svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เรื่องเล่าวันออกพรรษา​ ของ​คนแปลกหน้าแห่งล้านนา​ตะวันออก...

13 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สำหรับผมแล้วอาจเป็นคนแปลกหน้า สำหรับชาวบ้านที่นี่ ผมแนะนำตัวเองว่าเป็นนักข่าวมาจากเนชั่นและทุกคนก็ต้อนรับผมอย่างอบอุ่น พวกเขาเชื้อเชิญให้กลับมาอีก นี่อาจเป็นมนต์เสน่ห์แห่งล้านนา ที่ต้องใจใครหลายคน จากคนแปลกหน้าก็กลายเป็นคนคุ้นเคย

พระอาทิตย์ยังไม่ทันจะพ้นขอบฟ้า ไก่ยังไม่ทันโก่งคอขัน แต่บ้านแทบทุกหลัง เปิดไฟเตรียมจัดสำรับไปวัด ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา อย่างวันนี้เป็นวันออกพรรษาชาวบ้านเรียก "วันศีลใหญ่"

ชาวล้านนา มีความผูกพันกับพระพุทธศาสนาอย่างแนบแน่น มากไปกว่าความศรัทธา ศาสนากลายเป็นตัวเชื่อมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชุมชน ในแต่ละชุมชนจะมีวัดประจำหมู่บ้าน และชาวบ้านจะเลือกไปทำบุญที่วัดที่อยู่ในเขตชุมชนของตัวเอง

ไม่บ่อยครั้งที่ผมจะตื่นมาแต่เช้ามืด แต่วันนี้เป็นวันที่ผมตั้งใจตื่นมาเป็นพิเศษ เพราะแม้จะมาทำงาน, เยี่ยมเยือนหรือมาเที่ยวในภาคเหนือบ่อยๆ แต่ก็ไม่เคยได้ไปสัมผัสถึงตีนกระไดวัดประจำหมู่บ้าน

บ้านสะเนียน อำเภอเมือง จังหวัดน่านเป็นสถานที่ที่ผูกพัน คุ้นเคย แม้ไม่เกิดที่นี่ วันนี้ผมได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างลึกซึ้ง ในฐานะคนภาคกลางจึงได้เห็นความแตกต่างในพิธีกรรม

เมื่อมาถึงวัด กิจกรรมแรกคือการจกข้าวเหนียวด้วยมือใส่บาตรที่วางเรียงกันไปบนโต๊ะ พร้อมด้วยอาหารที่มัดเป็นห่อวางไว้บนถาดรวมกัน กิจกรรมทั้งหมดเกิดขึ้นในพระอุโบสถ ไม่ใช่ศาลาการเปรียญอย่างวัดภาคกลาง

ในอุโบสถ มีชาวบ้านนั่งเต็มพื้น แทบไม่มีทางเดิน ทุกคนต้องมากันตั้งแต่เช้ามืดเพื่อจับจองที่ แม้ว่าพระจะลงมาสวดในช่วงเวลาเกือบ 8 โมงเช้าก็ตาม

มีอีกสิ่งหนึ่งที่ต่างออกไป คือไม่มีการจุด ธูปเทียน และ ดอกไม้ที่คนภาคกลางอย่างผมคุ้นชินมักกำเป็นช่อ แต่ที่นี่ดอกไม้จะถูกเด็ดเป็นดอกดอกไร้ก้าน เวลาบูชาก็จะนำมาวางไว้บนถาดกองรวมกันกับเทียนเล่มเล็ก 2 เล่ม และธูป 3 ดอก หน้าพระประธาน

ในระหว่างรอพระลงมา ชาวบ้านจะนั่งจับกลุ่มพูดคุยกันแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ดีบ้างร้ายบ้างปะปนกันไป -ผู้นำชุมชนจะมีการประกาศแจ้งข่าวสารต่างๆประชาสัมพันธ์โครงการ ระดมทุนทำกฐิน ผ้าป่า และเมื่อพระสงฆ์มาถึงที่อาสนะแล้ว ผู้นำชุมชนก็จะเป็นตัวแทนในการจุดธูปเทียนบูชาพระ

บทบาทของพระสงฆ์ในการสวด เท่าที่ผมจำได้มีเพียง บทสมาทานศีล อิติปิโส - พาหุงฯ มหากา, บทกรวดน้ำ ซึ่งดูเหมือนจะสวดสั้นและคนละจังหวะกับพระสงฆ์ในภาคกลาง

