบ้านนาวง รับนักโทษได้ 198 คน มีนักโทษ 439 คน เกิน 241 คน (121%) อันดับ 5 เรือนจำจังหวัดตรัง รับนักโทษได้ 1,405 คน มีนักโทษ 2,838 คน เกิน 1,433 คน (101%)
"ปิยนุช โคตรสาร" ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ทีดีเจ ว่า สถานการณ์คนล้นคุกในบ้านเรามีมานานมาก ถึงขั้นถูกเอาไปทำเป็นหนังด้วยซ้ำ แต่ยิ่งผ่านมานานปัญหายิ่งซับซ้อน และคนที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือคนกลุ่มนี้ ไม่ใช่แค่ชื่อเสียงของประเทศ ที่ผ่านมาแอมเนสตี้ฯ พยายามเรียกร้องให้กรมราชทัณฑ์นำข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules) ซึ่งเป็นข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังมาปฏิบัติ ทั้งเรื่องความแออัด สุขภาวะ การเข้าถึงการรักษาพยาบาล การงดใช้โซ่ตรวน ฯลฯ เพื่อมาช่วยจัดการรากเหง้าของปัญหาว่าทำไมคนถึงล้นคุก
"เรามองว่าการให้โอกาสทางสังคมเป็นปัจจัยหนึ่งในการแก้ปัญหา เราลงโทษเพื่อไม่ให้เขากลับมากระทำผิดซ้ำ เราก็ต้องหาทางป้องกันปัญหาตั้งแต่ต้นไม่ให้เขาทำผิดซ้ำ หากพวกเราไม่เปิดโอกาสให้เขา เขาก็ต้องกลับไปทำผิด" ปิยนุช กล่าว
นอกจากปัญหาคนล้นคุกแล้วยังพบ "นักโทษติดซ้ำ" คือส่วนหนึ่งที่ทำให้คนล้นคุก ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีเฉลี่ยปีละประมาณ 1-5 หมื่นคน เช่น ตัวเลขปี 2556 มีนักโทษติดคุกซ้ำ 13,442 คน ต่อมาปี 2557 เพิ่มเป็น 24,225 คน หมายถึงเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ถึง 10,783 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ส่วนปี 2558 มีผู้ติดคุกซ้ำ 35,335 คน และปี 2559 มีผู้ติดคุกซ้ำ 49,481 คน
เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2562 "ทีดีเจ" หรือ ชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกฯ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดงาน "เปิดผล 5 กลุ่มดาต้าเชิงลึก อยากเปลี่ยนประเทศไทยดีกว่าเดิม" โดยทีมอาสาสมัครทีดีเจนำเสนอผลงานเรื่อง เจาะตัวเลขปัญหา "คนล้นคุก" และ "นักโทษติดซ้ำ" เพื่อแสดงให้เห็นถึงปัญหาผู้ต้องขังในเรือนจำ ทั้งหมด 143 แห่งทั่วประเทศไทย ส่วนใหญ่กำลังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเนื่องจากต้องอยู่ในพื้นที่แออัด ส่งผลให้การใช้ชีวิตกินนอนในแต่ละวันเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน ยิ่งไปกว่านั้นยังส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการควบคุมดูแลและพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง
จากข้อมูล สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (ทีไอเจ) ระบุว่า ประเทศไทยมีนักโทษมากเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยอันดับ 1 ได้แก่สหรัฐอเมริกา 2.1 ล้านคน อันดับ 2 จีน 1.6 ล้านคน อันดับ 3 บราซิล 7.4 แสนคน อันดับ 4 รัสเซีย 5.4 แสนคน และอันดับ 5 อินเดีย 4.3 แสนคน
ทั้งนี้จากการค้นหาข้อมูลจำนวนนักโทษที่จัดเก็บในรูปแบบไฟล์แยกรายเดือนและรายปี รวมถึงรูปแบบอื่นๆ จากโอเพ่น ดาต้า ของกรมราชทัณฑ์ เพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์และประเมินผล ทำให้พบว่าวันที่ 1 กันยายน 2562 เรือนจำ สถานกักกันและทัณฑสถานทั่วประเทศจำนวน 143 แห่ง มีผู้ต้องขังทั้งสิ้น 364,598 คน แบ่งเป็นชาย 317,130 คน หญิง 47,468 คน โดยพื้นที่จริงสามารถรองรับได้เพียง 1.2 แสนคน แสดงว่าผู้ต้องขังเกินกว่าปริมาณที่รับได้ 2-3 เท่า และตั้งแต่ปี 2556 จนถึง 2561 มีการรับนักโทษมากกว่าการปล่อยตัวประมาณปีละ 46,933 คน
