svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ และ ความงาม

พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน

12 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูป ศิลปะแบบ สุโขทัย-ล้านนา สร้างขึ้นประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 20-21 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้ารัชกาลที่ 1) ทรงอัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่ เมื่อประมาณ พ.ศ.2338

พระพุทธสิหิงค์ สร้างขึ้นตามตำนานที่ยังปรากฏอยู่ในนิทานพระพุทธสิหิงค์ที่แต่งเป็นภาษาบาลีโดยพระโพธิรังสี พระภิกษุชาวเชียงใหม่ ในระหว่าง พ.ศ.1945-1985 ตำนานกล่าวไว้ว่า พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปที่พระมหากษัตริย์ลังกาได้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.700 โดยสร้างขึ้นให้มีลักษณะใกล้เคียงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากที่สุด

พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน

จนกระทั่งในสมัยสุโขทัยพระพุทธศาสนาจากลังกาได้เข้ามาเผยแพร่และเป็นที่นิยมนับถือ พ่อขุนรามคำแหงกษัตริย์สุโขทัย ทรงทราบถึงลักษณะที่งดงามของพระพุทธสิหิงค์ จึงให้พระยานครศรีธรรมราชแต่งทูตอัญเชิญพระราชสาส์น ทูลขอพระพุทธสิหิงค์มาจากพระเจ้ากรุงลังกา ได้มาตามพระราชประสงค์จึงอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่สุโขทัย และได้กราบไว้บูชาสืบเนื่องมาจนกระทั่งกรุงสุโขทัยได้เสื่อมอำนาจลง



พระพุทธสิหิงค์ ได้ถูกเคลื่อนย้ายไปตามหัวเมืองสำคัญต่างๆ หลายแห่ง อาทิ เมืองพิษณุโลก กำแพงเพชร เชียงรายและเชียงใหม่ ความนิยมเคารพนับถือพระพุทธสิหิงค์ยังคงสืบเนื่องต่อมาในสมัยอยุธยา มีเอกสารหลักฐานในสมัยอยุธยาตอนปลาย กล่าวถึงพระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐานในกรุงศรีอยุธยาคือ เรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศและเรื่องคำให้การของขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม

 

เชื่อกันว่าเมืองกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่สองเมือง พ.ศ.2310 นั้น พระพุทธสิหิงค์ของกรุงศรีอยุธยาถูกนำกลับเชียงใหม่ ต่อมาเมื่อมีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นแล้ว สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ 1 ได้ยกทัพไปเชียงใหม่ และได้นำพระพุทธสิหิงค์กลับมาประดิษฐานที่พระนั่งสุทธาสวรรย์ภายในพระราชวังบวรสถานมงคล ต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เปลี่ยนชื่อเป็น "พระที่นั่งพุทไธสวรรย์"

พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน

 

พระพุทธสิหิงค์ หล่อขึ้นด้วยสัมฤทธิ์กะไหล่ทอง ประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนหน้าตัก แสดงปางสมาธิ ครองจีวรห่มเฉียงบางแนบพระวรกาย มีสังฆาฏิเป็นแผ่นแบนกว้างพาดอยู่บนพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี ชายสังฆาฏิเป็นลายเขี้ยวตะขาบ พระอุระกว้าง บั้นพระองค์คอด ได้สัดส่วนงดงาม พระพักตร์กลม แย้มพระสรวลเล็กน้อย พระเนตรหลุบลงต่ำ เมื่อมองแล้วทำให้เกิดความสงบ ขมวดพระเกศาเป็นก้นหอย พระรัศมีรูปคล้ายเปลวเพลิง ประทับอยู่บนฐานบัวหงาย 3 ชั้น รองรับด้วยฐานสิงห์ที่น่าจะทำเพิ่มเติมขึ้นในภายหลงอีกชั้นหนึ่ง

 

แม้ตำนานจะกล่าวถึงพระพุทธสิหิงค์ว่ามีความเก่าแก่และเคารพนับถือสืบเนื่องมายาวนานตั้งแต่ พ.ศ.700 แต่รูปแบบศิลปะที่ปรากฏอยู่น้้น สันนิษฐานได้ว่าพระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร น่าจะเป็นพระพุทธรูปที่ป้่น และหล่อขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20-21 ในรูปแบบศิลปะสุโขทัย-ล้านนา ซึ่งมีความแตกต่างจากพุทธศิลปะลังกาอย่างชัดเจน

 

นอกจากนั้นยังปรากฏพระพุทธสิหิงค์องค์อื่นๆ ที่น่าจะสร้างขึ้นตามคติความเชื่อหรือตำนานเดียวกัน เช่น พระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐานในวัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ และพระพุทธสิหิงค์ในหอพระพุทธสิหิงค์จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น จึงเชื่อได้ว่าพระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นโดยอ้างอิงตำนานที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐานพระพุทธศาสนาแบบลังกาในประเทศไทย

พระพุทธสิหิงค์ เชียงใหม่

พระพุทธสิหิงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

พระพุทธสิหิงค์ กรุงเทพฯ

การมีพระพุทธสิหิงค์ไว้เคารพบูชา ก็หมายถึงพระพุทธศาสนาได้เป็นที่เคารพบูชาในดินแดนแถบนั้นสำหรับอานิสงส์ของการกราบไหว้พระพุทธสิหิงค์นั้น หลวงวิจิตรวาทการ ผู้รวบรวมประวัติตำนานย่อพระพุทธสิหิงค์ได้กล่าวไว้ความตอนหนึ่งว่า

 

"ข้าพเจ้าผู้เขียนตำนานย่อฉบับนี้มีมีความเชื่อมั่นในอานุภาพของพระพุทธสิหิงค์อยู่มาก อย่างน้อยก็สามารถบำบัดทุกข์ร้อนในใจให้เหือดหาย ผู้ใดมีความทุกข์ร้อนในใจท้อถอยหมดมานะด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด ข้าพเจ้าขอแนะนำให้มาจุดธูปเทียนบูชาและนั่งนิ่งๆ มองดูพระองค์สัก 10 นาที ความทุกข์ร้อนในใจจะหายไป ด้วงจิตที่เหี่ยวแห้งจะกลับมาสดชื่น หัวใจที่ท้อถอยหมดมานะจะกลับเข้มแข็งมีความมานะพยายาม ดวงจิตที่หวาดกลัวจะกลับกล้าหาญ ดวงจิตที่เกียจค้านจะกลับขยัน ผู่ที่หมดหวังจะกลังมีหวัง"

 

ข้อมูลที่มา : นายดิษพงษ์ เนตรล้องวงศ์หนังสือ ๙ พระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน พุทธศักราช 2556 และ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

logoline