มัคทายก มีบทบาทสำคัญมากกว่าพระ มัคทายกในวัดภาคกลางจะทำแค่นำสวดนะโมตัสสะฯ สมาทานศีล กล่าวถวายฯ แต่มัคทายกที่นี่ ชาวบ้านเรียกว่า อาจารย์ เขาจะนำสวดบทแผ่เมตตา หรือแผ่ส่วนกุศล ที่ถูกร้อยเรียงเป็นบทกลอนกึ่งเรียงความ เป็นภาษาไทยล้านนา มีใจความไล่เรียงไปว่า บุญที่ทำจะอุทิศส่วนกุศลแผ่ไปถึงผู้ใดบ้าง ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วมีความยาวมากกว่าพระสวดเสียอีก

ในระหว่างที่ตั้งจิตอุทิศส่วนกุศล ในมือของชาวบ้านจะพนมมือพร้อมดอกไม้ ที่เด็ดมาเฉพาะดอกไม่มีก้าน เมื่ออธิฐานเสร็จ ดอกไม้นี้จะถูกใส่ไปในขันน้ำที่ไว้ใส่น้ำกรวดน้ำ เทที่โคนต้นไม้

ผมค้นข้อมูลดูพบว่ากิจกรรมของชาวพุทธล้านนาที่ทำอยู่นี้คือการ "ตานขันข้าว" หมายถึง การนำสำรับอาหารไปถวายพระหรือผู้ใหญ่ที่ตนนับถือ

การตานขันข้าวเป็นประเพณีหนึ่งของชาวล้านนาที่สืบทอดกันมาเป็นเวลานาน เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้วายชนม์ไปแล้ว สะท้อนวัฒนธรรมที่แสดงถึงความกตัญญูที่ชาวชาวล้านนาให้ความสำคัญ

การนำสำรับอาหารไปถวายวัดในวันเทศกาลสำคัญ หรือทำบุญอุทิศส่วนกุศลในโอกาสอื่นๆ นอกจากจะเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษแล้ว ยังเป็นการทำบุญให้ตนเอง เพื่อเป็นการสะสมบุญต่อไปในชาติหน้า (ชาวล้านนามีความเชื่อเรื่องอดีตชาติ - ชาติหน้า อย่างจริงจัง)

และช่วงประเคนบาตรและอาหารที่นำมาบุญ จะมีความคล้ายกัน ผมได้มีโอกาสร่วมต่อแถวส่งต่อบาตรพระ และสำรับไปประเคนด้วย ถึงแม้จะเป็นคนแปลกหน้าแต่ก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น

หลังกรวดน้ำเสร็จชาวบ้านจะพากันกลับบ้านไปกินข้าวที่บ้าน ต่างจากคนภาคกลางที่จะรอพระฉัน และกินข้าวร่วมกันที่วัด ล้างถ้วยชาม แล้วค่อยแยกย้ายกลับบ้าน แต่สำหรับชาวล้านนาเมื่อกลับบ้านไปกินข้าวเสร็จแล้วจะกลับมาที่วัดอีกในช่วง 9 โมงเกือบ 10 โมง เพราะจะมีการสรงน้ำอบกลิ่นหอม ที่พระพุทธรูปองค์เล็กที่ด้านข้างพระอุโบสถ หลังจากนั้นจะอยู่ฟังธรรม จึงเกือบ 11 โมง

ไม่ว่าพิธีกรรมจะแตกต่างกันระหว่างภาคกลางกับภาคเหนือแต่สิ่งที่เหมือนกันคือการบูชาพระรัตนตรัย และในเชิงสังคมคือการที่ได้มาเจอกัน พูดคุยพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร โดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง...

สำหรับผมแล้วอาจเป็นคนแปลกหน้า สำหรับชาวบ้านที่นี่ ผมแนะนำตัวเองว่าเป็นนักข่าวมาจากเนชั่นและทุกคนก็ต้อนรับผมอย่างอบอุ่น พวกเขาเชื้อเชิญให้กลับมาอีก นี่อาจเป็นมนต์เสน่ห์แห่งล้านนา ที่ต้องใจใครหลายคน

จากคนแปลกหน้าก็กลายเป็นคนคุ้นเคย...

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #VAJIRAVIT #VajiravitDaily

logoline