จากการวิเคราะห์ตัวเลขข้างต้นพบข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมว่า "นักโทษที่ได้รับโทษน้อยกว่า 1 ปี มีโอกาสติดคุกซ้ำมากกว่านักโทษที่ได้รับโทษสูงกว่า 1 ปี" และ "คนที่ติดคุกเยอะที่สุดอยู่ในกลุ่มอายุ 30-40 ปี หรือเป็นช่วงวัยทำงาน" ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มอายุ 3040 ปีคือกลุ่มที่มีอัตราการติดคุกซ้ำสูงสุดอีกด้วย โดยคดีที่ทำให้ติดคุกซ้ำส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติดถึงร้อยละ 63
นอกจากปัญหา "คนล้นคุก" และ ปัญหา "นักโทษติดซ้ำ" ทีมอาสาสมัครทีดีเจยังพบจากการวิเคราะห์ดาต้าว่า โครงการเตรียมความพร้อมนักโทษในเรือนจำให้กลับคืนสู่สังคม ที่มีข้อมูลทั้งหมด 8 โครงการนั้น มีนักโทษเพียงร้อยละ 4 เท่านั้นที่ได้เข้าร่วม และถือว่ายังไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควรนัก
ที่ผ่านมาทีมอาสาสมัครทีดีเจพยายามค้นหาและสอบถามข้อมูลงบประมาณ 8 โครงการจากกรมราชทัณฑ์ ปรากฏว่ายังไม่ได้รับข้อมูลแต่อย่างใด เมื่อสืบค้นไปยัง โอเพ่น ดาต้า ของเว็บไซต์กรมราชทัณฑ์ www.correct.go.th พบเพียง 1 โครงการเท่านั้นที่มีการเปิดเผยตัวเลข ซึ่งอยู่ในรายงานงบประมาณประจำปี 2561 เกี่ยวกับ "โครงการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย (เรือนจำโครงสร้างเบา)" มีการใช้งบประมาณ 36.7 ล้านบาท จำนวนผู้ต้องขังเข้าร่วมโครงการ 46,378 คน แบ่งเป็น "เงินใน" งบประมาณ 27.1 ล้านบาท "เงินนอก" งบประมาณ 3.5 ล้านบาท "งบกลาง" 4.5 ล้านบาท และงบประมาณส่วนอื่นๆ
จากการสัมภาษณ์ความรู้สึกลึกๆ ของผู้เคยมีประสบการณ์เข้าออกเรือนจำหลายครั้ง พบว่าการกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย!
"คุณเป็ด" อดีตผู้ต้องขังในคดียาเสพติดซึ่งเคยเป็นนักโทษติดซ้ำ เผยความรู้สึกให้ฟังว่า ครั้งแรกที่เข้าเรือนจำเป็นช่วงปี 2544 เพราะขายยาเสพติดอายุประมาณ 20-21 ปี โดนตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือน ที่เรือนจำพิเศษธนบุรี บางบอน วันแรกๆ ร้องไห้เพราะกลัวมาก แต่พอมีเพื่อนก็เปลี่ยนจากความกลัวเป็นความฮึกเหิม กลายเป็นแก๊งใหญ่ ไม่มีความรู้สึกสำนึกผิดอะไรเลย พอออกจากคุกมาสักพักหนึ่ง โดนคดีขายยาเสพติดอีกตอนปี 2555 เพราะครอบครัวเดือดร้อนต้องการใช้เงิน
"ผมอยากเป็นคนใหม่ ไม่ได้อยากเป็นคนไม่ดี แต่พอออกมาเจอสังคมภายนอก เขาเห็นว่าเราติดคุกมา เขาก็ไม่เอาหรอกนะ แค่รอโอกาส ผมไม่อยากวนกลับไปอยู่ในเรือนจำอีก เชื่อได้เลยว่าติดคุกรอบต่อไปของผม คงติดไม่ต่ำกว่า 20-30 ปี ผมคงตายในคุก ผมไม่อยากกลับไปอยู่วังวนแบบเดิมอีกแล้ว อยากได้โอกาส...ผมอยากได้แค่นั้น"
"สมศักดิ์ เทพสุทิน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงนโยบายแก้ปัญหา "ผู้ต้องขังล้นคุก" เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2562 ว่าจะพยายามออกแบบวิธีการให้เกิดความสมดุลระหว่างจำนวนนักโทษที่เข้าและออก เพื่อไม่ต้องสร้างเรือนจำใหม่ให้มีพื้นที่เพียงพอในการคุมขัง โดยทางออกอาจจะเป็นเครื่องติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ หรือกำไลอีเอ็ม ซึ่งต้องทำภายใต้กรอบของกฎหมาย หรือการใช้เงินในกองทุนยุติธรรม เข้ามาช่วยประกันและปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี โดยที่ผ่านมามีผู้ที่ได้รับการประกันตัวจากกองทุนแล้ว 2,396 ราย นอกจากนี้จะเร่งผลักดันโครงการคืนคนดีสู่สังคม สร้างเขตอุตสาหกรรมในเรือนจำ และการพัฒนาอุตสาหกรรมทางการเกษตร เพื่อสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้แก่ผู้พ้นโทษ และเร่งรัดมาตรการจูงใจทางภาษี ด้วยการลดหย่อนภาษีให้นายจ้างและผู้ประกอบการ ที่จ้างงานผู้พ้นโทษ
นอกจากด้านนโยบายจากผู้บริหารหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังมีการพยายามออกกฎหมายเพื่อช่วยคัดกรองผู้ต้องขังตั้งแต่ต้นทาง ได้แก่ "พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562" ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤศจิกายน 2562
"โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง" รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกฎหมายข้างต้นว่าจะทำให้ปริมาณคดีขึ้นสู่ศาลลดน้อยลง ช่วยแก้ไขปัญหาผู้ต้องขังล้นคุก เพราะจะคัดกรองคนที่ยังไม่จำเป็นต้องเข้าเรือนจำออกไป เนื่องจากบางคนทำไปด้วยความยากจน และปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยจะมีการกำหนดว่าคดีอาญาใดบ้างที่สามารถไกล่เกลี่ยได้
"รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์" นักวิชาการอิสระ ประธานโครงการเรือนจำสุขภาวะ ที่ทำวิจัยเกี่ยวกับผู้ต้องขังหญิงมานานกว่า 10 ปี แสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาคนล้นคุกในประเทศไทยว่า ความจริงแล้วปัญหานี้เกิดจากกฎหมายของไทย โดยเฉพาะกฎหมายยาเสพติด มีกำหนดบทลงโทษให้ติดคุกไว้ค่อนข้างสูง เช่น ผู้ครอบครองยาบ้า 10 เม็ด กฎหมายกำหนดบทลงโทษว่าเป็นผู้เสพ แต่เมื่อถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจล่อซื้อแค่ 3-5 เม็ดเท่ากับกลายเป็นผู้ค้ายา แทนที่จะเอาไปบำบัดแต่ถูกเอาไปจำคุก 4-5 ปี ทำให้คนล้นคุก
สำหรับวิธีแก้ "ปัญหาคนล้นคุก" นั้น นักวิชาการข้างต้นเชื่อว่าไม่ใช่ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกรมราชทัณฑ์โดยตรง เนื่องจากเป็นเพียงสถานที่รับผู้ต้องขังเท่านั้น แต่กรมราชทัณฑ์เองต้องรู้ข้อมูลของรายละเอียดของผู้ต้องขังและปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ควรสะท้อนให้เห็นว่าอาจมีหลายคนที่ไม่ควรติดคุก ต้องเสนอปัญหาเหล่านี้อย่างละเอียดให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันออกนโยบายแก้ไขเรื่องนี้ พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า
"สิ่งที่อยากจะฝากไว้กับกรมราชทัณฑ์ให้ไปเน้นเรื่องธรรมะ ส่วนเรื่องฝึกอาชีพ ควรจะต้องติดตามว่าผู้ต้องขังเหล่านั้นได้ออกไปทำอย่างที่ฝึกอาชีพมาหรือเปล่า สิ่งที่ฝึกฝนไปได้เอาไปใช้ทำงานจริงไหม หรือเมื่อพ้นโทษออกมาจากเรือนจำก็ไม่ได้อยากทำ"
จาก "โอเพ่น ดาต้า" ข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาวิกฤติคนล้นคุกและนักโทษติดซ้ำ...ทุกวินาทีที่ผ่านไปมีคนไทยกว่า 3 แสนคนกำลังถูกละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์อยู่ในห้องขัง
รัฐบาลใหม่ชุดนี้ควรถือเป็นวาระแห่งชาติ เร่งระดมสมองทุกฝ่ายช่วยกันหาวิธีแก้ไขให้เร็วที่สุด!
...............................
โดย... ชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย ธนพล บางยี่ขัน, ดารินทร์ หอวัฒนกุล, ธนสาร พัวทวีพงศ์ ,พุทธศักดิ์ ตันติสุทธิเวท, กานต์ อุ่ยวิรัช, สราวุฒิ ศรีเพ็ชรสัย

logoline